ยานยนต์ใต้น้ำ เครื่องมือสำรวจวิจัยใหม่ในมือ ปตท.สผ.

ยานยนต์ใต้น้ำ เครื่องมือสำรวจวิจัยใหม่ในมือ ปตท.สผ.

ยานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกล ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมตัวแรกที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยเพื่อใช้ในการศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเล บันทึกภาพต่อเนื่องนาน 5 ชม. ผลงานความสำเร็จปตท.สผ.ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา

ยานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกลตัวนี้ นับเป็นยานยนต์ใต้น้ำเพื่อปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมตัวแรกที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยเพื่อใช้ในการศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเล  ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใต้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   หากขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาไปยังเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม รวมทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมการรณาการด้านการศึกษาไปพร้อมกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศแล้วยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย 

ปตท.สผ.ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา โชว์ผลงานความสำเร็จการพัฒนายานยนต์ใต้น้ำ เพื่อการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลตัวแรกของไทย จะทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพราะเป็นภาพตามเหตุการณ์จริงแบบเรียลไทม์ ปตท.สผ.ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา โชว์ผลงานความสำเร็จการพัฒนายานยนต์ใต้น้ำ เพื่อการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลตัวแรกของไทย จะทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพราะเป็นภาพตามเหตุการณ์จริงแบบเรียลไทม์

การสร้างความเติบโตทางธุรกิจพร้อมกับการสร้างความสมดุลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความผาสุกของชุมชนและสังคม  กลายเป็นทิศทางซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศตื่นตัวและยึดถือปฏิบัติในยุคปัจจุบัน  ความยั่งยืนของภาคธุรกิจไม่ได้วัดด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนหรือผลประกอบการเท่านั้น แต่รวมถึงคุณค่าในการดำเนินงานที่ส่งมอบให้กับสังคมและชุมชนด้วย  ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบางรายนอกจากจะเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตแล้ว ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมและชุมชนไปพร้อมกัน  

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมต้นน้ำที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการประกอบธุรกิจ  เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่นอกจากจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้กับประเทศแล้ว ยังหันมาพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา ล่าสุดงานวิจัยและพัฒนายานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกลหรือ ROV (Remotely Operated Underwater Vehicle) เพื่อใช้ในงานสำรวจสภาพแวดล้อมทางทะเลตัวแรกของไทยซึ่งดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ประสบผลสำเร็จในระยะที่ 1แล้ว มีผลงานที่น่าพอใจและพร้อมที่จะนำไปใช้งานจริงเพื่องานสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมในทะเลในเร็ว ๆ นี้ 

ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนายานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกลร่วมกับภาคการศึกษาครั้งนี้ เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละมหาวิทยาลัยมาร่วมกันวิจัยและพัฒนา  เช่น ศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ รับหน้าที่นำทีมวิจัยและพัฒนาไปยังตำแหน่งส่งยานลงไปสำรวจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และมหาวิทยาลัยบูรพามีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ประเภทของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำได้ ดังนั้น การทำงานร่วมกันจะทำให้ทีมวิจัยและพัฒนาสามารถวิเคราะห์ ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน 

นายวินิตย์ หาญสมุทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารเทคโนโลยีและองค์ความรู้  ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการสำรวจและวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อม 
 ROV ตัวนี้จะนำมาใช้สำหรับการวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณแท่นปิโตรเลียมเป็นครั้งแรก  การนำ ROV มาใช้ในการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวัง สภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล จะทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพราะเป็นภาพตามเหตุการณ์จริงแบบเรียลไทม์ ช่วยให้วางแผนบริหารจัดการและดูแลสภาพแวดล้อมบริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และการที่มีสถาบันการศึกษาและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานพัฒนาและวิจัย ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เทคโนโลยีนี้สามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยรอบ 

ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะนักวิชาการผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการวิจัยและพัฒนายานยนต์ใต้น้ำแบบมีสายเพื่อใช้งานด้านสิ่งแวดล้อม  โดยการเพิ่มสมรรถนะของยานด้วยการพัฒนาระบบโซนาร์หรือเครื่องส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่สูง  เพื่อสำรวจสิ่งกีดขวางใต้น้ำ  มีระบบควบคุมเสถียรภาพเพื่อให้ยานยนต์ทำงานอย่างสมดุล มีระบบกล้องบันทึกภาพนิ่ง และกล้องบันทึกวีดีโอความละเอียดสูงและระบบสื่อสารกลับมายังคอมพิวเตอร์ควบคุมบนเรือ  จากการทดสอบการทำงานในทะเลจริงสามารถทำงานได้ที่ระดับความลึก  60 เมตร สามารถทำงานได้นาน  5 ชั่วโมงโดยการเก็บภาพแบบต่อเนื่อง  

ดร.สว่างทิตย์ กล่าวว่า ปตท.สผ. ได้มีแนวทางให้มหาวิทยาลัยพัฒนายานยนต์ใต้น้ำเพิ่มเติม ให้ทำงานได้ที่ระดับความลึก 300 เมตร เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการในน่านน้ำลึกในต่างประเทศได้ด้วย คาดว่าภายใน 5-10 ปีนี้ จะได้เห็นยานยนต์ใต้น้ำฝีมือคนไทยที่สามารถทำงานได้ที่ความลึก 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยและพัฒนาได้นำเสนอโครงการระยะที่  2 เพื่อพัฒนา ROV ให้ทำหน้าที่ได้มากกว่าเดิม เช่น เก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนใต้น้ำและวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ  ซึ่งจะสามารถทำให้การเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น

สำหรับต้นทุนในการผลิตยานยนต์ใต้น้ำแต่ละตัว  ทางทีมวิจัยและพัฒนาศึกษาพบว่าศักยภาพของบริษัทผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ สามารถผลิตชิ้นส่วนได้เองเกือบทั้งหมด โดยต้นทุนต่ำกว่าของต่างประเทศ วัสดุส่วนใหญ่กว่าร้อยละ  70 มาจากในประเทศ  ยกเว้นตัวเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์พิเศษบางชิ้นที่ต้องนำเข้า 

นายนลธวัช  สระทองนวล นักศึกษาที่ร่วมในโครงการกล่าวว่า ได้ประสบการณ์ที่มีค่าจากการเข้าร่วมโครงการ มีโอกาสนำความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนมาผลิตยานยนต์ใต้น้ำของจริง และนำการเรียนรู้จากของจริงไปต่อยอดในการเรียน ทำให้พัฒนาตนเองได้ดีขึ้น   นอกจากนี้ การทำงานร่วมกับเพื่อนจากหลายสถาบัน ทำให้ได้ประสบการณ์ในการปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานและระบบของหน่วยงานต่าง ๆ 

ด้านนายวิวรรธน์  ตุลาภรณ์พิพัฒน์  นักศึกษาอีกคนหนึ่งในโครงการกล่าวว่า ในการทำงานทำให้เข้าใจในวิชาที่เรียนมากขึ้น และรู้สึกภาคภูมิใจมากที่มีหน่วยงานหลัก ๆ ระดับประเทศหันมาสนใจด้านสิ่งแวดล้อม