'เวียงแหง' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ด้วย

'เวียงแหง' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ด้วย

เมื่อการ ‘รุกล้ำ’ ไม่ได้จบด้วยการ ‘ไล่รื้อ’ แต่การ ‘เรียนรู้’ ร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ทำให้คนอยู่ได้และป่าอยู่ด้วย

ปฏิเสธไมได้ว่า ‘คน’ เป็นเสมือนเครื่องจักรทำลายล้างทรัพยากรอย่างไม่เหลือซาก แต่บทบาทวายร้ายแห่งระบบนิเวศก็ไม่ได้มีมิติเดียวเสมอไป เพราะสำหรับคนที่มี ‘สำนึก’ ทรัพยากรธรรมชาติมีไว้ใช้อย่างพอดี และมองไปถึงความยั่งยืนมากกว่าแค่ใช้ไปวันๆ

            อย่างพื้นที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งห่างไกลจากเมืองเชียงใหม่ถึง 134 กิโลเมตร จนหลายคนไม่รู้จักว่ามีอำเภอนี้ด้วยหรือ? แต่ถ้าบอกว่าใต้ผืนดินอำเภออันไกลปืนเที่ยงแบบนี้คือแหล่งแร่ลิกไนต์ชั้นดี เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ภูเขากับป่าไม้มากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ และที่นี่เป็นต้นน้ำแม่แตง...ดูจะน่าสนใจขึ้นบ้างแล้วใช่ไหม?

            ความเนื้อหอมของเวียงแหงไม่ได้ถูกรับรู้แค่คนในพื้นที่ ทว่าเย้ายวนใจให้บรรดานายทุนเตรียมเข้ามา ‘ฮุบ’ อย่างไม่สนใจไยดี เรียกว่าทั้งคนนอก-คนใน อาจเป็นจิ๊กซอว์การทำลายที่ปะติดปะต่อกันแล้วคือ ‘มหันตภัย’

  • รุกล้ำ!

            อาจไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เพียงประโยคสั้นๆ ว่า “เวียงแหงมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่” น่าจะเข้าใจดี

            ...แต่นั่นคือเมื่อ 10 ปีก่อน!

            คนเวียงแหงเองยอมจำนนว่าเวียงแหงเปลี่ยนไปแล้ว เพียงเวลา 10 ปี ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ถูกทำลายจนกลายเป็นปัญหา ดินเสื่อม น้ำแห้ง และป่าหาย ว่ากันว่าสาเหตุมาจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะประชากรแฝง) รวมทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปคือทำเกษตรกรรมแบบย่ำยีธรรมชาติ

            “เมื่อก่อนเวียงแหงอุดมสมบูรณ์มาก แต่ภายหลังปริมาณน้ำฝนเริ่มน้อยลง น้ำแตงเริ่มแหง ไม่เหมือนอดีตเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำมักจะท่วมทุกปี แต่ช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมานั้น น้ำไม่เคยท่วมเลย น้ำแห้ง หลายจุดถึงขั้นต้องกั้นน้ำแตงออกเป็นแห่งๆ เพื่อให้ปลาได้อยู่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้น้ำในลำห้วยแม่แตงมากเกินไปและเพิ่มขึ้นทุกเรื่อยๆ จากการใช้น้ำเพาะปลูกกระเทียมกันเป็นพืชหลัก มาถึงตอนนี้เกษตรกรหลายรายเริ่มเปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวาน ยิ่งทำให้ใช้น้ำมากกว่าเดิม นอกจากนั้นยังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่นข้าวโพด จนเกิดเป็นการบุกรุกแผ้วถางป่า บางพื้นที่ไม่ได้บุกรุกแค่ปลูกข้าวโพด แต่บุกรุกเพื่อขายก็มี” อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเวียงแหงในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา

            ประมาณปี 2546-2547 กฟผ. ได้เข้ามาสำรวจแหล่งลิกไนต์ในพื้นที่บ้านปางป๋อ อำเภอเวียงแหง แน่นอนว่าลิกไนต์หรือถ่านหินซึ่งมีมากที่นี่จุดประกายให้เกิดความคิดสร้างเหมืองลิกไนต์เพื่อทำโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน แต่พลังงานประเภทนี้รู้กันดีว่าได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อจะมีผลกระทบกับคน กับธรรมชาติ คนเวียงแหงจำนวนมากจึงลุกฮือต่อต้าน จนเกิด ‘เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อำเภอเวียงแหง’ แต่ต้องยอมรับว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทว่าในที่สุดกรณีเหมืองลิกไนต์ก็เงียบไป เพราะแรงต้านทานจากหลายฝ่าย

            แม้เรื่องเหมืองจะซาไปแล้ว ทว่าปัญหาในพื้นที่ยังถูกเติมเชื้อไฟอยู่เรื่อยๆ เมื่อการใช้ทรัพยากรไม่ได้เกิดจากแค่คนเวียงแหงเท่านั้น แต่การไหล่บ่าของประชากรต่างด้าว รวมถึงพี่น้องชนเผ่าที่ไม่มีบัตรประชาชน หรือเรียกได้ว่าเป็นประชากรแฝง ณ ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าคนพื้นที่เสียอีก หากเทียบเป็นตัวเลขกลมๆ คนเวียงแหงที่เป็นคนไทยมี 30,000 คน ส่วนประชากรแฝงมีมากถึง 50,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนมากจะมาอยู่อาศัยและทำมาหากินระยะยาว

            ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ อธิบายว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่อยู่มาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากิน เช่น การหาของป่า หาเห็ด หาหน่อไม้ หาไข่มด ซึ่งเป็นการบริโภคประจำวัน จะถูกประชากรแฝงใช้ร่วม

            “รวมถึงการใช้ทรัพยากรต้นน้ำ ใช้ที่ดิน ใช้ป่า เพราะคนกลุ่มนี้มักจะบุกรุกป่า เพราะพวกเขาไม่มีที่อยู่ที่กิน อาจจะมีคนพื้นที่ให้ท้ายบ้าง”

  • ไล่ + รื้อ

            จากอดีตจนถึงปัจจุบัน บางปัญหาถูกแก้ไขไปแล้ว บางปัญหาหมุนวนเป็นคลื่นใต้น้ำ แต่มีหลายปัญหายังเกิดขึ้นและต้องแก้ไขกันต่อไป เช่น เรื่องประชากรแฝง และเรื่องบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งถ้าจะว่ากันตามกฎหมายการบุกรุกนั้นผิดแน่นอน แต่ในบริบทที่แตกต่างกันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

            เวียงแหงก็คล้ายที่อื่นๆ ที่มีประชากรอาศัยมานาน การจับจองพื้นที่ทำกินแต่เดิมคือต่างทำเอาของใครของมัน ยิ่งทำยิ่งบุกรุก ยิ่งไม่มีหน่วยงานควบคุมดูแลยิ่งเลยเถิด

            ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ อดีตพ่อหลวงบ้านปางป๋อ ปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อำเภอเวียงแหง บอกว่า “คนในอำเภอเวียงแหงที่อยู่ ที่ทำกิน ส่วนมากเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเขตอุทยานบ้าง ในป่าสงวนบ้าง ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าบ้าง ผลกระทบที่คนอำเภอเวียงแหงได้รับมีมาก เกิดจากการไม่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับพี่น้องประชาชน ถามว่าเกิดปัญหาไหม เกิด ถึงขั้นจับกัน เอาไปขึ้นโรงขึ้นศาล ชาวบ้านบางคนเขาไม่รู้กฎหมาย แต่คนที่รู้แล้วทำก็มีอยู่”

            ช่วงเวลา 10 ปีผ่านมา กรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และการใช้ที่ดินในพื้นที่เวียงแหงเริ่มขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น เกิดคดีความมากมาย ชาวบ้านถูกจับกุมข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่ากันอย่างถี่ยิบ  แน่นอนว่าปัญหาทำนองนี้ตัวละครหลักคือชาวบ้านและเจ้าหน้าที่

            ประธานเครือข่ายฯ เปรียบเทียบการทำงานของเจ้าที่ป่าไม้ในอดีตว่าเหมือนแมวจับหนู ซึ่งไม่มีวันจบ ชาวบ้านแค่หลบๆ ซ่อนๆ กระทำผิดอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ก็คอยไล่จับ ผลสุดท้ายคือกินข้าวด้วยกันไม่ได้ มองหน้ากันไม่ติด ซึ่งจะว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วเจ้าหน้าที่ก็ทำงานภายใต้กรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพียงแต่ว่าการบังคับใช้กฎหมายแบบสุดลิ่มทิ่มประตูคือทางออกจริงๆ หรือเปล่า แล้วการไล่ล่า ไล่รื้อ ช่วยให้พื้นที่ป่ากลับมาจริงหรือไม่
            คำตอบจากปากอดีตพ่อหลวงประสิทธิ์ คือ “ไม่!”

  • เรียนรู้

            จากข้อมูลทางสถิติ ระบุว่า คดีความว่าด้วยการบุกรุกขยายพื้นที่ลดลง จากเดิมปี 2556 จำนวน 16 คดี ในปี 2557 จำนวน 13 คดี ในปี 2558 จำนวน 11 คดี และในปี 2559 จำนวน 5 คดีเท่านั้น

            แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าที่พ่อหลวงประสิทธิ์บอกมานั้นสวนทางกับสถิติ เพราะสถิติที่ดีขึ้นนั้นเกิดหลังจากชุมชนจับมือกับภาครัฐ ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกือบจะบานปลายเป็นไฟลามทุ่ง โดยมีจุดเริ่มต้นคือ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือที่ยั่งยืนเป็นแม่ข่ายให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน สร้างความเข้าใจก่อน หลังจากเข้าใจบ้างแล้วอาจไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ให้ทำงานกันไป ค่อยๆ ศึกษากันไป แล้วนำความรู้เหล่านี้ไปคุยกับพี่น้องชาวบ้านในแต่ละชุมชน

            “ถ้าเราทำอย่างเดิม ป่าที่มันเขียวก็จะหมดไป แล้วผลกระทบจริงๆ ที่เห็นชัดเจน คือ ที่แม่น้ำปิงแห้งขอด แม่น้ำแตงก็แห้ง เดินข้ามฝั่งได้เลย เราต้องให้เขาเห็นภาพจริงๆ ว่ามันเกิดจากพวกเราทำหรือเปล่า จะต้องคิดกันแล้วว่าถ้าขืนทำแบบนี้ต่อไป ลูกหลานเราอาจไม่มีโอกาสทำมาหากินได้ร่วมกับป่าแน่นอน”

            หลังจากได้ข้อสรุปว่าควรทำอย่างไร จึงเกิดเป็นกฎเกณฑ์ขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน ว่าจะทำแนวเขต ซึ่งหมายถึงแนวเขตพื้นที่ทำกินที่อยู่ในป่าสงวน ในเขตอุทยานต่างๆ สมมติว่า นาย ก มีอยู่ 5 ไร่ก็ต้องมีอยู่แค่ 5 ไร่เท่านั้น...ไม่งอก

            “ตลอดเวลา 4 ปีที่ ทำแนวเขต ถามว่าง่ายไหม ไม่ง่ายหรอกครับ การพูดคุยให้เขาเข้าใจให้คล้อยตามเรานั้นยากพอสมควร แต่ทำไปเรื่อยๆ ให้มันเกิดผลทีละนิดทีละหน่อย จนเดี๋ยวนี้เกือบได้ทั้งอำเภอแล้ว จากเดิมเริ่มกันที่ 3-4 หมู่บ้านเท่านั้น”

            กลวิธีที่งัดออกมาใช้มีหลากหลาย ตั้งแต่วิธีที่แฝงด้วยความเชื่อ อาทิ การบวชป่า วิธีการทั่วไปอย่าง การปลูกป่า การทำแนวกันชนธรรมชาติ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมอย่างการใช้ จีพีเอส (GPS) ซึ่งไม่ใช่แค่เปิดกูเกิลแมพแล้วจบๆ ไป เพราะต้องจับมือกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเข้าใจตรงกัน ก็เลือกคนร่วมสำรวจแนวเขต 5-10 คน ร่วมกับทีมแผนที่ ทีมสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ของมูลนิธิ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่รับผิดชอบในพื้นที่มาอบรมชาวบ้าน 1-2 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้การใช้เครื่องมือ ทั้งเครื่องมือวัดค่าพิกัดบนผิวโลกจากดาวเทียม (GPS) การอ่านแผนที่ การใช้กล่องถ่ายรูป

            “ที่เราทำตอนนี้ เราแยกเป็น 2 ข้อมูล ตามมติ ครม. ทางอุทยานเขาก็มาช่วยจับจีพีเอสแปลงถือครอง ซึ่งก็เกิดความมั่นคงระดับหนึ่ง แล้วทีหลังมีมติ ครม. ปี 2545 จะทำอย่างไร พี่น้องเขาทำกินกันแล้ว คนในชุมชนยังเป็นคนในชุมชนจริงๆ ไม่ใช่นายทุน เพราะฉะนั้นคนที่มีมากสุดก็ไม่น่าเกิน 15 ไร่ ส่วนมาก 3-4 ไร่ หรือประมาณ 5-6 ไร่ เราก็กลับมาทำข้อมูลกัน ที่เป็นมติ ครม. ก่อนหรือหลังปี  2545 ก็ให้ทางอุทยานดูแลกันไป แล้วพื้นที่ทำกินตามความจำเป็นจริงๆ เราก็เอาคณะกรรมการในชุมชนช่วยกันดูแล คือ ทั้งให้ความมั่นคงแก่เขา คนที่ไม่มีที่ทำกิน ถ้าไปยึดเขาหมด เขาจะกินอะไร สรุปคือเราทำไปพร้อมๆ กัน ทั้งทำกิน และไม่รุกล้ำเพิ่ม” ประสิทธิ์ กล่าว

            ด้าน ศรัณยวิทย์ ทอดเสียง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดง อธิบายเพิ่มเติมว่า การมีส่วนร่วมแบบนี้ทำให้ได้ผลดีกว่าการที่ฝ่ายรัฐมองแค่ “ป่าของฉัน พื้นที่ของฉัน ฉันจัดการเอง” นั่นทำให้ชาวบ้านถูกกีดกันทั้งการดำรงชีพและการอยู่อาศัย กลายเป็นความบาดหมางเสียเปล่าๆ แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องไม่บกพร่องด้วย

            “เราเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาร่วมกัน ให้รับรู้ว่าอะไรเกิดกับเขา แล้วมาร่วมกันคิดแก้ไข โดยเราต้องเข้าใจบริบทว่าเราต้องการป่า คนต้องอาศัยป่า ถ้าเราดูแลเฉพาะคนแล้วป่าพัง ป่าวอดวาย ก็เป็นปัญหาอีก และถ้าเราดูแลแต่ป่า คนทำกินหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงต้องเกิดการจัดการร่วม”

             เขาเล่าต่อว่า ลำพังเจ้าหน้าที่ดูแลผืนป่าจำนวนมหาศาลไม่ไหวแน่นอน ชาวบ้าน ผู้นำ และจิตอาสา คือกระจิบข่าวที่จะคอยแจ้งว่าพื้นที่ใดถูกบุกรุก ตรงไหนมีลักลอบตัดไม้บ้าง กฎกติกาชุมชนจะช่วยยับยั้งในระดับหนึ่ง ทั้งห้ามตัดไม้ ห้ามบุกรุก และปัญหายอดฮิตของหลายพื้นที่คือห้ามขายที่ให้แก่คนนอกพื้นที่ หลายคนสงสัยว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ เขาตอบว่าได้ผล เพราะนี่คือกติกาสังคม แรงกว่ากฎหมาย เพราะกฎหมายกว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน แต่มาตรการทางสังคมบีบคั้นได้ในระดับวิถีชีวิตเลยทีเดียว

          ทั้งกฎหมู่ ทั้งกฎหมาย ทำให้ผลลัพธ์คือพื้นที่ป่ากลับคืนมาอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่คนเวียงแหงก็ยังมีที่ดินทำกินอย่างพอกินพอใช้ แต่ถ้ามองให้รอบ 360 องศา การเกิดขึ้นของเมล็ดพันธุ์การอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยั่งยืนทำนองนี้ มีรากจากการทำงานร่วมกันทั้งรัฐและชุมชนบนจุดร่วมที่พอเหมาะพองาม เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความเข้าใจ