เวทีค้นหา‘โลจิเทค’ พลิกโฉมโลจิสติกส์

เวทีค้นหา‘โลจิเทค’ พลิกโฉมโลจิสติกส์

ครั้งแรกของประเทศไทยกับเวทีปั้นสตาร์ทอัพด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เปิดกว้างทุกไอเดียที่เกี่ยวข้องทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโดย “พนัส แอสเซมบลีย์”

ครั้งแรกของประเทศไทยกับเวทีปั้นสตาร์ทอัพด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (LogTech) เปิดกว้างทุกไอเดียที่เกี่ยวข้องทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เจ้าภาพโดย “พนัส แอสเซมบลีย์” ประกอบกิจการประเภทการผลิตรถพ่วงและรถกึ่งรถพ่วง
“เราพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดการบูรณาการระบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์ จึงต้องการหาไอเดียใหม่จากภายนอกองค์กรในการพัฒนาซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น ระบบอัตโนมัติ เอไอ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตออฟติง (IoT) ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ จึงร่วมกับ สวทช. ริเริ่มโครงการประกวดเฟ้นหานวัตกรรมหรือไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นไปได้สู่การนำไปใช้จริงในภาคการขนส่ง" พนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าว


เวทีค้นหาความใหม่


Panus Thailand LogTech Award 2017 โครงการประกวดไอเดียธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ (LogTech) เพื่อเฟ้นหาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้าคอร์สติวเข้มในการพัฒนานวัตกรรมหรือไอเดียให้ใช้งานได้จริง และจะเป็นสะพานเชื่อมสตาร์ทอัพเกิดใหม่ในกลุ่ม LogTech เข้ากับองค์กรที่แสวงหานวัตกรรมในรูปแบบโอเพ่นอินโนเวชั่น


ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม LogTech BoothCamp เติมเต็มความรู้ แนวคิด ปรับปรุงแผนธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การแข่งขันรอบพิชชิ่ง เพื่อเฟ้นหาแนวคิดและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง จึงเชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดการร่วมลงทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ รวมทั้งการสร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มโลจิสติกส์ การประกวดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และกลุ่มนิสิตนักศึกษา โดยรางวัลชนะเลิศสำหรับกลุ่มธุรกิจจะได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาทพร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ทั้งยังได้รับโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่เยอรมนี สำหรับประเภทนิสิตนักศึกษาที่ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 5 หมื่น


พนัส กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้เป็นผู้นำในธุรกิจขนส่งตลอดเวลา 47 ปีคือ การวิจัยพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่สามารถตอบความต้องการใช้งานที่หลากหลายของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้ ปัจจุบันมีรถขนส่งประเภทต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและทำให้ต้นทุนของลูกค้าต่ำที่สุดบริษัทยังมีแผนจะพิจารณาจัดตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่ม LogTech โดยเชื่อว่าหากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้องและทันเวลา จะเกื้อหนุนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ภาคโลจิสติกส์ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทันสมัย เร็วขึ้น ลดต้นทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น


ตัวอย่างความสำเร็จ


ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในปละต่างประเทศ อาทิ MyCloud สตาร์ทอัพให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้า ขนส่ง จัดวาง รวมทั้งให้บริการสำหรับสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่สินค้าจัดเก็บเป็นระยะเวลานาน จนถึงสินค้าเปลี่ยนผ่านเร็วที่ต้องการบริการการขนส่งและจัดเก็บสินค้าที่เปลี่ยนไปจากอดีต และกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในกลุ่มผู้ขายสินค้าออนไลน์
ทั้งยังผ่านการบ่มเพาะจาก Spark สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายติวเข้มและสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้มีโอกาสไปเติบโตในต่างประเทศ และเจ้าของรางวัลชนะเลิศ Startup Thailand Pitching Grand Challenge 2017
ส่วน Giztix เป็นตลาดซื้อขายบริการด้านโลจิสติกส์ ฝั่งผู้ให้บริการขนส่งหรือที่เรียกว่า transporter สามารถมาลิสต์บริการที่ตัวเองมีในระบบ และฝั่งของผู้ใช้บริการหรือ shipper สามารถเข้ามาเลือกดูว่ามีบริษัทใดรับขนส่งสินค้าในรูปแบบที่ตัวเองต้องการบ้าง และสามารถเช็คราคาได้ทันที ขอใบเสนอราคาจาก transporter เจ้าต่างๆ ได้ทันที สะดวกกว่าการโทรศัพท์ไปสอบถาม-ขอใบเสนอราคาทางแฟกซ์หรืออีเมลมาก
สตาร์ทอัพรายนี้เคลมว่าเป็นฐานข้อมูลโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย
ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เช่น มีบทบาทสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.52 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันเมกะโปรเจคอย่างอีอีซีก็มีการลงทุนเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทั้งจากท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ขนส่งทางรางอย่างรถไฟความเร็วสูง และการขนส่งทางบกจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลส่งเสริมและผลักดันอย่างเต็มที่