ประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้ต้องขังหญิง

ประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้ต้องขังหญิง

“Crafting Hope: Prison Handcraft Design Contest” การประกวดออกแบบเพื่อสังคม ยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมฝีมือผู้ต้องขังหญิง

เพื่อขยายผลข้อกำหนดกรุงเทพ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงอย่างเป็นรูปธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดการประกวดออกแบบ Identity Design และ Product Design ให้กับสินค้าหัตถกรรมฝีมือผู้ต้องขังหญิง โดยเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ร่วมประกวดในโครงการ “Crafting Hope: Prison Handcraft Design Contest” ชิงเงินรางวัลรวม 130,000 บาท โดยหวังยกระดับการออกแบบสินค้าราชทัณฑ์ผู้ต้องขังหญิงให้มีคุณภาพ มีความโดดเด่นและความทันสมัย เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างพื้นฐานงานอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคม และยังเป็นอีกหนึ่งความพยายาม ในการนำมิติการพัฒนามาเป็นเครื่องมือในการป้องกันการเกิดอาชญากรรมในอนาคต

โครงการฝึกอาชีพผู้ต้องขังหญิงประเภทงานหัตถกรรมถือเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในราชทัณฑ์ทั่วประเทศ  เพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และเป็นการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังสามารถเลี้ยงตนเองได้ในภายหลัง ที่ผ่านมา การอบรมเน้นที่การสร้างทักษะต่างๆ เป็นหลักแต่ยังไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนาสินค้ามากนัก ทำให้สินค้าที่ผลิตโดยผู้ต้องขัง ยังไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด จึงจำเป็นต้องทำการต่อยอดในส่วนที่ขาด เพื่อให้งานและทักษะที่สอนในเรือนจำ กลายเป็นทางเลือกที่ผู้ต้องขังจะนำไปประกอบอาชีพหลังพ้นโทษได้อย่างจริงจัง

ด้วยเหตุนี้ TIJ จึงจัดโครงการประกวดออกแบบเพื่อยกระดับงานหัตถกรรมฝีมือผู้ต้องขังหญิง ภายใต้ชื่อโครงการ “Crafting Hope: Prison Handcraft Design Contest” โดยแบ่งเป็นการประกวด 2 ประเภท คือ Identity Design ซึ่งเป็นการออกแบบอัตลักษณ์สินค้า เช่น ชื่อ และโลโก้  และ Product Designหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์พร้อมตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนในการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและยกระดับสินค้าหัตถกรรมที่ผู้ต้องขังหญิงผลิตให้ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในวงกว้าง และเพิ่มพูนศักยภาพให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพที่สุจริตสามารถเลี้ยงตนเองได้หลังพ้นโทษ และลดการกระทำผิดซ้ำ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในการป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ เราจำเป็นต้องเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างมิติการพัฒนา ในฐานะกลไกสำคัญในการป้องกันอาชญากรรม การฝึกอาชีพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังคืนสู่สังคม จะต้องเป็นการสร้างเสริมศักยภาพให้อดีตผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพสุจริตที่เลี้ยงตนเองได้ในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางSustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่เราจะต้องไม่ทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้เบื้องหลัง (No one is left behind)” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการประกวดจะมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานออกแบบเพื่อสังคม ในหัวข้อ “ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ต้องหญิงในประเทศไทย” โดยจะมีการลงพื้นที่จริงที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อให้ผู้เข้าประกวดได้เข้าใจถึงบริบทของกิจกรรมการฝึกอาชีพภายในทัณฑสถาน อันจะช่วยให้สามารถบอกเล่าเรื่องราวผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเห็นกระบวนการผลิตงานหัตถกรรมโดยผู้ต้องขัง เพื่อสามารถสร้างงานออกแบบที่มีคุณภาพและผู้ต้องขังสามารถผลิตได้จริง ดังนั้นการประกวดครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าแค่การออกแบบธรรมดา แต่เป็นการออกแบบเพื่อสังคม ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตผู้ต้องขังหญิงที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจโลกหลังกำแพงให้กับเยาวชนด้วย

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ กำหนดให้มีคุณสมบัติ คือ เป็นนิสิต นักศึกษาอายุ 16-26 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ได้รับการคัดเลือกPortfolio และผ่านการเข้าร่วม Workshop และลงพื้นที่เรือนจำ ที่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี ในวันที่ 22 กันยายน  2560 จึงจะมีสิทธิส่งผลงานเข้าร่วมประกวด  โดยสามารถส่งใบสมัครและ Portfolio ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 16 กันยายน 2560  และจะประกาศผลผู้ชนะการประกวด ในวันที่ 25 ตุลาคม2560

โดยรางวัลในการประกวดแบ่งเป็น ประเภท Identity Design รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท     จำนวน 1 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลชมเชย เงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท จำนวน 4 รางวัล  ประเภท Product Design รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท จำนวน        2 รางวัล

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.facebook.com/craftinghopeproject โดยหลังการประกวดสิ้นสุดลง TIJ จะใช้ผลงานที่ชนะการประกวดในการพัฒนาสินค้าจากผู้ต้องขังหญิงในอนาคต ร่วมกับเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง โดยกลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของ TIJ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าเพื่อให้เรือนจำที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แต่ละแห่งมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการขายและพัฒนาสินค้า ผ่านโครงการการฝึกอาชีพผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย โทร. 02-118-9400