คนเปลี่ยนโลกสวย รีดีไซน์ชีวิตดีคู่แบรนด์ดี

คนเปลี่ยนโลกสวย รีดีไซน์ชีวิตดีคู่แบรนด์ดี

ฟังเสียงผู้บริโภคไทยผ่านงานวิจัยพบกว่าครึ่ง รู้สึกชีวิตยังไม่ดีพอ เพราะขาดปัจจัยพื้นฐานรายได้ต่ำ สุขภาพกายและใจห่อเหี่ยวตาม แถมหน้าตาทางสังคมคือหนึ่งความสุขในบริบทไทย ช่องว่างที่แบรนด์เติมชีวิตดี สังคมดีและแบรนด์จะดีตาม

วิถีการสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน (Sustainable Brands) ไม่เพียงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจ หรือ คอร์เปอเรท คิดไปเองว่า แบบไหนคือสิ่งที่ใช่ และทำตามนั้น ทว่าจำเป็นต้องมี “เครื่องมือชี้วัด” ที่ชัดเจนว่า พวกเขาเดินทางถูกทางหรือยัง 

     นั่นจึงเป็นที่มาของการให้นิยาม“ชีวิตดี” (Good Life)ในมุมผู้บริโภค โดยมีแบรนด์เป็นส่วนเติมเต็มสำคัญ ที่ภาคธุรกิจต้องถอดรหัสนำมาสู่การออกแบบแบรนด์ (Redesign Brand) ให้ไปนั่งใจผู้บริโภคให้ได้

ดั่งใจถวิล อนันตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด พันธมิตรร่วมงาน "Sustainable Brands(SB) โดยงานดังกล่าวจะจัดในไทย ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย. 2560 เผยถึง การเข้าไปนิยามคำว่าชีวิตดีในมุมผู้บริโภค ผ่านงานวิจัย What does “Good Life” mean for Thais ? ถามถึงความคาดหวังและความหมายของการมีชีวิตที่ดีของคนไทยอายุตั้งแต่15-65ปี จำนวน2,000ตัวอย่างทั่วประเทศ พร้อมกันกับฟังเสียงบทสนทนาบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network)

ผลวิจัยพบเรื่องที่น่าตกใจมาพร้อมกับโจทย์ใหญ่ เป็นการบ้านให้แบรนด์ไปลุยทำสิ่งดีๆ ให้ชีวิตคนเพื่อปูพรมไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ได้อีกมากมายหลายด้าน

จากการถามผู้บริโภคทั่วประเทศพบว่า “ครึ่งหนึ่ง” ที่ตอบคำถามมา มีความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่มีชีวิตดีอย่างใครเขา โดยเฉพาะกลุ่มคนต่างจังหวัด ที่อาศัยตามชนบท เหตุผลหลักเพราะรายได้ไม่เพียงพอ จึงเข้าไม่ถึงปัจจัยพื้นฐานตามทฤษฎีมาสโลว์ ตั้งแต่รายได้ กินดีอยู่ดี มีครอบครัวดี มีสุขภาพที่ดี

เขารู้สึกว่าจะมีชีวิตดีได้อย่างไรหากปากท้องยังไม่อิ่ม อาชีพการงานยังไม่มั่นคง รายได้ไม่เพียงพอ ก็ส่งผลต่อความเครียด สุขภาพไม่ดี ต้องดูแลครอบครัว รายได้จึงเป็นกลไกหลักที่เชื่อมโยงไปสู่ชีวิตดี”

ผลวิจัยพบสิ่งที่ต้องยอมรับว่า เกิดขึ้นจริงสำหรับบริบทเฉพาะแบบคนไทยคือ รายได้ อาชีพที่ดี ที่เชื่อมโยงไปถึงความมีหน้ามีตา ได้รับการยอมรับในสังคม ฐานะทางสังคม จึงมีความสำคัญมากในสังคมไทย จนเป็นบรรทัดฐานทางสังคม(Social Norm)ถูกรวมอยู่ในส่วนหนึ่งของความสุข และมีชีวิตที่ดีตามความคิดเห็นของคนไทย

“เข้าไปฟังบทสนทนาบนแทร็คคำว่า Good Life บนโลกโซเชียลในช่องทางต่างๆ หลายคนที่มีชีวิตที่ไม่มีความสุข หลบๆ ซ่อนสังคม เพราะความจนถึงขั้นไม่มีข้าวกิน ต้องรอให้เพื่อนกลับบ้านก่อนแล้วจึงค่อยเดินกลับบ้าน หรือบางคนบ่นว่าทำงานหนัก ทำงานคนเดียว ชีวิตแย่ แต่ตอนนี้ดีขึ้นเพราะได้รับเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้า ได้รับการยอมรับทางสังคม มีลูกน้องเคารพ” นี่คือความเป็นจริงที่คนบ่นบนโลกโซเชียล

แม้ว่าในภาพรวมแล้วผู้ที่ตอบคำถามเข้าใจว่าเงินสำคัญ แต่เงินก็ไม่ใช่คำตอบของการทำชีวิตที่ดีทั้งหมด ชีวิตที่ดีจึงต้องจัดสมดุลสุขภาพดี ทว่า หากไม่มีเงินก็เครียดก็นำมาซึ่งสุขภาพที่แย่เช่นเดียวกัน ทุกอย่างนั้นเกี่ยวโยงกัน

โดยผลงานวิจัยชีวิตที่ดีของคนไทย พบว่าจะต้องประกอบด้วย สุขภาพที่ดี 37% มีการใช้ชีวิตเรียบง่าย 28% ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน 22% การมีครอบครัวที่ดี 21% การมีบ้านเป็นของตัวเอง 21%การใช้ชีวิตบนทางสายกลาง 19%

เมื่อมองลงไปถึงความสัมพันธ์ของแบรนด์กับการสร้างโลกให้คนมีชีวิตที่ดีสัดส่วนของคนตอบ68% เชื่อว่าสินค้าและบริการนั้นมีส่วนสร้างโลกให้สดใส ทำให้คนมีชีวิตดีได้ ทว่า เมื่อเจาะลงไปถึงนิยามแบรนด์ในใจที่มีส่วนเติมเต็มชีวิตดีได้ ปรากฎว่า 87% ตอบว่ายังไม่มีแบรนด์ไหนทำให้พวกเขามีชีวิตดีได้อย่างชัดเจน

ส่วนมุมมองจากผู้บริโภค พวกเขาเหล่านั้นสัดส่วน 97% ที่ตอบว่าเริ่มคิดและลุกขึ้นมามีบทบาททำชีวิตให้ดีได้ และเริ่มเลือกแบรนด์ที่มีส่วนเข้ามาทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น แบรนด์ที่มีส่วนประหยัดพลังงาน เป็นแบรนด์ที่น่าสนับสนุนหากเทียบกับคู่แข่ง

ผลการศึกษาพบว่าผู้บริโภคและแบรนด์อยากทำให้ชีวิตดี แต่ยังมีช่องว่างของการเข้ามาช่วยเติมชีวิตดีของทั้งสองฝ่าย ที่เป็นโอกาสมหาศาลของแบรนด์ที่เข้าไปมีบทบาทเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีดี ตั้งแต่ ขั้นพื้นฐาน จนถึงการสร้างฐานะทางสังคม

มุมผู้บริโภคเชื่อว่าเปลี่ยนแบรนด์ได้ โอกาสเป็นแบรนด์ที่ดีนั่งในใจคนแบบไม่มีคู่แข่งที่จะทำให้แบรนด์คิดใหม่(Redesign)หาวิธีเข้าไปเติมเต็มชีวิตดีๆ ตามความความต้องการของพวกเขา”

ความเห็นของผู้บริโภคเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดสำคัญในการนำมาเป็นเกณฑ์การประเมินของความพึงพอใจและองค์ประกอบของชีวิตที่ดี ที่ผู้บริโภคอยากให้แบรนด์ออกแบบบทบาทของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นปีแรกที่นำงานวิจัยมาวัดผลประกอบการสัมมนา เพื่อที่จะเป็นการวางมาตรฐานเปรียบเทียบผลการทำงานได้ในปีถัดไป

ด้าน ดร.ศิริกุล เลากัยกุล นักสร้างแบรนด์ และผู้แทนจัดการประชุม SB’17 Bangkok เสริมว่า นักโฆษณา รวมถึงผู้ผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงกลุ่มธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ ต้องกลับมาทบทวนวิถีการทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นนั้นไม่ใช่เพียงการทำให้ได้รับรางวัลโฆษณาดังแล้วเปลี่ยนสังคมได้ทันที แต่ต้องสร้างสมดุล ของคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบด้วย อาหารดี(Good Food), บ้านและครอบครัวดี (Good Home), สุขภาพดี(Good Health), สภาพคล่องทางการเงินดี(Good Money),ออกแบบดี (Good Design),พลังงานที่ดี (Good Energy), เทคโนโลยีดี(Good Technology)และจุดหมายปลายทางที่ดี(Good Destination)

ปัญหาความไม่สมดุลของโลกที่ผ่านมาเกิดจากความแตกต่างกันในอดีตที่เน้นแต่ความร่ำรวย แต่เป็นการสร้างสมดุลของการพัฒนาทุกๆด้านไปพร้อมกัน

“ต้องนิยามคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่วัตถุ แต่เป็นการวางสมดุลชีวิตที่เรียบง่าย มีสุขภาพที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนมากกว่าวัตถุ ตั้งแต่ ครอบครัว ชุมชน อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน (Inclusiveness)"

สอดคล้องกับศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy)ที่เดินมา 19 ปี จากโครงการพระราชดำริกว่า 4,447 โครงการ แก้ไขปัญหาให้คนไทยได้กินดีอยู่ดี มีความยั่งยืน

เมื่อคนไทยลุกขึ้นมารวมกลุ่มทำงานมีพลังที่ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโลกได้ แนวทางการปฏิบัติสร้างความยั่งยืนของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะแบรนด์ที่น้อมนำศาสตร์ของพระราชาเป็นต้นแบบโลกเดินตาม และทำให้ทั่วโลกรู้จักแบรนด์ไทยมากขึ้น”