ชาวไทยเชื้อสายมอญร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง

ชาวไทยเชื้อสายมอญร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง

ชาวไทยเชื้อสายมอญบางขันหมาก อำเภอเมืองงลพบุรี แต่งชุดชนชาติมอญนำบุญหลานออกมาร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งวันสารไทย

พระปัญญาวุฒิวุฑะฒิโก (รุมรามัญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า มอญเป็นชนชาติหนึ่งที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด และในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ชาวมอญก็จะมาทำบุญที่วัดตามปกติ โดยการนำอาหารคาวหวาน ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดและดอกไม้ ธูปเทียน มาที่วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้เพื่อบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว 

20170905133218572

นอกเหนือจากนั้น ชาวมอญจะนำน้ำผึ้งมาใส่บาตร ชาวมอญบางท้องถิ่นก็มีการนำน้ำตาลมาใส่บาตรในครานี้ด้วยสาเหตุที่นำน้ำตาลทรายมาใส่บาตรนั้นก็คือ ทางวัดสามารถนำน้ำตาลทรายไปใช้กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของทางวัดได้บางพื้นที่ก็จะถวายน้ำผึ้งเป็นขวด แต่ตามวิถีโบราณนั้น การตักบาตรน้ำผึ้ง ผู้ที่นำน้ำผึ้งมาตักบาตร ต้องนำน้ำผึ้งมารินใส่ในบาตร เหมือนกับการใส่บาตรอาหารคาวหวานทุกประการแต่เพียงใส่น้ำผึ้งเพียงอย่างเดียว ในการตักบาตรน้ำผึ้งนั้น ชาวมอญเชื่อกันว่า เป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เพราะน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ พระภิกษุสงฆ์นั้นก็จะนำน้ำผึ้งไปผสมกับยา และปั้นเป็นยาลูกกลอนฉันตอนพระภิกษุสงฆ์อาพาธนอกจากนี้น้ำผึ้งยังเปรียบเสมือน ยารักษาโรค บำรุงร่างกายให้มีกำลังวังชาด้วยน้ำผึ้งจัดเป็น 1 ในเภสัชทาน 5 ชนิด ได้แก่ น้ำผึ้ง เนยใส เนยข้น น้ำมัน และน้ำอ้อยซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลดีต่อสุขภาพที่พระสงฆ์พึ่งฉันได้ปัจจุบันอนุโลมน้ำตาลเข้ามาร่วมด้วยถือว่ามาจากน้ำอ้อยนั่นเอง

โดยที่ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมืองลพบุรีแห่งนี้ ถือเป็นชุมชนชาวมอญที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี ชาวไทยเชื้อสายมอญก็จะใช้วัดอัมพวันเป็นศูนย์การของการรวมกันจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการสืบสาน วัฒนธรรม ประเพณี ต่างๆของชาวมอญเอาไว้ ซึ่งได้มีการนำลูกหลาน รวมถึงเด็กๆ เยาวชน ของชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรม เพื่อให้เด็กๆได้เข้ามารับวัฒนธรรมของชุมชนเอาไว้และร่วมกันสืบสานไม่ให้ประเพณีดีๆที่จัดทำกันมาเป็นร้อยๆปีต้องสูญหายไป

20170905133218890

สำหรับคติความเชื่อของชาวมอญที่ถวายน้ำผึ้งแด่พระสงฆ์

ตำนานที่ 1.สืบเนื่องมาจากตำนานที่ว่าได้มีพระปัจเจกกะโพธิ์รูปหนึ่งอาพาธประสงค์ที่จะได้นำน้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธนั้น วันหนึ่งได้ไปบิณฑบาตในชนบทที่ใกล้กับชายป่ามีชาวบ้านป่าคนหนึ่งเกิดกุศลจิตหวังจะถวายทานแด่พระปัจเจกกะโพธิ์ จึงนำน้ำผึ้งที่ตนได้เก็บไว้มาถวาย ด้วยจิตศรัทธาที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นและสูงส่ง ครั้นรินน้ำผึ้งลงไปในบาตร เกิดปรากฏการณ์อย่างอัศจรรย์ น้ำผึ้งเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตร และล้นบาตรในที่สุด ในขณะนั้นเองมีชาวบ้านผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงกำลังทอผ้าอยู่ เห็นความอัศจรรย์นั้น ด้วยจิตศรัทธาเกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระปัจเจกกะโพธิ์ จึงนำผ้าที่ทอเสร็จแล้วนำถวาย เพื่อใช้ซับน้ำผึ้งที่ล้นออกมาจากบาตร อานิสงส์ดังกล่าว ส่งผลให้ชายหนุ่ม เกิดในภพใหม่เป็นพระราชาที่เข้มแข็งมั่งคั่ง ส่วนหญิงสาวไปเกิดเป็นพระธิดาของกษัตริย์อีกเมืองหนึ่ง ที่มีความเข้มแข็งและมั่งคั่ง จากพุทธประวัติดังกล่าวจึงเกิดประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น รวมทั้งเกิดการถวายผ้ารองบาตรน้ำผึ้งด้วย ซึ่งบรรดาหญิงสาวจะช่วยกันปักผ้าอย่างสวยงาม ประณีต เพื่อถวายพระควบคู่กับการตักบาตรน้ำผึ้ง

ตำนานที่ 2.อานิสงส์ในการถวายน้ำผึ้งนี้ มีตำนานที่เกี่ยวกับ พระฉิมพลี หรือ พระสิวลี อีกทางหนึ่งที่ว่าในอดีตกาลครั้งที่สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระวิปัสสี พระสิวลีได้ถือกำเนิดเป็นชาวบ้านนอกในชนบท วันหนึ่งได้ไปในเมืองระหว่างทางกลางป่านั้น ได้พบรวงผึ้งจึงได้ไล่ตัวผึ้งให้หนีไปแล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้งเข้าไปในเมือง

ขณะนั้นเองในพระนคร พระราชา และชาวเมืองต่างแข่งกันทำบุญถวายทานแด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยขณะสงฆ์ ทั้งพระราชาและชาวบ้านต่างแข่งขันกันจัดสรรสิ่งของวัตถุทานอันประณีตมาถวาย เมื่อชาวบ้านนอกที่ถือรวงผึ้งมาจากป่า เดินผ่านเข้าประตูมา คนที่เฝ้าประตูเห็นรวงผึ้งซึ่งไม่มีใครนำมาถวายพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน จึงขอซื้อรวงผึ้งนั้น ชาวเมืองต่างปลื้มปิติรับ สาธุ ยินดีกับเจ้าของรวงผึ้งนั้น ด้วยอานิสงส์ในการถวายรวงผึ้งในครั้งนั้น เมื่อสิ้นอายุขัยของชายผู้ที่เป็นเจ้าของน้ำผึ้งได้ไปบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่ได้ช้านาน จึงจุติมาเป็นพระราชาในกรุง พาราณสี และเมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์แล้ว ได้อุบัติมาเป็นพระราชกุมารในพระมหาราชวงศ์ศากยราช ทรงพระนามว่าสิวลีกุมาร และเมื่อเจริญวัยได้ออกผนวช ในสำนักของท่านพระสารีบุตร จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และสมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภ พระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยกย่องว่า “ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องของผู้มีลาภ”

ไม่ว่าในการตักบาตรน้ำผึ้งตำนานไหนก็แล้วแต่ ชาวมอญยังมีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และยังทำบุญทำกุศลอย่างมิได้ขาด สิ่งสำคัญในการทำบุญนั้นต้องมีจิตใจที่เป็นกุศล เพราะชาวมอญเชื่อกันว่าการทำบุญที่เป็นกุศลนั้นจะส่งผลบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วได้สุขสบาย และยังส่งผลให้ตนเองเป็นกำลังในการออมบุญซึ่งเป็นอานิสงส์ไว้ในชาติภพหน้าให้สุขสบาย

อย่างไรก็แล้วแต่ชุมชนมอญในแต่ละที่ ชาวมอญยังสืบทอดปฏิบัติ ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งมิให้สูญหายไปจากชุมชน