ไรอัน ไม หนุ่มหน้าหยก เคลื่อน “โอทิส” ฝ่ามรสุม IoT

ไรอัน ไม หนุ่มหน้าหยก เคลื่อน “โอทิส” ฝ่ามรสุม IoT

เมื่อ “โอทิส” กำลังพลิกโฉมธุรกิจรับโลก Internet Of Things ผู้บริหารหน้าหยก เลยบินตรงมาไทย ฉายวิชั่นเคลื่อนธุรกิจลิฟต์ ที่กำลังก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 ในไทย ปัจจัยบวกมากมายที่เชื่อว่าจะหนุนการเติบโต จับเข่าคุย “ไรอัน ไม” ประธานโอทิส เอเชียแปซิฟิกใต้

บินตรงมายังประเทศไทยทั้งที จึงถือโอกาสพบปะสื่อมวลชน สำหรับไรอัน ไม ประธานโอทิส เอเชียแปซิฟิกใต้ บิ๊กบอสระดับภูมิภาค ผู้กุมบังเหียนธุรกิจลิฟต์ บันไดเลื่อนและทางเลื่อนเบอร์1ของโลก แบรนด์ โอทิส” (OTIS)

ในปี 2561 โอทิส จะมีอายุครบรอบ 60 ปีของการเคลื่อนธุรกิจในไทย “ไรอัน” ฉายภาพความท้าทายของธุรกิจในระดับโลกให้ว่า โลกที่เคลื่อนสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว นอกจากจะเป็นโอกาสทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่ไม่ปรับตัว ทำให้โอทิสต้องปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่” ด้วยการทุ่มงบเพื่อ “ยกระดับ” เทคโนโลยีการผลิตลิฟต์ ให้กลายเป็นลิฟต์อัจฉริยะ หรือ Smart Elevator  โดยได้ผนึกกับบิ๊กเนมด้านไอที ทั้ง AT&T และ Microsoft เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ (Software) ที่จะเชื่อมโยงการการใช้ลิฟท์ 

ถือเป็นการ “พลิกโฉม” ธุรกิจลิฟท์ระดับโลกที่น่าตื่่นเต้น “ไรอัน”เผย 

ที่ผ่านมา โอทิส ยังผนึกแบรนด์สมาร์ทโฟนโลกอย่าง Apple เป็นแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์สำหรับระบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ร่วมกับลิฟต์ รับกับยุค Internet of Things :IOT เช่น การสั่งการลิฟท์ด้วยเสียง การมีเซ็นเซอร์ประเมินจำนวนผู้รอลิฟต์เพื่อจัดสรรการทำงานของลิฟต์แต่ละตัวให้เหมาะสม ตลอดจนการช่วยเตือนและประเมินปัญหาต่างๆ เพื่อให้ช่างสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและตรงจุด 

สิ่งเหล่านี้โอทิสจะนำออกมาให้ยลกันทั่วโลกรวมทั้งไทยใน 1-2 ปีนี้

นั่นคือเมกะเทรนด์โลก ที่ประธานโอทิสฉายภาพ ย่อส่วนลงมาสู่ระดับ เอเชียแปซิฟิกใต้ภารกิจที่เขาดูแลโดยตรง เจ้าตัวเผยว่า ตลาดลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อนใหญ่สุดของโอทิส เคลื่อนตามการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตลาดจีนและอินเดีย ซึ่งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สอดคล้องไปกับภาวะเศรษฐกิจและจำนวนประชากรของสองประเทศที่ติดอันดับท็อปทรีโลก

ส่วน ภูมิภาคอาเซียน” 10 ประเทศถือว่ามีฐานผู้บริโภครวมกันมากกว่า 630 ล้านคนยังเป็นขนาดตลาดที่ใหญ่ และยังมี “ปัจจัยบวก” หนุนให้ตลาดลิฟต์เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกมาก โดยเฉพาะแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศในอาเซียน ด้วยวงเงินลงทุน“มหาศาล” ทั้งการลงทุนโ่ครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การลงทุนอาคารตึกสูงระฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ ส่งผลให้มีความต้องการลิฟต์เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เฉพาะเจาะจงมาที่ประเทศไทย พบว่าแม้จะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรเทียบไม่ได้กับทั้งจีนและอินเดีย ทว่าการเติบโตของความต้องการใช้ลิฟต์ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงเป็นเหตุผลว่า “ทำไม?” เขาต้องเดินทางมาประเทศไทย และให้สัมภาษณ์สื่อไทยอยู่ในขณะนี้ 

“ตลาดลิฟต์ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียนถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอินโดนีเซียตลาดใหญ่กว่า สิงคโปร์เล็กกว่าไทย 2 เท่า มีขนาดตลาดราว 2,000 ยูนิต หรือแม้มาเลเซียที่ขนาดตลาดใกล้เคียงไทย 4,000-5,000 ยูนิต  แต่อัตรการเติบโตของมาเลเซียก็ยังไม่เท่ากับไทย ผมจึงมีมุมมองเชิงบวกกับไทย ทำให้เรายังคงลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดลิฟต์ในไทยมีมูลค่าเพียง 1,500-1,600 ยูนิตเท่านั้น และเพิ่มเป็นประมาณ 4,000 ยูนิตในปัจจุบัน ส่วนอีก 10 ปีข้างหน้า จะเห็นการเติบโตเป็น“เท่าตัว” เขาเผย

ผมคิดว่ายังมีความตื่นเต้นในตลาดนี้ ไรอันบอก และยิ่งเจาะลึกตลาดในไทย นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว บริบทการขยายตัวของ“สังคมเมือง”ที่เกิดขึ้นใน“อัตราเร่งที่สูง”เมื่อเทียบกับอดีตยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดลิฟต์ขยายตัว

โดยเขาคาดการณ์ว่าปี 2563 ประชากรที่อยู่ในสังคมเมืองของไทยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 38-39% สูงกว่า 2559 ที่มีสัดส่วน 18-19% และในปี 2573 คาดว่าคนอาศัยในเมืองจะเพิ่มเป็น 45-48% เทรนด์การอยู่อาศัยในเขตเมืองดังกล่าว สอดคล้องกับรายงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nation -UN) เรื่อง World Urbanization Prospects 2014 revision ที่ระบุว่า ปี 2559 ประชากรโลก 54% จะอยู่ในพื้นที่เขตเมือง และภายในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 60% เรียกว่า 1 ใน 3 คน จะอาศัยในเมืองเลยทีเดียว

“ผมมองการณ์ไกลไปหน่อย..แล้วมันมีความหมายยังไงน่ะเหรอ การเติบโตของสังคมเมือง หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ จะหมายถึงการใช้จ่ายที่มากขึ้น”

ประธานโอทิส เอเชียแปซิฟิกใต้ ยังระบุว่า นอกจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว โอทิส ยังจะลงทุนด้าน “บริการ” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ จากปัจจุบันที่มีการจำหน่ายลิฟต์กว่า 2 ล้านยูนิตทั่วโลก ดังนั้นการบำรุงรักษาจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ายังเชื่อมั่นกับแบรนด์ 

ส่วนการลงทุนตั้งโรงงานผลิตลิฟต์ในไทย เขาบอกว่า เป็นเรื่องที่ต้องมองระยะยาว และยังไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะตัดสินใจในเร็ววัน

ด้านมิติของการแข่งขันของตลาดลิฟท์ในภูมิภาคนี้  เขามองว่า “โอทิส” เป็นแบรนด์สัญชาติอเมริกัน เพียงแบรนด์เดียวที่อยู่ท่ามกลางแบรนด์ญี่ปุ่น 2-3 แบรนด์ เช่น มิตซูบิชิ ฮิตาชิ และอีก 2 แบรนด์จากยุโรป เช่น SCHINDLER KORN และเป็นเรื่องธรรมดาของสังเวียนธุรกิจย่อมมีการขับเคี่ยวแข่งขัน

ผมมองการแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี เพราะนำมาซึ่งความพยายามของแบรนด์ต่างๆในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองความต้องกาของลูกค้าให้มีตัวเลือกมากขึ้น และนั่นยังเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เราทำมาตลาดคือ การสร้างนวัจกรรม เราพยายามแข่งชันสร้างสิ่งที่ตอบสนองลูกค้า แข่งขันด้านบริการ นำมาซึ่งความพึงพอใจของลูกค้า” 

สิ่งเหล่านี้ยังถอดออกมาจากความต้องการเชิงลึก(Insight) ของลูกค้าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตสินค้า การทำงาน การบำรุงรักษา การบริการ 

“เราต้องนึกถึงลูกค้าให้มากที่สุด ทำความเข้าใจความต้องการ และตอบสนองให้เหนือกว่าสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง” เพราะต้องยอมรับว่าลูกค้าของโอทิส ก็คือภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม อาคารสำนักงาน ซึ่งลูกค้าเหล่านี้มีลูกค้าอีกทอดที่ต้องดูแล ความต้องการจึงต้อง “เหนือระดับ”

เจ้าตัวยังมองบวกว่า แม้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะไม่ฟื้นตัวดี แต่เศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ต้องมองในระยะกลางและยาว 

เป็นที่รู้กันว่าเศรษฐกิจเวลานี้มีความผันผวน แต่อยากให้มองเมกะเทรนด์ ระยะยาวดีกว่า ว่าการเติบโตของสังคมเมือง จะนำมาซึ่งความต้องการลิฟต์มากขึ้น

ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา โอทิสมีการเติบโตในประเทศไทยหลัก 100% เรียกว่าสวนทางเศรษฐกิจมาก ยิ่งปี 2558 ได้ติดตั้งลิฟต์ บันไดเลื่อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็ทำให้การเติบโตสูง

ทว่า เมื่อไหร่ โอทิสในไทยจะเป็น ผู้นำ” เป็นคำถามที่ไร้คำตอบ นอกจากรอยยิ้มจากซีอีโอหน้าหยก ที่แปลความเองได้ว่า.. 

สักวันหนึ่งคงไปถึงจุดนั้น !