วิจัยปูทางไทย ‘ฮับนวัตกรรมอาหารอาเซียน’

วิจัยปูทางไทย ‘ฮับนวัตกรรมอาหารอาเซียน’

สตรอว์เบอร์รี่แช่แข็งที่มีโพรไบติกส์ช่วยย่อย, อาหารเสริมจากเมล็ดองุ่น, อาหารพร้อมรับประทานดีไซน์สำหรับโรคไม่ติดต่อ(เอ็นซีดี) ผลงานวิจัยต้นแบบที่ วว.ผลักดันสู่เชิงพาณิชย์

สตรอว์เบอร์รี่แช่แข็งที่มีโพรไบติกส์ช่วยย่อย, อาหารเสริมจากเมล็ดองุ่น, อาหารพร้อมรับประทานดีไซน์สำหรับโรคไม่ติดต่อ(เอ็นซีดี) ผลงานวิจัยต้นแบบที่ วว.ผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมสร้างโรงงานต้นแบบรองรับการทดลองผลิต หวังก้าวขึ้นเป็นฮับนวัตกรรมอาหารอาเซียน


ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัจจัยส่งเสริมหลายอย่างในการทำธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ มีวัตถุดิบจำนวนมากและหลากหลายสำหรับการผลิตสินค้าที่แปลกใหม่มีเอกลักษณ์ อีกทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาคเอกชนตื่นตัวใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ขณะที่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ไทยมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวขึ้นเป็นฮับนวัตกรรมอาหารของอาเซียน


การที่ไทยจะก้าวไปเป็นฮับด้านนวัตกรรมอย่างเต็มตัวได้ องค์ประกอบสำคัญคือผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงความสำคัญในการใช้นวัตกรรมอย่างแท้จริง และนำมาใช้ในการผลิตสินค้าอย่างจริงจัง อาทิ ตัวอย่างผลงานวิจัยข้างต้นเป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่สกัดจากธรรรมชาติ สอดคล้องกับเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาแรง ทาง วว.กำลังถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์


อีกทั้งกำลังก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มระดับโรงงานสาธิต ที่ช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในเรื่องการแปรรูปอาหาร โดยขยายสเกลจากแล็บสู่การทดลองผลิตก่อนการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ รวมถึงบริการการสกัดเรื่องสมุนไพร หัวเชื้อจุลินทรีย์ ห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งบริการทดสอบการออกฤทธิ์ของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่ามีประสิทธิภาพระดับใด


“วว.เพียงหน่วยงานเดียวคงขับเคลื่อนเรื่องนวัตกรรมไม่ได้ ต้องอาศัยภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ และพยายามคิดค้นสินค้านวัตกรรมให้มากขึ้นเพื่อที่จะแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลก อย่าลืมว่าประเทศไทยมีชื่อเสียงทางด้านอาหารอยู่แล้ว หากผู้ประกอบการใส่นวัตกรรมเข้าไป อนาคตประเทศไทยอาจเป็นนำตลาดอาหารได้ไม่ยาก” ลักษมี กล่าว


ด้าน อนุวัตร แจ้งชัด รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แนวโน้มเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ ไมโครเวฟ อินฟราเรด ระบบสุญญากาศ จะส่งผลให้ลักษณะของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากการทอดด้วยน้ำมันมาเป็นการใช้แรงดันสูงเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ไร้ไขมันหรือปลอดคอเลสเตอรอล แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถสร้างกำไรสูงสุด


อุตสาหกรรมอาหารในไทยมีโอกาสเติบโตค่อนข้างมาก แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังไม่มีนวัตกรรมที่จะพลิกโฉมหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญคลัสเตอร์เกษตรและอาหารเป็นอันดับต้นๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการที่จะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น อาทิ สถาบันการศึกษาช่วยคิดค้นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในปริมาณจำกัด ขณะที่บริษัทรับจ้างผลิตไม่รับผลิตให้เพราะมีปริมาณน้อยไม่คุ้มค่า หรือถ้าผลิตให้ สินค้าก็จะมีราคาแพงมาก


สำหรับเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารในไทย เป็นไปตามเทรนด์โลกที่ชี้ชัดว่า ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับผู้เล่นโยคะ เครื่องดื่มสำหรับผู้ปั่นจักยาน ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตหรือแปรรูปไม่ต้องหลายขั้นตอน เพราะใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและต้องการรักษาความสดใหม่ อีกทั้งให้ความสนใจบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในส่วนเครื่องดื่มจะเน้นอุดมด้วยวิตามีนเกลือแร่ี ใยอาหาร สารทดแทนน้ำตาล โปรตีนและโพรไบโอติก เพื่อบำรุงสุขภาพไปพร้อมๆ กับการบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นต้น