ค้าปลีกลงทุนแสนล้านแข่งสร้าง‘เมืองใหม่’โซนตะวันออก

ค้าปลีกลงทุนแสนล้านแข่งสร้าง‘เมืองใหม่’โซนตะวันออก

ยักษ์ค้าปลีกโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เดินหน้าปั้น “เมืองใหม่-มิกซ์ยูส” เต็มสูบ รับเมกะโปรเจคอีอีซี-การขยายโครงข่ายคมนาคม หนุนแรงซื้ออนาคต “ซีคอน” รอจังหวะลงทุน“ซีคอน ซิตี้” ชู ยูนีค เดสทิเนชั่น  ประชัน เมกาซิตี้-แบงค็อกมอลล์

เมกะโปรเจคภาครัฐฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ที่มีการขยายโครงข่ายคมนาคมเชื่อมการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) รถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) รวมทั้งการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) มุ่งพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา หนุนศักยภาพการเติบโตของกำลังซื้อและเศรษฐกิจโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เชื่อมต่อภาคตะวันออก เป็นขุมทองดึงดูดการลงทุนทุกแขนงสะพัดนับแสนล้านบาท

นายตะติยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง กำหนดเปิดให้บริการปี2563ทำให้ศักยภาพของพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลและรอการเปิดใช้ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเพื่อวางแผนการลงทุนเมกะโปรเจค “ซีคอน ซิตี้” อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ โครงการซีคอน ซิตี้ จะเป็นเมกะโปรเจคบนที่ดิน 120 ไร่ อยู่ในแผนลงทุนระยะ 5-7 ปี (2560-2566)  เป็นส่วนขยายและต่อยอดศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ พื้นที่ 77  ไร่ในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ประเมินการลงทุนเบื้องต้นราว 1.5  หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนในอนาคตมูลค่าการลงทุนจะขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

“เราไม่รีบ รอรถไฟฟ้ามาก่อน ทำอะไรมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ต้องศึกษาให้รอบคอบ มิกซ์ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และความต้องการของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ”

ค้าปลีกโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก มีการแข่งขันสูง การทำโครงการขนาดใหญ่ต้องพิจารณาผลตอบแทนว่าคุ้มหรือไม่ มีจุดขายที่โดดเด่นอย่างไร รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ของผังเมืองที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงการให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างไร

มุ่งยูนีคเดสทิเนชั่น

อย่างไรก็ดี กลุ่มซีคอน ได้วางยุทธศาสตร์ธุรกิจมุ่งสู่ “ยูนีค เดสทินชั่น” เป็นกรอบในการวางกลยุทธ์การลงทุน การทำตลาด การพัฒนาพื้นที่ กิจกรรมการตลาดและส่งเสริมการขาย ซึ่ง “ความแตกต่าง” เป็นสูตรสำเร็จฉีกจากคู่แข่ง และดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการด้วยความแตกต่าง

นายตะติยะ ย้ำว่า ธุรกิจมีการแข่งขันรุนแรงตลอดเวลา ความได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่ที่ธุรกิจสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งแต่สอดคล้องความต้องการของลูกค้าเป้าหมายได้อย่างไร จะนำสู่การเติบโตและยั่งยืนของธุรกิจ

เบื้องต้น ปีหน้า ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ จะใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับพัฒนาพื้นที่ภายในให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อีเวนท์  จะถูกกระจายมากขึ้นนอกเหนือจากพื้นที่ลานกลาง

แจ้งเกิดเมกาซิตี้ 6.7หมื่นล้าน

ทางด้านยักษ์ใหญ่ “เมกาบางนา” ยึดหัวหาดถนนบางนา-ตราด กม.8 เปิดบริการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคในรูปแบบ “ซูเปอร์ริจินัลมอลล์” พร้อมวางแผนพัฒนายาวต่อเนื่อง 14 ปีจากนี้ แจ้งเกิดโครงการเมืองสมบูรณ์แบบ “เมกา ซิตี้” มูลค่า 67,000 ล้านบาท

นายคริสเตียน โอลอฟสัน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเมกาบางนา และโครงการเมกาซิตี้บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนธุรกิจไว้ว่า  เมกา ซิตี้ เป็น มิกซ์ยูส บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ ต่อยอดโครงการศูนย์การค้าเมกาบางนา แบ่งการพัฒนาเป็นหลายเฟส ประกอบด้วย โรงแรม 2 แห่ง อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย ส่วนต่อขยายของศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม ธีมปาร์ค และอื่นๆ โดยเปิดกว้างพันธมิตรผู้สนใจร่วมพัฒนาทุกรูปแบบ อาทิ ร่วมทุน เช่าพื้นที่ ล่าสุดได้ตัดขายที่ดิน 5 ไร่ ให้กลุ่มอสังหาฯ เพื่อพัฒนาคอนโดมิเนียมเรียบร้อยแล้ว

“เมกา ซิตี้ จะเป็นศูนย์กลางในการใช้ชีวิตและทำงาน ตอบโจทย์ทุกความต้องการทั้งชอปปิง พบปะสังสรรค์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์”

ปลายปีที่ผ่านมา เมกาบางนา ใช้งบ 2,550 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ ส่วนต่อขยายของศูนย์การค้า ซึ่งเพิ่มร้านอาหารอีกกว่า 40 ร้าน อาคารจอดรถรองรับได้ 1,200 คัน ปีนี้ลงทุนอีก 250 ล้านบาท พัฒนาส่วนต่อขยายของศูนย์การค้าอีก 2 เฟส เป็นศูนย์รวมความบันเทิง สันทนาการ กีฬา และการศึกษา

