"โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้" ภัยร้ายที่มากกว่าการคัดจมูก

 "โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้" ภัยร้ายที่มากกว่าการคัดจมูก

"โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้" เป็นได้ทุกอายุทั้งผู้ชายและผู้หญิง สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้จากทั้งพ่อและแม่ หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจในอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง เพราะโรคนี้มีอาการคล้ายคลึงกับโรคหวัด หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ในโพรงจมูก

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่เป็น "โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้" หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า "โรคแพ้อากาศ" ศ.คลินิกแพทย์หญิงมุกดา หวังวีรวงศ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ประชากรทั่วไปประมาณ ๑๐-๒๐% มีภาวะความเสี่ยงเป็น "โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้" ซึ่งเป็นได้ทุกอายุทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้จากทั้งพ่อและแม่ โดยเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มร่างกายที่ไวต่อสารบางอย่างเป็นพิเศษ หรือเรียกได้ว่าสารก่อภูมิแพ้ อาทิ ตัวไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา รังแคสัตว์ หรือสารระคายเคือง อาทิ ควันท่อไอเสีย ควันบุหรี่ สเปรย์ปรับอากาศ ซึ่งในหนึ่งคนมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถแพ้สารก่อภูมิแพ้หนึ่งชนิดหรือหลายชนิดก็ได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการคันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหลใสๆ ได้ทั้งวันและโดยเฉพาะช่วงเช้าที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงสูง หรือในกรณีที่มีการติดเชื้อระบบหายใจร่วมด้วย อาจทำให้น้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวข้นๆ เหมือนหนอง บางครั้งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว มึนศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าผากและดั้งจมูก อาจมีเสมหะในลำคอ หรือถ้าเป็นมากๆ รูเปิดของหูในบริเวณลำคอจะบวม ทำให้หูอื้อ ฟังไม่ค่อยได้ยิน ถ้าเป็นเรื้อรัง อาจลุกลามจนกลายเป็นโรคไซนัสอักเสบได้"

การรักษาและข้อปฏิบัติตัวของเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีดังนี้
๑. หาสิ่งที่แพ้หรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการโดยการสังเกตหรือจดบันทึกไว้ว่าลูกของท่านมีอาการขณะทำอะไรหรืออยู่ในห้องใดบ้าง แล้วพยายามหลีกเลี่ยง ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญที่สุดในการรักษา โดยเด็กมักจะแพ้ตัวไรฝุ่นในบ้าน หรือในห้องนอน หรือตุ๊กตาที่ใช้นุ่นหรือสำลี ฝุ่นบ้าน ซากแมลง เช่น ซากแมลงสาบ กลิ่นของสารเคมี หรือน้ำหอม ควันบุหรี่ เป็นต้น
๒. ควรจัดห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นของเด็กให้สะอาด โดยจัดให้มีเครื่องเรือนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนอนของเด็ก ไม่ควรใช้พรมปูพื้นหรือมีข้าวของรกรุงรังซึ่งอาจทำให้ก่อฝุ่น ควรทำความสะอาดพื้นห้องด้วยการถูพื้นด้วยน้ำทุกวัน หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องนอนที่ทำจากนุ่น รวมทั้งเล่นตุ๊กตาที่มีขนปุกปุย ยัดไส้นุ่นหรือสำลี
๓. กำจัดตัวไรฝุ่น โดยการซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ปลอกหมอนข้าง และผ้าคลุมที่นอนด้วยน้ำร้อน อุณหภูมิ ๕๐-๖๐ องศาเซลเซียสนานอย่างน้อย ๑๕ นาที (กรณีใช้เครื่องซักผ้า) อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง ปัจจุบัน มีผู้ผลิตวัสดุหรือผ้าทออัดแน่นชนิดพิเศษหุ้มเครื่องนอน (barrier) ซึ่งสามารถช่วยลดการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้จากตัวไร่ฝุ่นได้ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการกำจัดตัวไรฝุ่นซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรค
๔. หลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ เนื่องจากควันบุหรี่อาจทำให้มีอาการน้ำมูกไหล จาม ตาแดง ไอ หรืออาการหอบหืดได้
๕. ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังหายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง รวมทั้งระมัดระวังการติดเชื้อหวัดจากคนใกล้ชิดในบ้านหรือโรงเรียนด้วย
๖. ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด ไม่ควรงดการใช้ยาเอง เนื่องจากยาบางชนิดอาจต้องใช้เวลาพอสมควร จึงจะเห็นผลในการรักษา ซึ่งการใช้ยาไม่ต่อเนื่องอาจทำให้อาการไม่ดีขึ้น
๗. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ


อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจในอาการป่วยของลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจัยอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง เพราะโรคนี้มีอาการคล้ายคลึงกับโรคหวัด หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ในโพรงจมูก หรือภาวะที่มีสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก เป็นต้น โดยสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพเด็กได้ที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) โทร. ๑๔๑๕ หรือ www.childrenhospital.go.th