วิวาทะ...สุนทรียทัศน์ ‘วัดอรุณ’

วิวาทะ...สุนทรียทัศน์ ‘วัดอรุณ’

มองต่างมุมเมื่อการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณถูกตั้งคำถามเรื่องสุนทรียทัศน์

ความงามของสถาปัตยกรรมทรงพระปรางค์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นแลนด์มาร์กที่ต้องตาคนทั่วโลก เช่นเดียวกับความตระการตาของงานศิลปกรรมประดับองค์พระปรางค์ที่สร้างความภูมิใจให้กับคนไทยทั้งหลาย เหตุนี้ ทันทีที่โฉมใหม่ของพระปรางค์วัดอรุณฯ ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน เสียงวิพากษวิจารณ์จึงดังขรมโลกโซเชียล

            และแม้จะเป็นวิวาทะมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อฝ่ายหนึ่งยกเอาความผิดเพี้ยนของสีสันและลวดลายต่างๆ มาเป็นข้อกังวล ส่วนอีกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ก็ออกมาชี้แจงถึงข้้นตอนและกระบวนการว่าเป็นไปตามหลักการ โดยมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อออกแบบบูรณะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการอนุรักษ์ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

            ล่าสุด ภาคประชาสังคมศึกษาการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ศิลปินอิสระ และภาคประชาชน ได้ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เเละอธิบดีกรมศิลปากร เรียกร้องขอให้ระงับยับยั้งโครงการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร และแต่งตั้งกรรมการผู้ชำนาญการจากหลากหลายสาขาเพื่อทบทวน ตรวจตราและแก้ไขความเสียหาย

            ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรยังไม่มีคำตอบในเชิงนโยบาย แต่ในเวทีวิชาการซึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับคณะโบราณคดี และหลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายน ได้มุมมองน่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น‘ปรมาจารย์ด้านเจดีย์’, ศาสตราจารย์ สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน จากสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

  • ศิลปกรรม | ศิลปวัฒนธรรม

            หากจะถามถึงความสำคัญของพระปรางค์วัดอรุณ ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม เสนอให้ขยับมุมมองให้กว้างขึ้น “พระปรางค์วัดอรุณไม่ใช่ศิลปกรรม แต่เป็นศิลปวัฒนธรรม”

เหตุผลก็เพราะหากมองว่าเป็นศิลปกรรม ก็อาจจะหมายถึงความสวยงามที่ใครจะสร้างแล้วก็เปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ แต่หากเป็นศิลปวัฒนธรรมย่อมสัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรม

“ที่เรียกว่าเป็นศิลปวัฒนธรรม เพราะเป็นศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมวัฒนธรรมโดยตรง มันเป็นของคนในสังคม เขามีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ติชม อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ”

            แต่ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ อ.ศรีศักร บอกว่าต้องทำความเข้าใจกับ ความหมายเชิงสัญลักษณ์กับความหมายเชิงศิลปกรรมของพระปรางค์วัดอรุณเสียก่อน

            “ความหมายเชิงสัญลักษณ์ ผมคิดว่าวัดอรุณเป็นศูนย์กลางของภูมิทัศน์ศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งเจ้าพระยา เท่าที่ผมมีประสบการณ์มา ตั้งแต่วัดภคินีนาถวรวิหารลงไปจนถึงปากคลองสาน สองฝั่งแม่น้ำจะเรียงรายไปด้วยวัดวาอารามน้อยใหญ่ แต่ว่าวัดอรุณสูงที่สุด เป็นศูนย์กลางและอันนี้มันก็ตอบรับกับเวลาชาวต่างประเทศมา เขาจะเห็นว่าวัดอรุณสำคัญ เป็นแลนด์สเคปริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งถ้ามองอย่างเข้าใจจะรู้ว่าไม่ควรให้มีสิ่งก่อสร้างที่สูงกว่า แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยน ตั้งแต่สร้างคอนโดเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าแล้ว มันเป็นการแข่งกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สมัยโบราณเขาถือเป็นเรื่องอัปมงคล เขาจะไม่ยอมให้ใครก่อสร้างอะไรที่สูงเหนือกว่าสิ่งเหล่านี้”

            ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของวัดอรุณคือ การสืบต่อแนวคิดในเรื่องจักรวาลจากสมัยของพระเจ้าปราสาททอง “อันนี้เป็นระบบจักรวาลในสมัยอยุธยา ซึ่งการสร้างโบราณสถานนี้ถือว่าได้สัดส่วนทางเรขาคณิต และที่แปลกคือ พระปรางค์องค์นี้ยอดเป็นมงกุฎ ซึ่งผมสันนิษฐานภายหลังว่า รัชกาลที่ 3 สร้างยอดมงกุฏขึ้นเพื่อถวายความเป็นจักรพรรดิราชให้พระพุทธเจ้า อันนี้แสดงถึงความสำคัญในเรื่องระบบสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นพระปรางค์วัดอรุณจึงมีลักษณะโดดเด่นเหนือสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”

            สำหรับความหมายเชิงด้านศิลปกรรม อ.ศรีศักร มองว่าสมัยรัชกาลที่ 3 โดดเด่นมากในเรื่องการใช้กระจกสีและเครื่องเซรามิกส์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นนอกจากจะมีช่างที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญแล้ว ยังมีเทคโนโลยีที่ดีด้วย

            ในเรื่องคุณค่าด้านศิลปกรรมนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม อธิบายเพิ่มเติมว่า รูปทรงของพระปรางค์อย่างที่เห็นนั้นมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 มีความเรียวเพรียวขึ้นไป เป็นรูปทรงที่งดงามด้วยรสนิยมอย่างใหม่ในสมัยนั้น

            “ที่สำคัญ สังเกตหรือไม่ว่าพระปรางค์องค์นี้แปลกจากพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ไม่ใช่ตรงที่รูปทรงเพรียวงดงามกว่าตามรสนิยมของราชธานีใหม่คือกรุงเทพ แต่ยังเป็นพระปรางค์ 5 ยอดด้วย การออกแบบทั้งหมดตั้งแต่ส่วนฐาน 3 ฐาน ต่อเนื่องขึ้นไปและลดรูปอย่างรวดเร็วขึ้นไปถึงยอด เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางด้านรูปทรงของปรางค์ที่ไม่เคยมีมาก่อน และหลังจากนี้ก็ไม่มีการทำอีกแล้ว นี่เป็นองค์เดียวและเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

            ในความเห็นของนักประวัติศาสตร์ศิลปะท่านนี้ พระปรางค์วัดอรุณถือเป็นงานชั้นเยี่ยมที่สุด ที่ครบถ้วนทั้งด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม “เป็นการออกแบบที่เป็นนวัตกรรมของยุคสมัยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา เป็นผลงานที่พิเศษสุด” ดังนั้นในเรื่องของการอนุรักษ์จึงถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

  • บูรณะ | หายนะ

            ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์หลังพระปรางค์วัดอรุณฯเผยโฉมใหม่อันขาวสะอาด มีตั้งแต่เสียใจ เสียดาย ไปจนถึงก่นด่าถึงความหายนะของสมบัติชาติ และแม้ว่าจะมีคำอธิบายถึงแนวทางในการบูรณะที่อ้างอิงกฎบัตรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน (Venice Charter 1964) รวมถึงกฎบัตรประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม แต่คำถามก็ยังค้างคาใจหลายฝ่าย รวมถึง ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ซึ่งออกมาแสดงความเห็นในนามภาคประชาสังคม ศึกษาการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ

            “พอผมเห็นผลงานการบูรณะวัดอรุณ ผมรู้สึกเสียใจ รู้สึกน้อยใจ แล้วรู้สึกแย่กับงานที่มันออกมา ผมก็โพสต์ไปในเฟซบุ๊ก 2-3 บรรทัด ว่าผมเสียใจกับเรื่องนี้มาก เพราะมันเป็นงานที่ทุเรศมาก”

            อาจารย์ยกตัวอย่างคร่าวๆ เช่น สีของตัวยักษ์กับลิง ขาวเหมือนกันหมดทั้งเสื้อผ้า เนื้อกาย ใบหน้า ทั้งที่ความจริงยักษ์แต่ละตัวสีไม่เหมือนกันเลย ทำให้เสียความหมายไป ช่องไฟของเซรามิกส์แต่ละชิ้นกว้างขึ้นมาก เหมือนเติมไม่เต็ม รวมถึงลวดลายก็ผิดเพี้ยน ปูนที่ไล้ไว้เริ่มร่อน กระเบื้องหลุดร่วง ทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจรับงาน

            “มันคือความสูญเสียคุณค่าทางสุนทรียะ หรือความงาม ซึ่งทุกคนสามารถจะบอกได้ว่ามันสวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี ประทับใจหรือไม่ประทับใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ศิลปิน หรือนักวิชาการ และอันนั้นแหละครับเป็นความรู้สึกของมหาชนซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ”

            อดีตคณบดีคณะโบราณคดีมองว่า ในการบูรณะ สิ่งที่ควรจะเก็บไว้คือความมีมิติ ความลึก ความหลากหมาย “ของเดิมมันมีความแน่นความหนาของตัวเซรามิกส์ เพราะว่าความเด่นของงานศิลปกรรมชุดนี้คือการให้ตัวชิ้นเซรามิกส์ทำงานในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของสีต่างๆ ในส่วนต่างๆ แต่เมื่อบูรณะไปแล้ว ตัวเซรามิกส์มันไม่ทำหน้าที่ ตัวที่มันโพลนออกมาคือปูน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปูนตำก็ได้”

            ซึ่งหากย้อนกลับไปพิจารณาการบูรณะเมื่อ 40-50 ปีมาแล้ว ในสมัยของอดีตอธิบดีกรมศิลปากร สุวิชญ์ รัศมิภูติ จะพบว่ามีความแตกต่างกัน

            “ส่วนของพระปรางค์วัดอรุณ สมัยที่ผมทำผมก็มาอ่านดูว่าทำไมรัชกาลที่ 3 ถึงนำกระเบื้องมาประดับ คือสมัยก่อนเราเดินเรือกับจีน เวลาเรือเข้ามาพวกเครื่องถ้วยเครื่องชามเซรามิกส์มันชำรุด ท่านก็เอาของที่ชำรุดมากองไปที่หน้าวัด แล้วพอทำเจดีย์ก็เอาเศษกระเบื้องเศษชามมาประดับ นี่คือภูมิปัญญา ความคิดที่เอาเศษของเหลือใช้มาประดับ นี่คือความเก่งและเป็นเอกลักษณ์ของช่างสมัยรัชกาลที่ 3 กระเบื้องสมัยก่อนเขาเอามาตัดเป็นกลีบ มันจะมีความคม มีความสวย แต่สมัยนี้ใช้การหล่อทั้งอันความคมมันหายไป แล้วจากที่ผมไปดูมาการซ่อมแซมครั้งนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดี ที่ไม่ดีก็อย่างเช่น เอากระเบื้องเก่าไปติด 2 ดอก กระเบื้องใหม่ไปติด 5 ดอก ใส่ไปแล้วมันไม่สวย”

            “อย่าลืมว่าพระปรางค์วัดอรุณเป็นงานศิลปกรรม เป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทย เวลาดูเขาดูความงามของการเอาเครื่องถ้วยมาประดับ อันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของงานศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3” ดร.สุวิชญ์ ทิ้งท้ายให้คิด

  • ทบทวน | ตรวจสอบ

            แม้ตามกฎบัตรฯการบูรณะครั้งนี้อาจไม่ถือว่าผิดหลักการ แต่หากนับว่ายังมีข้อบกพร่องที่ควรแก้ไข เสียงส่วนหนึ่งเห็นตรงว่าความเสียหายนี้เป็นผลมาจากการจ้างเหมาบูรณะ

            “อันนี้เป็นมานานแล้ว ผมพูดตั้งแต่ผมอยู่กรมศิลปากรเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จนออกมาเป็นอาจารย์เมื่อปี 2542 มีกรณีนั้นกรณีนี้เกิดขึ้นมากมายกับความล้มเหลวต่างๆ จากการจ้างเหมาบูรณะ ซึ่งทำให้คุณค่าของศิลปกรรมมันลดลงไปเรื่อยๆ และความหมายของการอนุรักษ์ ซึ่งหมายถึงการรักษาคุณค่า ต้องบอกว่าวันนี้เรารักษาคุณค่าไม่ครบ ส่วนที่หายไปมากก็คือด้านสุนทรียะ” อ.สายันต์ ตั้งประเด็น

            สอดคล้องกับมุมมองของ อ.ศรีศักร ที่เห็นว่าระบบการจ้างเหมาซึ่งมีเงื่อนเวลาเป็นตัวกำหนด คือปัญหาหนึ่งของการบูรณะโบราณสถานหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาของกรมศิลปากร

“เวลาบูรณะซ่อมแซมสิ่งซึ่งเป็นศิลปกรรม มันไม่มีกำหนดเวลาชัดเจนหรอก แต่การไปเร่งเวลาเท่านั้นเท่านี้ทำให้งานทางวิชาการมันขาดไป โดยเฉพาะการรับเหมานี่ยิ่งแล้วใหญ่ เขาไม่ได้ทำอย่างช่างโบราณ ช่างโบราณเขาทำด้วยศรัทธา แต่เวลานี้ทำเพื่อเงินตามเวลาก็เกิดปัญหาขึ้นมา อันนี้เห็นชัด”

            แต่การจะยกเลิกกระบวนการรับเหมาก็ไม่ใช้เรื่องง่ายๆ และอาจจะไม่ใช่การแก้ที่ตรงจุด ดร.วสุ โปษยะนันทน์ กล่าวในตอนหนึ่งของการเสวนาว่า “เรื่องการจ้างเหมา ผมมองว่ามันอยู่ที่การกำกับดูแลและควบคุม จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นใครทำ ถ้าเราทำด้วยความห่วงใย มีการวางกำหนดกฎเกณฑ์ มีการตรวจสอบ มีการศึกษาวิจัยมาอย่างดี มันก็จะไม่มีปัญหาในภายหลัง”

            ดังนั้นหากต้องมีผู้มารับจ้างทำ กระบวนการทำ TOR (เอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจผู้รับจ้างต้องดำเนินการ) ต้องรัดกุม ซึ่ง อ.สายันต์ เห็นว่าควรมีการวิจัย การประเมินสภาพ การประเมินคุณค่า การประเมินความเสียหายอะไรต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน

            “โดยเฉพาะกับงานอย่างพระปรางค์วัดอรุณ ต้องทำวิจัยก่อนและทำทุกตารางฟุต เพราะมันไม่เหมือนกันเลย และแม้จะต้องใช้เวลา แต่ในเมื่อเรายอมรับว่านี่คืองานชิ้นเอกชิ้นเดียว ก็ต้องทำ”

สำหรับการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2560 นี้ ดูเหมือนว่าการเรียกร้องให้ทบทวนและตรวจสอบจะยังอยู่ในสถานะอึมครึม แต่ผู้ทรงคุณวุฒิบนเวทีนี้ต่างมองผลลัพธ์ในอีกมุมหนึ่งว่า ความตื่นตัวของสังคมในเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม เป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง

            “การประชุมวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะเรื่องของพระปรางค์วัดอรุณ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจเหมือนเมื่อก่อน ที่จริงปฏิกิริยาเรื่องโบราณสถาน ศิลปกรรมมันมีมานานแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ครั้งนี้มันกว้างกว่า ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่สังคมไทยหันมาสนใจ ผมคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ดี”

            และเพื่อให้ความสนใจของสังคมแปรเปลี่ยนมาเป็นการปรับปรุงในเชิงนโยบาย อ.ศรีศักร ตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะผ่องถ่ายอำนาจการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมไปให้กับท้องถิ่น อย่าไปผูกขาดเรื่องศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกของชาติไว้ที่หน่วยงานเดียว กรมศิลปากรต้องร่วมมือกับท้องถิ่น เพราะถ้าไม่ทำนอกจากงบประมาณในแต่ละปีจะไม่เพียงพอในการดูแลรักษาแล้ว บุคลากรก็ไม่เพียงพอด้วย

            เรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในงานด้านอนุรักษ์นี้ อ.สันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมย้ำอยู่เสมอในระยะหลังๆ ว่าเมื่อคุณจะไปอนุรักษ์อะไรก็ตาม เมื่อคุณศึกษาอะไรต่ออะไรจนจบแล้ว คุณควรจะเชิญชาวบ้านมา เชิญพระมา แล้วมาบอกว่าคุณมีเหตุผลอย่างนี้ มีความคิดอย่างนี้ คุณจะบูรณะอย่างนี้ ให้เขารับรู้ ในการให้เขารับรู้เท่ากับให้เขาได้เรียนรู้ ได้ทำความเข้าใจเรื่องของการอนุรักษ์ด้วย”

            ที่สำคัญการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและเงื่อนไขมากมาย ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์เดียวมาเป็นตัวกำหนดได้ ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละงาน

            “ผมว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าจะเอาช่างฝีมือดีมาทำอีก ช่างเก่งๆ นั้นจำเป็นแน่ แต่ไม่ใช่เบื้องต้น เบื้องต้นคือความคิดของนักอนุรักษ์ ของนักโบราณคดี ของวิศวกร ของสถาปนิกที่ไปตรวจสอบเงื่อนไขทั้งหมดของสิ่งที่จะบูรณะ พอตรวจสอบเรียบร้อยก็มาหารือกันว่า ทิศทางอันนี้ ประวัติศาสตร์อย่างนี้ เงื่อนไขอย่างนี้ สภาพของโบราณสถานอย่างนี้ แล้วมาประมวลกันเป็นทิศทางว่าจะอนุรักษ์ในแนวนี้ๆ แล้วเมื่อไหร่มีทิศทางปั๊บมันก็จะคิดถึงวิธีการ คิดถึงวัสดุที่เหมาะสม แล้วถึงตอนนั้นช่างฝีมือดีถึงจะเข้าใจรับความคิดรับแนวทางมาดำเนินการ”

            ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลและกรมศิลปากรน่าจะได้ใช้บทเรียน เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

            “การที่สังคมมีความรู้สึกว่าสมบัติของชาติกำลังถูกคุกคาม มีการแสดงความเป็นเจ้าของมรดกนั้นสอดคล้องกับแนวทางในกฎบัตรฯที่พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วม และตรงกับเรื่องสิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ผมก็เลยมองว่าเหตุการณ์นี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องดีที่ทำให้คนมีความรู้สึกว่า ผลประโยชน์ของเรา มรดกของเรา เราต้องช่วยกันรักษา” ดร.วสุ กล่าวทิ้งท้าย

          แต่จะทำอย่างไรให้ความปรารถนาดีนั้นแปรไปเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติเพื่อรักษามรดกของชาติให้ยั่งยืนต่อไป ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่ควรจบไปเหมือนกับดราม่าเรื่องอื่นๆ