DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

ยังคงดูน่าสนใจแม้ว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง

ประเด็นการลงทุน

ถึงแม้ว่าราคาหุ้นของ DTAC จะปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ราคาหุ้น DTAC ณ ปัจจุบันก็ยังคงดูน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยอัตราส่วน EV/EBITDA ของหุ้น DTAC ณ ราคาปัจจุบันยังคงอยู่เพียงแค่ 6.5 เท่าในปี 2560 และ 7 เท่าในปี 2561 ซึ่งถือว่าถูกที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถ้าเปรียบเทียบกับอัตราส่วน EV/EBITDA ของ ADVANC ซึ่งอยู่ที่ 10.1 เท่าในปี 2560 และ 9.6 เท่าในปี 2561 ในขณะที่อัตราส่วน EV/EBITDA ของ TRUE อยู่ที่ 9.2 เท่าในปี 2560 และ 8.4 เท่าในปี 2561 อัตราส่วน EV/EBITDA เฉลี่ยของ DTAC ในช่วงปี 2555-59 อยู่ที่ 7.5 เท่าซึ่งคิดกลับมาเป็นราคาเป้าหมายได้ที่ 69 บาท ภายใต้สมมติฐานของอัตราส่วน EV/EBITDA ที่ 7 เท่า 8 เท่า และ 9 เท่าตามลำดับและมูลค่า EBITDA ต่อหุ้นในปี 2560 เราประเมินกลับมาเป็นราคาเป้าหมายของ DTAC ณ สิ้นปี 2560 ได้ที่ 63.5 บาท 74.5 บาท และ 85.25 บาทตามลำดับ DTAC ยังคงเป็นหุ้นที่เราชื่นชอบอันดับแรกในกลุ่มไอซีที เนื่องจากส่วนแบ่งรายได้บริการที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาวจากการได้ครอบครองคลื่นความถี่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมาจากดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซกับทีโอทีและการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซ 850 เมกะเฮิร์ซและ 2.6 กิกะเฮิร์ซของกสทช.ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561

ยังคงคาดเซ็นสัญญาดีลพันธมิตร 2.3 กิกะเฮิร์ซอย่างเป็นทางการในไตรมาส 4/60

บริษัทยังคงยืนยันว่าการเซ็นสัญญาดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซระหว่าง DTAC และทีโอทีมีแนวโน้มเกิดขึ้นในไตรมาส 4/60 และจนถึงปัจจุบันยังคงไม่มีอุปสรรคใดๆ ระหว่าง DTAC และทีโอทีในด้านข้อกฎหมายของตัวสัญญา ภายใต้สมมติฐานกรณีเลวร้ายที่สุดได้แก่ การเซ็นสัญญาล่าช้าออกไปเนื่องจากขั้นตอนของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ DTAC ยังคงคาดว่าการเซ็นสัญญาน่าจะเกิดขึ้นก่อนเดือนก.ย.2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัมปทานคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซและ 1.8 กิกะเฮิร์ซกับกสท.สิ้นสุดลง

เงินค่าอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลงและการทำตลาดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

กลยุทธ์การทำตลาดได้มุ่งเน้นไปยังการเปลี่ยนลูกค้าพรีเพดให้เป็นลูกค้าโพสต์เพด และนำลูกค้าพรีเพดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อรายที่อยู่ในระดับต่ำออกจากระบบ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดจะเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เลือกเฉพาะกลุ่มและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความชัดเจนมากขึ้นใน 6-12 เดือนข้างหน้า โดยจะเน้นไปยังสื่อทีวีและสื่อออนไลน์เป็นหลัก หาก DTAC เซ็นสัญญาดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซกับทีโอทีอย่างเป็นทางการเราคาดว่าแคมเปญทางการตลาดของ DTAC น่าจะเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้นแต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน เราคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการตลาดของบริษัทมีแนวโน้มทรงตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เนื่องจากการใช้เม็ดเงินด้านการตลาดผ่านสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การทำโครงข่าย 2.1 กิกะเฮิร์ซให้หนาแน่นขึ้นโดยติดตั้งโหนด 4 จีเพิ่มขึ้น

โครงการสร้างโครงข่าย 2.1 กิกะเฮิร์ซให้หนาแน่นมากขึ้นโดยตั้งเป้าติดตั้งโหนด 4 จีเพิ่มขึ้นอีก 4 พันจุดบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซภายในปี 2560 ยังคงคืบหน้าไปด้วยดี และโครงการดังกล่าวจะดำเนินการต่อเนื่องไปในปี 2561 ซึ่งจะเดินหน้าควบคู่ไปกับการติดตั้งโหนด 4 จีบนคลื่นความถี่สูงในอนาคต เพื่อที่จะทดแทนคลื่นความถี่ต่ำภายใต้สมมติฐานหากว่าราคาประมูลตั้งต้นของคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซถูกกำหนดให้สูงมากอย่างไม่มีเหตุผล ถ้าราคาประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซสูงเกินไป เราคิดว่าเงินก้อนดังกล่าวถ้านำเอามาใช้ขยายโหนด 4 จีเพื่อเพิ่มคาปาซิตี้ดูแล้วน่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า เนื่องจากปริมาณการใช้งานดาต้าที่มีจำนวนมากที่สุดยังคงอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น

มูลค่าเพิ่มในอนาคตจากผลประโยชน์ร่วมกับทีโอทีในธุรกิจบรอดแบนด์ประจำที่

จุดยืนของ DTAC ชัดเจนว่ายังคงไม่สนใจที่จะทำธุรกิจบรอดแบนด์ประจำที่ ณ ปัจจุบัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากบริษัทสามารถเซ็นสัญญาดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซกับทีโอที (ซึ่งน่าจะส่งผลให้มีแบนด์วิธที่มากเพียงพอ) และได้พันธมิตรทางธุรกิจอย่างชัดเจน (ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็นทีโอทีซึ่งเป็นพันธมิตรในดีลคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ) เราเชื่อว่า DTAC อาจจะหันมาพิจารณาทำธุรกิจบรอดแบนด์ประจำที่ในอนาคต ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมที่จะได้รับจากทีโอทีในส่วนของการใช้สายเคเบิ้ลที่ลากเข้าสู่บ้าน (last-mile cables) ของทีโอที