เถ้าแก่น้อยอินเตอร์ โมเดลสร้างคนสร้างธุรกิจ

เถ้าแก่น้อยอินเตอร์ โมเดลสร้างคนสร้างธุรกิจ

พนักงานรุ่นใหม่ในเครือซีพี 250 คนจาก 3 ประเทศ ไทย จีนและอินเดีย เป็นผลผลิตรุ่นแรกจากหลักสูตร “เถ้าแก่น้อยอินเตอร์” โมเดลการพัฒนาผู้นำเพื่ออนาคตเครือเจริญโภคภัณฑ์จากแนวคิดของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

พนักงานรุ่นใหม่ในเครือซีพี 250 คนจาก 3 ประเทศ ไทย จีนและอินเดีย เป็นผลผลิตรุ่นแรกจากหลักสูตร “เถ้าแก่น้อยอินเตอร์” ขณะที่อีกประมาณ 200 กว่าคนเพิ่งเข้าหลักสูตรได้ 1 เดือน ยังเหลือเวลาฝึกอบรมอีก 5 เดือนก็จะประกาศตัวเป็นเถ้าแก่น้อยรุ่นที่ 2 ตามมา


เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีกำลังริเริ่มหลักสูตรการสร้างผู้นำเพื่ออนาคตเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เถ้าแก่) หรือ CP Future Leaders Development Program (FLP) เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีทักษะความเป็นผู้นำควบคู่กับทักษะการพัฒนาไอเดียทางธุรกิจ พลิกโฉมจากโมเดลพัฒนาคนในอดีตที่ให้ความสำคัญกับความชำนาญเฉพาะทาง


โมเดลการพัฒนาคนจากแนวคิดของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือซีพี คือ การสร้างเถ้าแก่เพื่อให้เป็นผู้นำไปสร้างผู้นำรุ่นต่อไป หากสร้างคนที่มีทักษะที่ดีเป็นผู้นำได้เพียงคนเดียว ก็จะสามารถไปสร้างคนที่เก่งให้กับโลกได้อีกจำนวนมาก ขณะที่การพัฒนาคนในรูปแบบเดิมๆ ที่เน้นการสร้างทักษะ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการทำงานมากขึ้น อาจไม่ตอบโจทย์ธุรกิจยุค 4.0 ที่ต้องการทั้งความคิดสร้างสรรค์ และการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป


“ทักษะและความชำนาญ แม้จะยังเป็นเรื่องจำเป็น แต่เรื่องของไอเดียและมุมมองใหม่ของธุรกิจก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อยุคสมัยเดินไปข้างหน้า โมเดลใหม่ของการพัฒนาคน จึงไม่ใช่เรื่องทักษะความชำนาญเฉพาะทางอีกต่อไป หากเป็นการพัฒนา “ไอเดียทางธุรกิจ” เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ” เจ้าสัวธนินท์ กล่าว


โมเดลการพัฒนาคนจากแนวคิดของเจ้าสัวธนินท์ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน แต่การพัฒนาคนแบบไหนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดทั้งกับสังคมและภาคอุตสาหกรรม ด้วยการคัดเลือกพนักงานรุ่นใหม่ในเครือซีพีจากทั่วโลกมาเข้าคอร์สบ่มเพาะไอเดียทางธุรกิจ เนื้อหาหลักสูตรทั้งหมดกว่าร้อยละ 90 มาจากการปฏิบัติจริง โดยใช้เวลาอบรมทั้งหมด 6 เดือน มีประชุมสรุปกลุ่มย่อยทุก2เดือน เพื่อสร้างผู้นำให้ได้ในทุกระดับ


หลักสูตรนี้มุ่งสร้างผู้นำรุ่นใหม่ เน้นให้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในทุกด้าน เสมือนเป็นเถ้าแก่เอง อีกทั้งได้สร้างความรู้จักและเกิดเป็นเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลก หลังจากนั้นผู้นำกลุ่มนี้จะสามารถสร้างธุรกิจของตัวเอง หรือสร้างผู้ประกอบรุ่นใหม่ต่อไปได้อีก
ไอเดียเถ้าแก่น้อยรุ่นแรกที่เริ่มทดลองตลาด อาทิ ร้าน PaPa’ Burger จุดขายคือเบอร์เกอร์กุ้งในที่ราคาเหมาะสมและรสชาติอร่อย เปิดขายสำหรับพนักงานที่เร่งรีบทำงานและต้องการอาหารที่มีประโยชน์ ใช้เวลารับประทานไม่มาก ส่วนอีกหนึ่งผลงานสำหรับผู้ที่นิยมราเมง ไม่ต้องบินไกลไปถึงญี่ปุ่น แต่มีธุรกิจ Ramen Habu ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับรูปแบบการบริการให้สะดวกเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนทำงานมากขึ้น ผู้สนใจสามารถชิมและใช้บริการได้ในตึก จี ทาวเวอร์ พระราม9


หลักสูตรพัฒนาธุรกิจของคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติและเปิดโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูก จนสามารถทำงานเป็นเถ้าแก่ตั้งแต่เริ่มทำงาน และยังเข้ามาช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหญ่ๆ ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ทำงานด้วยกันได้ดีขึ้น นายธนินท์ตั้งเป้าหมายสร้างธุรกิจใหม่ๆ จากไอเดียของเถ้าแก่น้อย 5 หมื่นร้าน และมีเถ้าแก่น้อยหน้าใหม่ๆ ประจำร้านประมาณ 4 คนต่อร้าน รวมเถ้าแก่เกิดใหม่ทั้งหมดประมาณ 4 แสนคน ขณะที่ในจีนตั้งเป้าหมายสร้างเถ้าแก่ทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน


“เถ้าแก่น้อยต้องเรียนรู้ทุกอย่างทั้งการบริหารคน บัญชีและการบริหารเงิน หลักสูตรของเราต้องสอนให้ครบเพื่อให้ได้ซีอีโอที่รู้ทุกอย่าง ทางซีพีก็ไม่ได้กลัวว่าเมื่อเรียนรู้แล้วจะไปเปิดกิจการเป็นคู่แข่งเรา ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นการสร้างคนให้สังคม ถึงไม่อยู่ทำงานให้ซีพีแต่คนเหล่านี้ก็จะไปทำประโยชน์ให้สังคมได้” นายธนินท์ กล่าว


โมเดลพัฒนาคนที่ฉีกแนวออกจากกรอบเดิมๆ เปิดกว้างสำหรับไอเดียคนรุ่นใหม่โดยให้โอกาสลองผิดลองถูกจากประสบการณ์ทำงานจริง ไม่เพียงถือเป็นปรับตัวครั้งสำคัญของเครือซีพี ในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานให้กับองค์กรเพื่อเข้ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป