'พลังงาน' รับนายกฯ สั่งชะลอซื้อไฟฟ้า 'สตึงมนัม' ในกัมพูชา

'พลังงาน' รับนายกฯ สั่งชะลอซื้อไฟฟ้า 'สตึงมนัม' ในกัมพูชา

"พลังงาน" รับนายกฯ สั่งชะลอซื้อไฟฟ้า "สตึงมนัม" ในกัมพูชา รอ ก.เกษตรฯ ศึกษาให้ชัดน้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้หรือไม่ ยันโครงการมีประโยชน์ต่ออีอีซี ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงไฟฟ้าภาคตะวันออก ซึ้ค่าไฟ 10.75 บาทต่อหน่วยเป็นแค่กรอบประเมินสูงสุด

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ขนาด 24 เมกะวัตต์ ในประเทศกัมพูชาออกไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความชัดเจนว่าความต้องการใช้น้ำ และแหล่งน้ำในประเทศจะมีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวหรือไม่ หลังกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้


"โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมที่ถูกสั่งชะลอ ไม่น่าจะเกิดจากความขัดแย้งด้านนโยบาย แต่น่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลมากกว่า ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ คงจะต้องศึกษาใช้ชัดว่าต้องการใช้น้ำหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการโครงการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น และถ้าไม่ดำเนินโครงการนี้เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเอาน้ำจากไหนก็ต้องศึกษาให้ชัดด้วย" นายประเสริฐ กล่าว


ส่วนประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ในราคาแพงถึง 10.75 บาทต่อหน่วยนั้น ยืนยันว่าการวิเคราะห์ต้นทุน ผลตอบแทนการลงทุนต่างๆ เป็นไปตามระบบที่ศึกษาความเหมาะสม และคำนวนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งต้องมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ส่งน้ำมันผ่านภูเขา ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้าง ประเมินเบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท และเป็นราคา maximum ซึ่งทุกๆ 10.75 บาทต่อหน่วย นอกจากจะได้ไฟฟ้า 1 หน่วย บนพื้นฐานต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ไทยผลิตได้อยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย และยังได้น้ำอีก 3 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 2.80 บาท และน้ำอย่างน้อยปีละ 300 ล้านลูกบาศ โดยกำหนดได้ว่าจะให้ตอนช่วงหน้าแล้งเท่านั้น หรือจะให้ส่งน้ำมาตลอดทั้งปีก็ได้ และมีข้อผูกผันในการส่งน้ำเป็นเวลา 50 ปี

ขณะที่ปริมาณผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 24 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่โครงการมีปริมาณน้ำจำนวนมากนั้น เพราะมองว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มีไม่มาก หากผลิตไฟฟ้ามากขึ้นจะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นไปด้วย

นายประเสริฐ กล่าวว่า โครงการนี้หากประเทศไทยไม่ต้องการใช้น้ำจากกัมพูชา ก็ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการนี้ เพราะไม่ได้มีประเด็นต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงพลังงานดูแลได้อยู่แล้ว แต่วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือเรื่องน้ำ โดยการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะพิจารณาบนพื้นฐาน 4 ข้อ คือ ปริมาณที่เหมาะสม,พื้นที่ที่ต้องการ,ราคาที่ต้องไม่แพงกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ และช่วงเวลที่เหมาะสม ซึ่งโครงการนี้ทางกัมพูชาประเมินว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6-7 ปี แต่คาดว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย


ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา ยาวนานกว่า 30-40 ปีมาแล้ว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นข้อสังการณ์ของนายกฯ เพราะภาครัฐได้ริเริ่มจัดทำโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และเป็นห่วงเรื่องการจัดหาน้ำให้เพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่หรือไม่ รวมถึงเมื่อวันที่ 18-19 ธ.ค. 2558 นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชา ได้หารือความร่วมมือโครงการเพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านพลังงาน และการบริหารจัดการน้ำร่วมกันแบบบูรณาการ พล.อ.ประยุทธ์ จึงสั่งการให้กระทรวงพลังงาน ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จึงเป็นที่มาในการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ(MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ แต่ยังไม่ได้มีการลงนาม MOU อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด