เสียงผู้หญิงต่อการปฏิรูปตร. ชี้แยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระ

เสียงผู้หญิงต่อการปฏิรูปตร. ชี้แยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระ

เสวนาโต๊ะกลม "เสียงผู้หญิงต่อการปฏิรูปตำรวจไทย" เน้นแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต้องไม่ถูกครอบงำจากนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจ ต้องไม่มีชั้นยศ และเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงมากขึ้น

ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อาคารสำนักงานมูลนิธิ 14 ตุลาถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 9 ก.ย.2560 นางสุนี ไชยรส นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง นางเรืองรวี พิชัยกุล คณะผู้ประสานงาน ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปตำรวจ พล.ท.เจิดวุธ คราประยูร เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และตัวแทนเครือข่ายองค์กรสตรี ต่างๆ เข้าร่วมแสดงข้อเสนอเชิงนโยบาย การปฏิรูปตำรวจ (รอบที่ 1) โดยขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย พร้อมทั้งแถลงในงานเสวนาโต๊ะกลม “เสียงผู้หญิงต่อการปฏิรูปตำรวจ” หลังจากนั้นได้มีพิธีมอบหนังสือให้กับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ

นางเรืองรวี กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้สถาบันตำรวจไทยได้รับความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นจากสังคม มีศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน มีความเที่ยงตรง เป็นกลาง มีความรับผิดชอบ โปร่งใส เคารพสิทธิมนุษยชนและตระหนักในมิติเพศสภาพ (Gender sensitive) คุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด เช่น ผู้หญิง เด็ก แรงงาน กลุ่มชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มหลากหลายทางเพศ แรงงานข้ามชาติ และนักต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ผู้ประสานงาน ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่เป็นสาเหตุของปัญหาในการทำงานของตำรวจนั้น เริ่มจากโครงสร้างองค์กรของ ตร. มีการบังคับบัญชาแบบรวมศูนย์ มีการบริหารแบบทหาร มีการบังคับบัญชาด้วยชั้นยศ ไม่เหมาะกับการบริการประชาชนในสายงานกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งควรเป็นพลเรือน อีกทั้งทางตำรวจขาดความเป็นอิสระในการทำงาน ที่ผ่านมาการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูง ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจทางการเมือง ส่งผลกระทบทำให้งานสอบสวนขาดความเป็นอิสระ เป็นเหตุให้ในบางกรณีการรวบรวมหลักฐาน การทำสำนวนคดี รวมทั้งการสั่งฟ้องคดีไม่เที่ยงตรง บางครั้งทำให้ปล่อยคนผิดลอยนวล และนำคนบริสุทธิ์มารับโทษ และมีนโยบายทางคดีอาญามีการเลือกปฏิบัติและล่าช้า เช่น การลดจำนวนคดี หรือเลือกรับคดีเฉพาะที่ให้คุณให้โทษ มีหลายคดีทางเพศที่ไม่รับฟ้อง หรือมีความล่าช้าในการดำเนินการทางกฎหมาย ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความยุติธรรม เช่น กรณีอุ้มหายนักสิทธิมนุษยชน

“นอกจากนี้ ยังทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมืออาชีพ รวมทั้งขาดความละเอียดอ่อนในมิติหญิง-ชาย ทำให้ผู้เสียหายที่เป็นหญิงหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศในคดีทางเพศจำนวนมากไม่กล้าเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ตลอดจนมีปัญหาที่มาจากปริมาณงานและมีภารกิจบริการมากเกินไป ในขณะที่บุคลากรและทรัพยากรมีไม่เพียงพอ หนำซ้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งยังขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กรณีแรงงาน การเคลื่อนไหวของชุมชนเรื่องสิ่งแวดล้อม บางกรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่รอบคอบก่อนตั้งข้อหาหรือออกหมายเรียกหมายจับทำให้เป็นภาระต่อประชาชน หรือบางกรณีดำเนินการล่าช้า โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายของประชาชนเป็นผู้มีอิทธิพล และขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรกันเองและจากสาธารณะ จากผู้รับบริการ และจากกลไกภายนอกที่มีประสิทธิภาพ มักพบว่า มีการปกป้องกันเองเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นางเรืองรวี กล่าว

นางเรืองรวี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เริ่มจากต้องโอนย้ายภารกิจงานที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยตรง เช่น งานกลุ่มท่องเที่ยว คมนาคม ป่าไม้ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ตรวจคนเข้าเมือง รถไฟ และอื่นๆ ออกไปให้หน่วยงานที่เหมาะสมพร้อมมอบอำนาจในการสืบสวนสอบสวนด้วย และแยกงานสอบสวน ซึ่งเป็นงานที่เป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาออกเป็นอิสระ โดยให้ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินงานภายใต้กรรมการกำกับระดับชาติ ไม่ต้องมีชั้นยศ สร้างความเชี่ยวชาญและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ร่วมมือกับอัยการในการสั่งฟ้องคดี และต้องมีกฎหมายที่จัดทำขึ้นมาใหม่สำหรับงานสอบสวน พร้อมเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงให้มากขึ้น ภายใต้องค์กรใหม่นี้ให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนเฉพาะคดีทางเพศ ที่มีความเชี่ยวชาญ และสามารถปฏิบัติภารกิจครอบคลุมทุกเขตอำนาจศาล ตลอดจนแยกงานนิติวิทยาศาสตร์ออกเป็นอิสระ จากนั้นกระจายอำนาจของตำรวจ ที่เหลือหลังจากย้ายโอนและแยกงานสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ออกไปสู่ระดับจังหวัด ให้มีกระจายการบริหารงานและโยกย้ายในระดับจังหวัด

ด้านนางสุนี กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน ต้องเริ่มจากคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ ทั้ง กตช. และ กตร. ต้องมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน อาทิ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายตำรวจ และภาคประชาสังคม มีสัดส่วนผู้หญิงที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการนี้ต้องกำกับดูแลการสอบเข้า แต่งตั้ง เลื่อนขั้น โยกย้าย ให้มีความโปร่งใสตามระบบคุณธรรม ต่อมาควรลดจำนวนชั้นยศลงและยกเลิกการแบ่งชั้นวรรณะระหว่างสัญญาบัตรและประทวน จัดให้มีสายการบังคับบัญชาแบบพลเรือน จากนั้นพัฒนาสถาบันเพื่อการผลิตและพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญของตำรวจทั้งระบบ เปิดรับผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้วเข้าอบรมวิชาชีพตำรวจ ปรับโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้เป็นสถาบันฝึกฝนตำรวจที่จบปริญญาเหล่านี้ด้วย และเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในทุกภารกิจงาน

นางสุนี กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิบัติงานต้องเคารพหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ทำเกินหรือน้อยกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ ยึดแนวทางมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการให้ความคุ้มครองเด็กและผู้หญิง จึงต้องมีการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและมิติหญิง-ชายในสถาบันอบรมของตำรวจทุกสถาบัน และจัดให้มีฐานข้อมูลเชิงคดีที่ครอบคลุมระดับชาติและประชาชนเข้าถึงได้ รวมทั้งสถิติที่เข้าถึงยากแต่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น สถิติการละเมิดทางเพศ ค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น อุ้มหาย ซ้อมทรมาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด

ขณะที่ นางสาวสุเพ็ญศรี กล่าวว่า ควรมีการพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของหน่วยงานตำรวจ เช่น ความพึงพอใจในการให้บริการ ความปลอดภัย ความสามารถในการติดตามการกระทำความผิด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวชี้วัดและร่วมประเมินผลด้วย รวมทั้งปรับปรุงให้หน่วยงานจเรตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานรับเรื่องราวร้องเรียนหรือร้องทุกข์มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบมากขึ้น มีรูปแบบคณะกรรมการและมีองค์ประกอบของภาคส่วนอื่นๆ และองค์กรภาคประชาสังคมร่วมการตรวจสอบด้วย และปรับปรุงให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) มีอำนาจมากขึ้นในการตรวจสอบสถานีตำรวจ ให้มีสัดส่วนกรรมการของภาคประชาชนทั้งหญิง-ชายมากกว่าฝ่ายตำรวจ และให้ผู้แทนภาคประชาชนเป็นประธาน มีการคัดสรรกรรมการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีการอบรมและงบประมาณสนับสนุนให้ กต.ตร. สามารถทำงานตรวจสอบเข้มแข็งขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีความคิดเห็นจากพนักงานสอบสวนหญิง คือ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง ได้ฝากหนังสือมาให้ทาง คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจว่า พนักงานสอบสวนหญิงทั้งประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 418 คน โดยตามสถิติแล้วบุคคลที่ถูกคุกครามเรื่องเพศส่วนใหญ่มักจะเป็นหญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ระบุไว้ว่าต้องสอบปากคำโดยพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิง และทางองค์กรหญิงก็ได้มีการเรียกร้องกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดให้มีพนักงานสอบสวนหญิง ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ทั้งนี้ที่มีการเรียกร้องให้มีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงแล้วแต่ก็ถือว่ายังไม่ครอบคลุมกับจำนวนผู้เสียหาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากทางพนักงานสอบสวนหญิงแบบคร่าวๆ ปัจจุบันอัตรากำลังก็ดี สถานการณ์ปัญหาก็ดีที่มีจำนวนมาก ควรจะมีการจัดโครงสร้างการแบ่งงาน รวมทั้งมีการเสนอคัดเลือกโครงสร้างการแบ่งงาน รวมทั้งนโยบายการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนหญิงให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานกับสหวิชาชีพ การทำงานด้านกฎหมาย ต้องมีการพัฒนาส่งเสริม ทั้งนี้ยังมีสิ่งจำเป็นอีกอย่างคือผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ผู้หญิง ที่ถือเป็นประชากรที่เปราะบาง ควรที่จะมีหน่วยงานพิเศษเข้ามาดูแล ตามที่หลายๆประเทศก็ทีกัน สอดคล้องกับกฎหมายที่มาควบคุมดูแล จัดตั้งศาลเยาวชน กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายควบคุมคุณธรรมความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ การบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีนั้น ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควรได้รับขวัญกำลังใจที่ดี โดยเฉพาะการพิจารณาขั้นเงินเดือน รวมทั้งได้รับการปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความแตกต่างทางเพศ หากตำรวจหญิงที่อยู่ในสังกัดหน่วยพิเศษต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ อาทิ ปคม. เป็นต้น และเรื่องสุดท้ายการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก เยาวชน สตรี และการค้ามนุษย์จะต้องปฏิบัติงานในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวน อย่างเต็มรูปแบบ ต้องมีการนำแพทย์ นักสังคมสงเคราะ นักกฎหมาย เข้ามาร่วมกันทำงานในรูปแบบ One Stop Service อย่างแท้จริง

ส่วนด้านนายเสรี กล่าวว่า วันนี้ก็ได้มารับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างตำรวจ อย่างไรก็ดีทางเราจะรับเรื่องนี้ไว้เป็นแนวทางเข้าประชุมพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจอีกครั้งต่อไป