พท.โวย!โอ๊คโดนข้อหาฟอกเงิน หวั่นใช้ยธ.เป็นเครื่องมือการเมือง

พท.โวย!โอ๊คโดนข้อหาฟอกเงิน หวั่นใช้ยธ.เป็นเครื่องมือการเมือง

พรรคเพื่อไทย ออกโรงโวย! "ลูกทักษิณ" โดนข้อหาฟอกเงิน หวั่นใช้กระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือการเมือง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวนดีเอสไอ นำโดยอธิบดีได้แถลงมติของคณะพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 60 ให้แจ้งข้อหาการฟอกเงิน แก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และพวก โดยให้รวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ว่า จากการติดตามรายละเอียดต่างๆ ของคดีนี้ พบว่าคดีเริ่มต้นเมื่อมีการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯทักษิณ เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีการจัดตั้ง คตส. มีการสอบสวนเอาผิดรัฐบาลในอดีตหลายคดี รวมทั้งคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับบริษัท กฤษดามหานคร คตส.ได้มีมติให้ฟ้องร้องนายกฯทักษิณและผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมทั้งนายพานทองแท้ ว่าเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีดังกล่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ และพวก ครั้นเมื่อมีการโอนคดีจาก คตส. มายัง ป.ป.ช. ภายหลัง คตส. สิ้นสุดลง ป.ป.ช. ก็มิได้นำคดีมาฟ้องร้องนายพานทองแท้ กับพวกแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติเรื่องก็ควรจะยุติสิ้นสุด

ทั้งนี้ภายหลังรัฐประหาร 2557 มีการหยิบยกประเด็นให้มีการดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ กับพวก ในความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน และข้อหารับของโจร ได้มีการตั้งพนักงานสอบสวน มีรองอธิบดี DSI และพนักงานอัยการ ร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งในที่สุดได้มีมติยุติข้อหารับของโจร เนื่องจากขาดอายุความ ส่วนข้อหาตามกฎหมายฟอกเงิน เห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่กลับปรากฏตามที่เป็นข่าวว่าได้มีการสั่งย้ายรองอธิบดีดีเอสไอ คนดังกล่าวไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและมีการเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ โดยให้อธิบดีดีเอสไอ มาเป็นประธาน สับเปลี่ยนตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุด และในที่สุดก็ได้มีมติออกมาดังกล่าว คือให้แจ้งข้อหาความผิดตามกฎหมายฟอกเงินซึ่งพนักงานสอบสวนชุดเก่าบอกว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ เรื่องดังกล่าวหากพิจารณาข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นมาโดยลำดับ อาจพิจารณาและตั้งคำถามได้ว่า กรณีอาจเข้าข่ายลักษณะเป็นการใช้กลไกและอำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ จากหนังสือร้องเรียนของรองอธิบดีดีเอสไอ ที่ปรากฏทางสื่อทั้งหลายส่อให้เห็นว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง และอาจเข้าใจได้ว่าทั้งหมดเป็นผลพวงของการรัฐประหารอีกเช่นกันนั่นเอง จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่าการที่เรามีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฏหมายและหลักนิติธรรมนั้น จะมีผลในทางปฏิบัติโดยแท้จริงหรือไม่