ปั้นแบงค็อกมอลล์ใหญ่สุด

ขณะที่กลุ่มเดอะมอลล์ ใช้เวลาหลายปีกว้านซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่ บริเวณต้น ถ.บางนา-ตราด ตรงข้ามกับศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาเพื่อพัฒนาโครงการ “แบงค็อก มอลล์” มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทคิดเป็นพื้นที่โครงการ 6.5 แสนตร.ม. หากนับรวมพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นแม่เหล็กคาดมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 1 ล้านตร.ม. มูลค่าโครงการรวมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท เป็นการสร้างเมืองแห่งการค้าและเศรษฐกิจ ประกอบด้วยอาณาจักรศูนย์การค้าครบวงจร ที่อยู่อาศัย สำนักงาน ธีมพาร์ค รองรับการขยายตัวของเมืองในทิศตะวันออกยาวถึงพัทยา-จันทบุรี

อัพเกรด‘เซ็นทรัลบางนา’ฉีกคู่แข่ง

ขณะที่ นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า ได้ใช้งบประมาณ 4,500 ล้านบาท  ปรับโฉมเซ็นทรัล พลาซา บางนา ใหม่ ภายใต้ภาพลักษณ์หรูหรา ภายใต้ธีม Lifestyle Companion Shopping พร้อมสร้างแอทแทรคชั่น  เช่น  เซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นสโตร์ โฉมใหม่ คอนเซปต์  “LUXURY TEMPORARY” เพิ่มแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ อาทิ อีฟแซงโรลองต์ ลองชอมป์ เฟรซ ทอม ฟอร์ด รวมทั้งโซนใหม่ ลักซ์ แกลเลอเรีย วูแม่น แอ็คทีฟ แวร์  เมน กัดเจ็ด แม่เหล็กใหม่  เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ อาณาจักรอาหาร  ฟู้ด พาทิโอ’

“ทำเลบางนากำลังจะเป็นทำเลแห่งอนาคตภายใน 2-3 ปีนี้ เพราบริเวณโดยรอบ มีเขตที่อยู่อาศัยและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานระดับเอ็กซ์เซคคลูทีฟ และมิดเดิลแมเนจเมนท์ ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการชอปปิง ทำกิจกรรมนอกบ้าน"

อนาคตยังมีจะมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน โครงการรถไฟรางคู่ขนาดเบา สายบางนา–สุวรรณภูมิ  สะดวกต่อการเดินทางด้วยทางด่วน และมุ่งหน้าออกต่างจังหวัดได้สะดวกด้วยมอเตอร์เวย์สู่ภาคตะวันออก จังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียงอย่างพัทยาและชลบุรีอีกด้วย

ธัญญาพาร์คปักหมุด‘แลนมาร์ค'

นายวันชัย จันทร์วัฒรังกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธัญวิลล์ จำกัด ผู้บริหารโครงการธัญญา พาร์ค ศูนย์การค้าสไตล์โมเดิร์น อีโค ไลฟ์สไตล์ มอลล์ ย่านศรีนครินทร์ กล่าวว่า ค้าปลีกโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก กินอาณาเขตย่านบางนา-ตราด, บางกะปิ-ศรีนครินทร์ รวมทั้ง บางกะปิ-พระราม9-พัฒนาการเป็นถนนสายหลักที่มีผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งยักษ์ใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก หลากหลายรูปแบบปักหลักให้บริการ กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ภายใน 5 ปีนี้ จากการขยายโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานีเริ่มจากสถานีรัชดา เชื่อมต่อรถไฟใต้ดินลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ เทพารักษ์ สิ้นสุดที่สำโรง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.4 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี ผ่านศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง 12-หัวหมาก-บ้านม้า-สุวินทวงศ์

 "รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองถูกกำหนดให้เป็นโปรเจคเร่งด่วนในการเร่งก่อสร้างและเปิดใช้บริการภายใน 2-3 ปี ทำให้ภาคธุรกิจตื่นตัวรับโอกาสทางการตลาดจากการเติบโตของกำลังซื้อและฐานลูกค้าใหม่"

สำหรับธัญญา พาร์ค จะมีสถานี“คลองกลันตัน”เชื่อมต่อเข้าโครงการโดยตรง สร้างความได้เปรียบในการดึงลูกค้าคาดว่าปริมาณเพิ่มขึ้น“เท่าตัว”ในทันที แนวทางหลักของ ธัญญา พาร์ค จะเร่งต่อจิ๊กซอว์ทุกตัวเข้าด้วยกันเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้าที่ไม่เคยมา ให้เข้ามามีประสบการณ์กับ“อีโคมอลล์”

ธัญญา พาร์ค ธุรกิจของ ธนิยะ กรุ๊ป กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นที่รู้จักกันดีในนาม ธนิยะ พลาซ่า บนถนนสีลม รวมทั้งธุรกิจอาคารสำนักงานต่างๆ เป็น “จุดแข็ง” ที่ถูกผนวกเข้ามาใช้ในการพัฒนาและต่อยอดโครงการธัญญา พาร์ค ที่วางแนวทางสร้างความน่าสนใจ แอทแทรคชั่นต่างๆ ตอกย้ำความเป็น“แลนด์มาร์ค”ของโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก