‘วิทย์ฯนวัตกรรม’ อัพเกรดโอทอป-เอสเอ็มอี

‘วิทย์ฯนวัตกรรม’ อัพเกรดโอทอป-เอสเอ็มอี

“ข้าวหลามชอต” เทคโนโลยีแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม 1 เท่าตัว, โอ่งราชบุรีและเครื่องเบญจรงค์สมุทรสาครที่เปลี่ยนเทคนิคการผลิตเลียนแบบของเก่าตัวอย่างการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับสินค้าเอสเอ็มอีและโอทอป

“ข้าวหลามชอต” เทคโนโลยีแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม 1 เท่าตัว, โอ่งราชบุรีและเครื่องเบญจรงค์สมุทรสาครที่เปลี่ยนเทคนิคการผลิตและออกแบบให้มีสีเลียนแบบของเก่า เป็นตัวอย่างการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อยกระดับสินค้าเอสเอ็มอีและโอทอปให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0


บูรณาการต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนหรือโอทอปเผชิญปัญหาหลักคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้หน่วยงานภาครัฐต่างหาวิธีช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยีการผลิต ช่องทางจำหน่าย ฯลฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการดังกล่าวด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยเปิดโอกาสและเพิ่มช่องทางให้สามารถเข้าถึง วทน. นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน


“กรมวิทย์ฯบริการทำต้นน้ำ กลางน้ำ แต่ไม่ได้ทำปลายน้ำ จึงขาดความต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีศูนย์บริการในพื้นที่ ในขณะที่ทางกรมส่งเสริมฯมีศูนย์บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ความร่วมมือนี้จะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้ วทน.สร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันทางกรมส่งเสริมฯยังจะดูแลในส่วนของปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การทำการตลาดและใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน จึงเป็นการบูรณาการครบวงจรและตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการสร้างความมั่นคง มั่งคงและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต” สุทธิเวช ต. แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าว


แผนงานกำหนดเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ ทางกรมส่งเสริมฯ จะส่งรายชื่อผู้ประกอบการ 200-300 รายใน 5 ประเภทกิจการ ได้แก่ อาหารแปรรูป เซรามิกส์ แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ ให้กรมวิทยาศาสตร์ฯเพื่อให้คำปรึกษาด้านการนำ วทน.เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม


ยกตัวอย่าง การพัฒนาข้าวหลามชอตให้วิสาหกิจชุมชนตำบลนาตาขวัญ จ.ระยอง ด้วยการนำเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสินค้าจาก 4กระบอก 100 บาทเป็นกระบอกละ 50 บาท อีกทั้งอายุเก็บรักษานานขึ้น 2 สัปดาห์จากเดิม 2-3 วัน เช่นเดียวกับโอ่งราชบุรีและเครื่องเบญจรงค์สมุทรสงครามที่เทคโนโลยีช่วยให้มีราคาเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ ในปี 2560 มีผู้ประกอบการที่ได้รับการผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการยื่นขอรับรองมาตรฐาน 454 ราย และผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3,858 ราย


สร้างคุณค่า เพิ่มมูลค่า


พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ.จะทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกที่ยังขาดความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี โดยพิจารณาจากสมาชิกในโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ที่อยู่ในความดูแล ซึ่งมีประมาณ 20 หมู่บ้าน อาทิ กระบี่ นนทบุรี เชียงใหม่ จากเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนให้ครบทุกจังหวัด และกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้ามาร่วมในโครงการนี้
“เราจะรวบรวมบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการเป้าหมายดังกล่าว เพื่อส่งต่อให้กรมวิทยาศาสตร์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีในเชิงลึกให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีนวัตกรรม สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด และสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ สู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น”


สำหรับการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าหมายดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 1 หมื่นรายในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าในปีแรกจะมี 200-300 รายเข้ามาร่วมโครงการ ส่วนงบประมาณสนับสนุนทั้งจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านโครงการต่างๆ อาทิ คูปองวิทย์เพื่อโอทอป, โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และที่ผ่านมา กสอ. พัฒนาเอสเอ็มอีและโอทอปรวมกว่า 7,000 ราย ตั้งเป้าหมายภายในปีหน้าว่า ไม่ต่ำกว่า 50% จะต้องเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม