‘ดุสิต’ลุยรับบริหารโรงแรมเพิ่ม12แห่ง ดันรายได้ต่างประเทศ50%

‘ดุสิต’ลุยรับบริหารโรงแรมเพิ่ม12แห่ง ดันรายได้ต่างประเทศ50%

แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรก การรายงานผลดำเนินงานของเชนโรงแรมไทยหลายแห่ง ไม่สดใสเท่าที่ควร แต่สำหรับกลุ่ม“ดุสิต” หนึ่งในผู้เล่นเก่าแก่ของตลาด ยังมองไปถึงการสร้างฐานเพื่อเติบโตใน “ระยะยาว” ทั้งในรูปแบบการลงทุนและการรับบริหาร

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรก กลุ่มดุสิตมีรายได้ลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปิดปรับปรุงซ่อมแซมโรงแรมที่ภูเก็ตและฟิลิปปินส์ ขณะที่อัตราเข้าพักเฉลี่ยโรงแรมในไทยอยู่ที่ราว 70%

ทั้งนี้รายงานข้อมูลของดุสิตระบุว่า ไตรมาส 2 รายได้ของธุรกิจโรงแรม 937.4 ล้านบาท ลดลง 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยโรงแรมในประเทศลดลง  12% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนในเชียงใหม่ลดลง ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น แต่สำหรับต่างประเทศ รายได้เพิ่มขึ้น 4% จากการปรับกลยุทธ์การตลาดในมัลดีฟส์ หนุนอัตราเข้าพักเฉลี่ยสูงขึ้น

ส่วนธุรกิจการรับบริหารโรงแรม รายได้ลดลง 12.8% โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโรงแรมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงแรมที่กวมเข้ามาชดเชย

นักท่องเที่ยวจีน ยังคงเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่สุดในหลายๆ ประเทศ การเปิดโรงแรมในจีน 5 แห่ง และกำลังจะเปิดอีก 22 แห่ง ใน 3-5 ปี จะเสริมความพร้อมและตอกย้ำความแข็งแกร่งแบรนด์ และยังเซ็นสัญญากับ วีแชตเพย์ รับบริการจ่ายเงินค่าห้องพักและบริการห้องอาหารและสปาที่โรงแรมดุสิตในจีนแล้ว รวมถึงเซ็นสัญญาในข้อตกลงความร่วมมือกับกลุ่มโดสเซ่นเพื่อขยายโรงแรมภายใต้แบรนด์ดุสิตปริ้นเซสกว่า 40 แห่งในจีนด้วย”

ขณะเดียวกัน ต้องจับตามองตลาดอินเดีย ที่เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของธุรกิจโรงแรมของไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ดูไบ พบว่าตลาดอินเดียเติบโตถึง 26%

สำหรับภาพรวมการทำธุรกิจช่วงครึ่งแรกปีนี้ ได้ลงนามในสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมเพิ่มขึ้น 12 แห่ง ประกอบด้วย จีน 3 แห่ง,เวียดนาม 2 แห่ง, ไทย 2 แห่ง, ฟิลิปปินส์, บังกลาเทศ, บาห์เรน, เนปาล,และ เอธิโอเปียประเทศละ 1 แห่ง และจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท คัลเลอร์ส อินเตอร์เนชันแนล จากญี่ปุ่น เพื่อยึดทำเลเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ

ส่วนโรงแรมและรีสอร์ทที่รับบริหารมี 29 แห่งใน 8 ประเทศ และภายใน 5 ปี คาดว่าจะมี 60 แห่งใน 17 ประเทศ ซึ่งเมื่อรวมทั้งประเภทที่เป็นเจ้าของเองและรับบริหารรวม 90 แห่งใน 25 ประเทศ ขณะที่สัดส่วนรายได้ปัจจุบัน ระหว่างในประเทศและต่างประเทศ อยู่ที่ 70 ต่อ 30 แต่ระยะยาวตั้งเป้า 50% เท่ากัน

ศุภจี กล่าวว่า แม้ครึ่งปีหลังไม่มีโรงแรมใหม่เปิดให้บริการ แต่ในปี 2561 จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง จากการเปิดโรงแรมอย่างน้อยอีก 8 แห่งใน ไทย, สิงคโปร์, ภูฏาน, บาห์เรน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, จีน และตุรกี และมองหาโอกาสเซ็นสัญญาเพิ่ม โดยมองไกลไปยัง “ยุโรป” รวมถึงตอกย้ำแบรนด์ในฐานตลาดเดิมเช่น ตะวันออกกลาง และจีน รวมถึง อินเดีย ที่เพิ่งเปิดสำนักงานตัวแทนการขายที่ มุมไบ เมื่อเร็วๆ นี้

แต่การขยายธุรกิจโรงแรมอย่างรวดเร็ว ยอมรับว่ามีความท้าทายคือ การเตรียมพร้อมด้านกำลังคน รวมถึงการเตรียมระบบการสนับสนุนการทำงาน การวางแผนทยอยปรับปรุงซ่อมแซมโรงแรมเดิม

ดุสิตยังมีไฮไลต์ที่รออยู่ไตรมาสที่ 4 คือ การเปิดตัวแบรนด์โรงแรมใหม่ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียล ไลฟ์สไตล์ ที่เชื่อมต่อเข้ากับชุมชน

ด้านแผนระดมทุนผ่านตลาดทุน อยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นขออนุมัติแปลงสภาพกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)เพื่อออกหนังสือชี้ชวนให้กับผู้ถือหน่วย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ เป้าหมายการแปลงเป็น REIT เพื่อเพิ่มความสะดวกคล่องตัวในการบริหารจัดการ และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีขึ้น และเป็นเครื่องมือสำหรับการขยายการลงทุนในกลุ่มดุสิต

ส่วนข้อดีจากการแปลงสภาพกองทุนดังกล่าว จะเพิ่มความยืดหยุ่นในการขอเงินกู้ เพื่อนำมาปรับปรุงโรงแรม 3 แห่งในเชียงใหม่, หัวหิน และพัทยา ที่อยู่ภายใต้กองทุนอสังหาริมทรัพย์เดิม และในอนาคตวางแผนจะเพิ่มโรงแรมอื่นๆ ของไปในกองด้วย

ขณะที่แผนสั่งลา ดุสิตธานี กรุงเทพฯ ก่อนเคลียร์พื้นที่รับโครงการมิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านบาทได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งพันธมิตรและลูกค้าว่าจะเปิดให้บริการวันสุดท้ายวันที่ 16 เม.ย.2561 โดยระหว่างนี้ระดมกิจกรรมส่งเสริมการขาย วางกิมมิคนำเอาเมนูอาหารที่เคยได้รับความนิยมกลับมาทำใหม่อีกครั้งในทุกร้าน จัดกิจกรรมถ่ายภาพ วาดภาพ เพื่อร่วมบันทึกภาพโรงแรมไว้ เป็นประวัติศาสตร์ พร้อมกับจัดทำของที่ระลึก และมีกิจกรรมเชิญชวนให้ลูกค้าและบุคคลทั่วไปกลับมาร่วมรำลึกความทรงจำกับโรงแรมเป็นครั้งสุดท้ายอีก ไม่ว่าจะเป็น คู่แต่งงาน งานปีใหม่ งานคอนเสิร์ต หรือแฟชั่นโชว์

พร้อมวางแผนสร้างรายได้ทดแทน เช่น การจัดตั้งทีมรับเปิดโรงแรม จัดตั้งหน่วยงานการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ การนำร้านอาหารชื่อดังของโรงแรมไปเปิดให้บริการนอกโรงแรม และมองหาโอกาสขยายไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือเปิดตลาดใหม่ เช่น การลงทุนในบริษัท เฟฟสเตย์ (favstay)สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่นำเสนอบริการที่พักตากอากาศตามเมืองท่องเที่ยวด้วย