รหัสลับพลิกSMEs สู่นักรบพันธุ์ใหม่

รหัสลับพลิกSMEs สู่นักรบพันธุ์ใหม่

พื้นเพธุรกิจเอสเอ็มอี มาจากภาคการเผลิต ในหัวจึงคิดแค่การหาวิธีลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิต ทว่าโลกดิจิทัลหมุนไว กลับหัว 360 องศาพลิกสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และหาคุณค่า ผ่านการออกแบบและนวัตกรรม SMEsพันธุ์ใหม่ต้องต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองจากความคิด

แม้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในไทย จะมีจำนวนมากถึง 2.7-2.8 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ ทว่าหากประเมินในแง่รายได้กลับพบว่า มีส่วนเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)น้อยนิด อย่างไรก็ตามในยุคไทยแลนด์ 4.0 ธุรกิจเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็น “แต้มต่อ” ให้เอสเอ็มอี ผงาดขึ้นเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ไม่ยาก ขอเพียงมีความคิดล้ำ ที่ต้อง ใช่..!!

ผศ.ดร.โชคอนันต์ บุษราคัมภากรนายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวในงานแถลงข่าวจัดงาน Thailand and Innovation Design Expo 2017  ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 ก.ย.2560 โดยมองการทำธุรกิจในยุคนี้ว่า ยากและท้าทายในอีกบริบท โดยเฉพาะต้องปรับตัวให้ฉับไวในยุคดิจิทัล ที่ไม่เพียงผู้บริโภคจะตัดสินใจเร็ว ธุรกิจยังเปลี่ยนเร็ว ขณะที่คู่แข่งมีเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การจะเอาใจผู้บริโภคยุคนี้ สินค้าต้องโดดเด่น ครองใจ คิดให้ซับซ้อนกว่าเดิม หาไอเดียใหม่มาสร้างคุณค่า

นอกจากนี้ สินค้ายังต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับให้ผู้บริโภค “Usex” (User Experience) ไปพร้อมกัน

“แต่ก่อนมีรีโมทกดปุ่มในบ้านก็ว่าทันสมัยแล้ว ผู้ใช้ต้องมานั่งทำความเข้าใจ อ่านคู่มือการใช้ แต่ยุคนี้สินค้าต้องสมาร์ท คิดให้เสร็จสรรพ ฟังก์ชั่นการใช้งานง่าย ไม่ต้องนั่งเปิดคู่มือทำความเข้าใจ ผู้บริโภคถึงจะประทับใจ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงคือ ความเข้าใจของคนเรื่องการออกแบบในยุคนี้ยังไม่ชัดเจน คิดแค่ว่าบางคนคิดว่า “ออกแบบสวยงาม” ก็ใช้ได้แล้ว เป็นการมองต่างมุมระหว่างผู้ผลิต นักออกแบบ และนักธุรกิจ ขาดการหลอมรวมเชื่อมโยงกัน

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว การออกแบบมีอะไรมากกว่านั้น ต้องนำเสนอสิ่งใหม่ที่ตลาดไม่เคยมี ถึงจะเกิดเป็นคำว่า “นวัตกรรม”

เขายังประเมินว่า ทั้งประเทศมีคนที่ติดล้ำนำหน้า ออกแบบนวัตกรรมได้จริงแค่ 5% ของจำนวนประชากร แม้จะน้อยแต่ก็ถือเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดี” ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นคุณค่าของความเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม

“ที่ผ่านมา คำว่าดีไซน์ อินโนเวชั่น ยังไม่ชัดเจน ซึ่งความหมายจริงของนวัตกรรม คือนำเสนอสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ และหาทางออกแก้ไขปัญหา มองเห็นก่อนก็เป็นผู้นำธุรกิจใหม่ๆ ”

นี่คือความท้าทายที่ผู้คิดใหม่ต้องก้าวข้ามให้พ้น เขาเผย  

“ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังติดวังวนต้นทุนสูง จึงเพียงหาวิธีลดต้นทุน สร้างประสิทธิภาพการผลิต คิดเพียงเท่านี้ สิ่งใหม่ที่ท้าทายโลกจึงไม่เกิด เพราะยังจำกัดกรอบความคิดในแบบเดิม”

โชคอนันต์ ย้ำว่า หากมองแค่กรอบและอุปสรรคก็มีแต่ความคิดเชิงลบ สิ่งใหม่ไม่เกิดขึ้น นวัตกรรมเริ่มต้นจากกระบวนการคิด แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นสินค้าที่จับต้องได้ โดยต้องเป็น ความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ และคิดเชิงบวก (Positive Thinking)

 ความยากจึงอยู่ที่“กระบวนการคิด” !!

“เริ่มจากรู้จักตัวเอง ตั้งคำถาม สิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นตอบโจทย์โลกยุคใหม่ คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร”

และไม่เพียงแค่คิดตาม แต่ต้อง คิดล้ำนำเทรนด์ เป็นผู้นำในเรื่องที่เราถนัดที่สุด

วัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคมการค้าเพื่อผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) มองกลวิธีบ่มเพาะนักธุรกิจพันธุ์ใหม่ว่า ไม่มีรูปแบบตายตัว ในวันที่คำว่าสตาร์ทอัพ เริ่มเบ่งบานในไทย มีคนเกิดและเติบโตจากการกล้าคิดต่าง ค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆมาแล้ว 

หลังจากเห็นความสำเร็จของนักรบหน้าใหม่ ที่เสน่ห์ของธุรกิจสตาร์อัพอยู่ตรงที่เติบโตรวดเร็ว จึงเกิดแรงบันดาลใจให้คนอยากเป็นสตาร์ทอัพมากมาย

ยุคต่อมา จึงเกิดกระแสบริษัทใหญ่ อาทิ ปตท. ,เอสซีจี, อนันดา,เอสซี แอสเสจ,แสนสิริ และกลุ่มธนาคาร ต่างกลัวตกขบวน หรือชิงความได้เปรียบ เปลี่ยนเกมธุรกิจโดดลงมาเล่นในสนามนี้บ้าง ด้วยการตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับสตาร์ทที่มีแววจะประสบความสำเร็จ

เท่านั้นไม่พอ ยังถูกกระพือด้วยแรงหนุนจากนโยบายรัฐ หนุนการสร้างนักรบพันธุ์ใหม่ ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจไทยยุค4.0

“เป็นเวลาที่ดีและเหมาะสมในการพัฒนาธุรกิจ มีทั้งเงินทุน และโมเดลธุรกิจ และแรงสนับสนุนจากภาครัฐ โดยธุรกิจต้องมองทะลุมิติคั้นธุรกิจได้ชัดมากขึ้น”

ทว่า ต้องยอมรับเหล่าสตาร์ทอัพไทยมีเพียง 5% เท่านั้นที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ โผล่พ้นน้ำ ที่เหลือสัดส่วนอีก 95% อยู่ใต้น้ำ พยายามต่อสู้กันต่อไป

นั่นเป็นเพราะตลาดไทยยังเล็กจากจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน เทียบไม่ได้กับบางประเทศที่ตลาดมีขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐ และจีน สตาร์ทอัพไทยจึงต้องคิดถึงตลาดที่มีผู้ใช้งานทั้งภูมิภาค ทั้งโลก ไม่เพียงแต่ตลาดในไทย

พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร อดีตนักแสดงที่ผันตัวเองมาเป็นนักออกแบบและผู้บริหารสินค้ารักษ์โลกแบรนด์ EcoShop นำเศษวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นสินค้ามีดีไซน์บุกตลาดมากว่า 10 ปี มองว่า เส้นทางการคิดสิ่งใหม่เจอความท้าทายตรงที่ผลิตแล้วไม่รู้จำนวนความต้องการตลาด บางชิ้นขายดี บางชิ้นต้องค้างสต็อก

ทำให้เขาลองผิดลองถูกมานานจนค้นพบทางออกที่เหมาะสมพร้อมกันกับนวัตกรรมสินค้ารักษ์โลกใหม่ๆ ที่สร้างส่วนผสมของวัตถุดิบใหม่ทดแทนวัสดุแบบเดิม เช่น ขนหมาที่เหลือทิ้งมาพัฒนาจนเป็นเส้นใยพิเศษ ทดแทนฝ้าย ข้อเสียคือกระบวนการยังทำลายโลกตั้งแต่ต้นทาง ใช้สารเคมีเพาะปลูก ใช้ยาฆ่าแมลง แล้วยังต้องใช้น้ำมหาศาลในการได้มากซึ่งเส้นใย

ที่สำคัญยังบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ด้วยการใช้เครื่องมือการระดมทุนผ่านเทคโนโลยี ในเว็บไซต์หนึ่งที่นำเสนอผลงานดีไซน์ เปิดให้คนสนใจลงทะเบียนดีลจำนวนการผลิต เป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจปริมาณคำสั่งซื้อก่อนวางแผนผลิต และคำนวณต้นทุนกำไรได้ถูกต้อง โดยไม่ต้องแบกต้นทุนการผลิตไปก่อนโดยไม่รู้จำนวนตลาด

ทางออกจากเครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาหนุนให้ดีไซน์เนอร์กล้าออกแบบสิ่งแปลกใหม่ โดยการวัดความต้องการตลาดก่อนผลิตจริง

-------------------

Key to Success

เอสเอ็มอี รบให้ชนะ!!

-ตั้งต้นกระบวนการคิดใหม่ แก้ปัญหาเก่าเก็บ

-สร้างประสบการณ์ที่ดีให้คนใช้สินค้า

-มองตลาดให้กว้างกว่าไทย

-คิดนวัตกรรมใหม่แทนที่สิ่งเก่า

-ดีไซน์แปลกใหม่ หาตัวช่วยระดมทุนก่อนผลิตจริง