จิสด้าส่ง ‘จี-มอส’ วิเคราะห์ข้อมูลน้ำเรียลไทม์

จิสด้าส่ง ‘จี-มอส’  วิเคราะห์ข้อมูลน้ำเรียลไทม์

จิสด้าใช้เวลา 3 ปีพัฒนาระบบผลิตแผนที่กลางออนไลน์ในชื่อ “จี-มอส” ประยุกต์ใช้ประโยชน์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม 8 ดวง หนุนหน่วยงานรัฐใช้บริหารจัดการน้ำทั้งภาวะปกติและวิกฤติ นำร่องใช้งานโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เปิดเผยว่า ระบบผลิตแผนที่กลางออนไลน์ หรือ จีมอส (G-MOS: GISTDA map online service) เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ในงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีความถูกต้องและมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งจะทำให้กระบวนการผลิตแผนที่ในอนาคตมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและทันเหตุการณ์มากขึ้น

จี-มอสเปรียบเสมือนข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ประกอบด้วย ข้อมูล 3 ส่วนหลักคือ แผนที่พื้นฐาน แผนที่ในสถานการณ์ปกติ เช่น พื้นที่การเกษตร ซึ่งจะอัพเดทข้อมูล 1-2 สัปดาห์ และแผนที่ในภาวะวิกฤติที่จะให้ข้อมูลและแผนที่แบบวันต่อวัน ทั้งยังเป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว และบูรณาการข้อมูลจากหลายแหล่ง ในอนาคตจะเชื่อมโยงกับ IoT และเซนเซอร์ต่างๆ

จิสด้าใช้เวลาประมาณ 3 ปีพัฒนาจีมอส โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม 8 ตัว ร่วมกับข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ที่แชร์เข้ามาในระบบเพื่อการประมวลผลที่แม่นยำและครบถ้วน

จี-มอสจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเมื่อทุกภาคส่วนนำระบบนี้ไปใช้จริง ทั้งทางตรงเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำของพืชเกษตร หรือแม้กระทั่งภัยทางทะเล ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือ การต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ในงานเฉพาะด้านเพื่อบริหารจัดการน้ำ

เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ได้นำชั้นข้อมูลแผนที่น้ำท่วมไปใช้ดูทิศทางการไหลของน้ำ สามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ส่วนกรมชลประทานสามารถนำชั้นข้อมูลดัชนีความเครียดของการขาดน้ำ ความต้องการการใช้น้ำของพืช มาพิจารณาการปล่อยน้ำให้กับพื้นที่โครงการส่งน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมืองสามารถนำข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ไปช่วยพิจารณาและตัดสินใจก่อสร้างเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดน้ำท่วมในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม จิสด้าอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการใช้ข้อมูลและแผนที่ออนไลน์เหล่านี้ เข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ http://tms.gistda.or.th/gmos ในขณะเดียวกันผู้ที่สนใจก็สามารถเข้าถึงได้

พร้อมบริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้านนายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ. ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ข้อมูลจากจิสด้า ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงรายงานที่ไม่เรียลไทม์ ทำให้ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายแหล่งมาวิเคราะห์ จนกระทั่งจี-มอสได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นข้อมูลกลาง ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลน้ำที่หลากหลายในแหล่งเดียว

ปภ.ใช้ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อคาดการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งรวมถึงสถานการณ์อื่นที่ไม่ใช่เรื่องน้ำ จี-มอสจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น คาดการณ์เรื่องสถานการณ์ฝนที่ต้องตรวจสอบข้อมูลจากจี-มอสทุกเช้า-บ่าย โดยโฟกัสในพื้นที่น้ำท่วมขังอยู่แล้ว เช่น กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หากเจอปริมาณน้ำฝนมากก็มีปัญหาน้ำท่วมขัง หน่วยงานท้องถิ่นก็จะแจ้งเตือนประชากรให้พร้อมรับมือได้

"ปภ.ต้องการให้จิสด้าอบรมการใช้จี-มอสให้กับเจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ทราบวิธีการใช้และประมวลผลข้อมูลต่างๆ ในขณะเดียวกันก็คาดหวังที่จะนำไปปรับใช้ในการดูแลเรื่องหมอกควันไฟป่า อีกด้วย นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องของข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังให้ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลโดยที่หน่วยงานผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีระบบผลิตแผนที่เอง ไม่ต้องลงทุนทางด้านฮาร์แวร์ เพียงแต่มีระบบอินเตอร์เน็ตก็จะสามารถเข้าถึงระบบผลิตแผนที่กลางแบบออนไลน์ได้ สามารถพัฒนาต่อยอดตามภารกิจของตนเองได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย” นายกอบชัยทิ้งท้าย