ถอดบทเรียน’ฝาย’สู่ประชารัฐ

ถอดบทเรียน’ฝาย’สู่ประชารัฐ

การเดินทาง10 ปีของโครงการ'รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต' ด้วยเจตนารมณ์สืบสานงานพ่อหลวง สร้างฝายขยายไปสู่การปลดล็อกปัญหาหลากมิติ ตั้งแต่ภัยธรรมชาติ สภาพสังคม รวมถึงตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชน บทเรียนทำงานคู่ชุมชนต้นแบบประชารัฐ พึงระวังการเร่งผลก่อนเรียนรู้

จากความตั้งใจเดินตามรอยพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 สืบสานพระราชปณิธานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ที่เอสซีจี ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้ำ คือชีวิต” เข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน คนส่วนใหญ่ผู้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

หลังดำเนินโครงการ SCG รักษ์น้ำ.. เพื่ออนาคต ตั้งแต่ปี 2550 จากการสร้างฝายชะลอน้ำพื้นที่ป่ารอบโรงงาน ขยายผลสู่ชุมชนข้างเคียงโรงงาน ระยะเวลากว่า 10 ปี ขยายผลมาสู่ 80 ชุมชน ในพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วภูมิภาค คนมีใจจิตอาสาจากที่ต่างมาร่วมในโครงการ 8.6 หมื่นคน อาทิ เชียงใหม่ แพร่น่าน ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช

หนานชาญ อุทธิยะ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านสามขา หมู่บ้านแรกที่เริ่มทำฝายจนเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งในหลากหลายด้าน หมู่บ้านนี้ต่างมีประสบการณ์ฝ่าฟันเสียงต่อต้าน จนกลายเป็นร่วมมือร่วมใจ รวมกลุ่มสร้างฝายนำไปสู่การพลิกฟื้นจิตใจอนุรักษ์ทรัพยากรท้ายที่สุดการรวมกลุ่มก็ช่วยปลดล็อกปัญหาหนี้สิน จนกระทั่งรับหน้าที่เป็นผู้ถอดเป็นบทเรียน”งานวิจัยฉบับชาวบ้านจากประสบการณ์การทำงาน เริ่มต้นจากฝายนำไปสู่การร่วมมือกันบริหารจัดการปัญหาในชุมชน อาทิ ผลงานวิจัยด้านหนี้สิน การจัดการทรัพยากร เขาผ่านงานวิจัยฉบับชาวบ้านมาแล้วหลายเรื่องจนได้รับตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงงานวิจัยพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.) จ.ลำปาง

ปราชญ์ชาวบ้านผู้ผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกมานับมานานกว่า 10 ปี แบ่งปันประสบการณ์คนทำงานในฐานะกรรมการหมู่บ้าน บอกเล่าหัวใจการทำงานชุมชนของบ้านสามขา อยู่ที่การดึงให้คนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมพัฒนาเป็นหมู่บ้านเข้มแข็งคีย์สำคัญคือคน” เป็นผู้เดินเรื่อง

เพราะคน คือจุดเริ่มต้นของการเขี่ยบอลไปสู่การดึงผู้เล่นเข้ามาหาประเด็นปัญหาอย่างพร้อมเพรียงกัน

สิ่งที่สะกิดให้ชุมชนทุกคนรวมใจลงมือกันทำฝาย เพราะความแห้งแล้งของผืนป่า นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแหล่งทำกิน ภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง เป็นหนี้เป็นสินชาวบ้านทิ้งบ้านเกิดเข้าไปทำงานในเมือง ผลกระทบลูกโซ่จนลงมาสู่วิถีชีวิต สังคมชนบทเปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาทรัพยากร ลุกลามสู่ปัญหาสังคม และเศรษฐกิจ !

“รากเหง้าเมื่อชุมชนมีปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรมกระทบมาถึงเรื่องปากท้อง รายได้ คุณภาพชีวิติ หนี้สิน“ หนานชาญ เล่าชนวนปัญหาพื้นฐานทุกชุมชนทั่วประเทศ

ดังนั้น หากชุมชนตระหนักรู้ถึงประเด็นปัญหาร่วมกันก็นำไปสู่ความร่วมแรงร่วมใจทำฝาย ปกป้องผืนป่าก็เชื่อมโยงไปสู่การปลดล็อกปัญหาชีวิตส่วนตัวได้

“คนที่มองประเด็นปัญหาคือจัดเริ่มต้นทำให้คนเห็นเป้าหมายเดียวกันแล้วลุกขึ้นมาร่วมมือกันทำงาน ทั้งการทำฝาย ปกป้องผืนป่าและอนุรักษ์ แล้วจึงแสวงหาความรู้ ด้วยวิธีการต่างกัน บนเป้าหมายร่วมกัน”

เริ่มต้นคือการโยนประเด็นปัญหากระทุ้งความรู้สึกของคนในชุมชนเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องลงมือทำเอง หากมองกันคนละทิศทางเสียงแตก การทำงานกระจายตัวแบบ "ปัจเจกบุคคล” ต่างคนต่างทำตามใจตัวเอง

ความท้าทายของการทำงานในชุมในวันนี้ คือการหวังผลรวบรัดโดยการเร่งรัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว โดยขาดการเติมเต็มกระบวนการเรียนรู้ทีละขั้นตอน เพื่อให้เกิดการ “ระเบิดจากภายในใจ” โดยเฉพาะหลากหลายโครงการที่หวังสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง อาทิ โครงการประชารัฐ วิสาหกิจชุมชน

รูปแบบการเร่งรัดทุ่มงบประมาณลงเข้าไปถึงประชาชนรากหญ้าต้องระมัดระวัง ควรเริ่มต้นจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจปัญหา โดยชุมชนต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง เพราะหากชุมชนไม่มีความพร้อม ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนก็เกิดยาก

“ชุมชนต้องมีพื้นฐานความพร้อมรวมตัว สามัคคี อยากเปลี่ยนแปลง หากชุมชนไม่แข็งแรงต่อให้พี่เลี้ยงทำหน้าที่โค้ชเก่งขนาดไหน หากนักมวยไม่สู้ก็แพ้ แต่ถ้าชุมชนลุกขึ้นมาสู้เอง จึงถือว่าชนะไปเกินครึ่ง” 

นั่นคือปฐมบทของการพัฒนาสู่ความเข้มแข็งจากภายใน

จากลำปางขยายผลการทำฝายข้ามจังหวัดมาสู่ กาญจนบุรี 1 ใน 12 จังหวัด ที่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากลำปาง จนนำองค์ความรู้กลับมาใช้ที่บ้านเกิด โดยใช้กลไกความเห็นของคณะกรรมการในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน

เดือน คงมณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านเขามุสิ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี เป็นหนึ่งในต้นแบบป่าชุมชนอยู่ร่วมกันกับคนในชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน จนได้รับรางวัลป่าชุมชนต้นแบบ จากกรมป่าไม้ ในฐานะปกป้องผืนป่ารอบชุมชนกว่า 2,860 ไร่ ให้กลายเป็นป่าอุดมสมบุรณ์

กว่าจะถึงวันนี้เกิดจากการรวมตัวของชุมชนลุกขึ้นมาพลิกฟื้นผืนป่าเสื่อมโทรมอย่างหนักจึงต้องรวมตัวชุมชนออกกฎปิดป่าตั้งแต่ปี 2535 เพื่อให้ลูกไม้และป่าได้เติบโตเองโดยธรรมชาติ หลังจากนั้นก็แสวงหาความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ เพื่อร่วมกันปลูกป่า

จนท้ายที่สุดเมื่อป่าฟื้นก็แสวงหาวิธีการทำฝายด้วยการเข้าร่วมโครงการกับเอสซีจีรักษ์น้ำ เพื่อทำให้ป่าชุมชื้น ป้องกันน้ำแล้ง น้ำท่วม บริหารจัดการทรัพยากรเพราะหน้าแล้งหมู่บ้านขาดน้ำไม่ต่างจากภาคอีสาน จึงไปศึกษาจากห้วยฮ่องไคร้ และชุมชน รอบปูนลำปาง เกี่ยวกับวิธีการทำฝายตั้งแต่ปี 2554

สิ่งที่หมู่บ้านโดดเด่นคือการรวมกลุ่มการบริหารจัดการป่าไม้ตั้งแต่ต้น พร้อมกันกับรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์หมู่บ้านเขามุสิ ที่มีสมาชิกกว่า 700 คน ปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่ราว 12 ล้านบาท ที่เป็นการรวมเงินฝากจนกองทุนเติบโต นั่นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ชุมชนรู้จักการพัฒนาระบบรวมกลุ่ม และมีการตั้งประชาคม เพื่อนำไปทำกิจกรรม

จุดเรียนรู้ที่ทำให้โครงการฝายในชุมชนเขามุสิไปอย่างรวดเร็ว และขยายผลเป็นหมู่บ้านที่มีงบประมาณกองทุนของตัวเองเพื่อไว้ทำกิจกรรมให้กับส่วนรวม ตั้งแต่การรวมตัวกันไปทำฝาย ขอแรงคนในหมู่บ้าน โดยกองทุนสนับสนุน ค่าน้ำค่าอาหาร

“กว่าจะมีวันนี้ชุมชนรวมตัวกันเองดูแลป่า และเคารพกฎของหมู่บ้าน ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ทำให้มีส่วนรวมบริหารจัดการประโยชน์รวมกัน จนไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐในการจัดการทรัพยากร”

ขั้นตอนต่อไปนำไปสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะหลังจากขึ้นไปทำฝายค้นพบร่องรอยประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยุคหินกว่า 2,000ปี สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เริ่มต้นเปิดโฮมสเตย์เพื่อศึกษาแหล่งธรรมชาติแล้วบางส่วน อนาคตจึงมีเส้นทางเรียนรู้ พร้อมกันกับฐานเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้การทำฝายขยายผลสู่สถาบันการศึกษา และชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ

ด้านธนวงษ์ อารีรัชชกุลกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เล่าถึงการเดินทางของฝายที่ขยายวงมากว่า 10 ปี สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนายังยืน (SDGs-Sustainable Development Goals) ในหลายมิติ ที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศพันธกิจให้องค์กรธุรกิจและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ชัดเจนคือ การลดภาวะโลกร้อน และปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และยังรวมไปถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย สอดคล้องกันกับทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ให้ประเทศเติบโตมั่งคั่งและยังยืน

เป็นทิศทางการทำงานร่วมกันกับแนวทางประชารัฐ คือ ร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ชุมชน และเอกชน อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรแล้วก็นำไปสู่การพัฒนาผลผลิต สร้างรายได้จากวิสาหกิจชุมชนมีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นในชุมชน ที่พร้อมขยายตลาดสร้างรายได้