‘พงศธร ทวีสิน’บุรุษเบื้องหลังพลังงานไทย

‘พงศธร ทวีสิน’บุรุษเบื้องหลังพลังงานไทย

นักบุกเบิกพลังงานรุ่นแรกผู้อยู่เบื้องหลังตั้งไข่โครงการบงกช แหล่งปิโตรเลียมใหญ่ที่สุดกลางอ่าวไทย สร้างความมั่นคงพลังงานชาติ ทว่าธุรกิจปตท.สผ.กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ทิศทางพลังงานโลกเริ่มเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มไม่ใช่’พระเอก’

หลังคณะรัฐมตรีไฟเขียว ให้เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ ใน 2 แหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ในอ่าวไทย ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2666 คือแหล่งเอราวัณ ดำเนินการโดย (โอเปอเรเตอร์) บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

ต้องจับตาดูว่า “ยักษ์พลังงาน” รายใดจะ เข้าวินในประมูลรอบนี้ ที่ได้ยินว่ามีบริษัทพลังงานต่างชาติรายใหญ่หลายรายจะโดดร่วมประมูลรอบนี้ โดยกระทรวงพลังงานคาดว่าจะดำเนินการในเดือนต.ค.ปีนี้ และคาดว่าจะได้รายชื่อผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่งภายในเดือนมี.ค.-เม.ย.ปี 2561

แต่ที่แน่ๆ บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) พี่เบิ้มในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย บริษัทในเครือ บมจ.ปตท. ประกาศที่จะ “ท้าชน” โดดร่วมประมูลปิโตรเลียมรอบนี้ ในทั้งสองแหล่ง เพื่อหวังสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานในไทยต่อไป 

ระหว่างรอลุ้นการประมูล กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีโอกาสได้พูดคุยกับ พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานโครงการผลิต และสนับสนุนปฏิบัติการ ปตท.สผ. เขาคือหนึ่งใน “นักบุกเบิกพลังงานไทย” ฐานที่เป็นผู้จัดการโครงการ (Field Manager) คนไทยคนแรกของโครงการบงกช แหล่งปิโตรเลียมแห่งแรกๆในไทย หนึ่งในสองแหล่ง ที่รัฐกำลังจะเดินหน้าประมูลรอบใหม่ 

จะว่าไปแล้วเขาคือผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความมั่นคงด้านพลังงานไทย จากการดูแลโครงการบงกช แหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณสำรองมากที่สุดในไทย  

พงศธร เล่าว่า สำหรับเขา “โอกาส” คือจุดพลิกชีวิตการทำงานในแต่ละช่วง จนกระทั้งได้ร่วมงานกับปตท.สผ. แม้ว่า เดิมทีหมายมั่นจะเดินตามรอยเท้าบิดาในการเป็นวิศวกรเหมืองแร่ แต่ระหว่างเรียนที่รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ ต้องลงไปในเหมืองใต้ดินเรียนรู้ของจริง รู้สึกอึดอัด และ “ชักกลัว” จึงเริ่มเบนเข็มเปลี่ยนมาเรียนคณะใหม่ด้านวิศวกรปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับระหว่างเรียนด้านเหมืองแร่ พ่อตัดหนังสือพิมพ์ใส่ซองมาให้อ่านเรื่องนายกรัฐมนตรี(พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)ในขณะนั้น พูดถึงแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการก่อตั้งปตท. จึงถือเป็น “โอกาส” ที่เขามองเห็น 

เรียนจบมาได้กลายเป็น 1 ใน 10 วิศวกรไทย ที่ร่วมงานกับยูโนแคล ไทยแลนด์ (อดีตโอเปอเรเตอร์โครงการ เอราวัณ) ผู้ค้นพบแหล่งก๊าซเอราวัณ แหล่งก๊าซแห่งแรกของไทย โดยเริ่มต้นตั้งแต่เป็นพนักงานฝึกงาน(Trainee) เรียนรู้พื้นฐานการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งการผลิต ออกแบบหลุม(Drilling) ก่อสร้าง คำนวณปริมาณก๊าซสำรอง ปูทางทำงานจริงคุมอุปกรณ์ขั้นตอนการผลิตปิโตรเลียม 

“สไตล์การทำงานของบริษัทอเมริกันไม่ค่อยแบ่งงานเป็นเซ็กชั่น แต่จะทำงานเป็นห่วงโซ่ ยอมรับว่าผมทำงานที่ยูโนแคล ทำให้ได้รับพื้นฐานการทำงานที่ดี”

5 ปีกับยูโนแคล จากนั้นเขาเริ่มมองเห็นโอกาสในหน้าที่การงานอีกครั้ง ขยับตัวตามรุ่นพี่ “เทวินทร์ วงศ์วานิช” แม่ทัพปตท.คนปัจจุบัน มาทำงานที่ปตท.สผ. 

“ตอนนั้นปตท.เปิดรับสมัครงานตำแหน่งสูงๆ ก็ไม่กล้าสมัคร ตำแหน่งอะไรเนี่ย ยิ่งใหญ่มาก VP (Vice President )” เขาหัวเราะ 

ทว่า สุดท้ายก็ได้ร่วมงานกับ ปตท.สผ. ในปี 2532 แต่“จุดเปลี่ยน”สำคัญเกิดขึ้นเมื่อถูกส่งตัวไปเรียนรู้งานกับ “โททาล” ยักษ์ใหญ่พลังงานครบวงจรสัญชาติฝรั่งเศส (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในแหล่งบงกช) ในการพัฒนาแหล่งบงกช 

“หลังจากโททาลมาเป็นโอเปอเรเตอร์พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ หลังดำเนินการ 8 ปี จะต้องคืนสถานะผู้ดำเนินการให้ปตท.สผ.ระหว่างนั้นมีแผนงานที่จะให้คนไทยไปรับการถ่ายทอดความรู้และลงตำแหน่งหลักทั้งหมด ตามแผนผมถูกกำหนดให้ผมเป็นผู้จัดการโครงการในปี 2541” แต่เขาเข้ารับตำแหน่งเร็วกว่ากำหนดต่อจากชาวฝรั่งเศส 

การได้รับองค์ความรู้จากโททาลในการพัฒนาแหล่งบงกช จนปตท.สผ.มาเป็นโอเปอเรเตอน์เอง นับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สร้างการเติบโตให้กับปตท.สผ.อย่างมาก ที่สำคัญทำให้ ปตท.สผ.มีความแข็งแกร่ง บงกชจึงเป็นเหมือน “โรงเรียนต้นแบบ” ทำให้สามารถดำเนินการสำรวจและผลิตโตรเลียมในโครงการต่างๆทั่วโลก อาทิ แหล่งอาทิตย์ รวมถึงแหล่งซอติก้า ประเทศเมียนมา 

“ผมกล้าพูดเต็มปากว่าแหล่งซอติก้า เราดำเนินการด้วยตัวเอง” และไม่จำกัดแค่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ยังสยายปีกสู่ต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะร่วมดำเนินการ เช่น โครงการเวียดนาม 9-2 โครงการเวียดนาม 16-1(ผลิต) โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซียฯ ร่วม 10 ประเทศที่เข้าไปดำเนินการรูปแบบต่างๆ”

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่ละแหล่งมีความยากง่ายขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ความซับซ้อนทางธรณีวิทยา โครงการในพื้นที่น้ำลึกมีความยากและใช้เงินลงทุนสูง ขณะเดียวกันถือเป็นธุรกิจที่เสียงสูงและผลตอบแทนสูง (High risk High return)

เขายังเล่าว่า ร่วม 3 ทศวรรษบนเส้นทางพลังงาน ความเสี่ยงไม่เคยลดลง และ “โลกพลังงานในอนาคต” ดูจะยากคาดเดาสถานการณ์ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ช่วงชีวิตของพงศธรได้พบวัฏจักรราคาน้ำมันปรับขึ้นลงแรง 3 รอบแล้ว 

ทว่า รอบล่าสุดช่วงวิกฤติซัพไพร์ม ราวปี 2550 ที่ราคาน้ำมัน “ดิ่งเหว” จาก 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กลับหาเหตุปัจจัยตลอดจนบรรทัดฐานในอดีตมาอธิบายไม่ได้ ตัวอย่างกรณีการ์ต้าถูกคว่ำบาตร ตามหลักการราคาน้ำมันควรจะพุ่งขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

“แต่นี่ไม่มีผลเลย แถมราคาลดลงอีก ในมุมนักพลังงานมองว่าปริมาณการผลิตน้ำมันล้น(Supply) และยังไม่ลดลงประกับเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้น้ำมันล้นตลาด และตอนนี้ทำให้บริษัทน้ำมันต่อสู้เอาตัวรอดกันหมด” เขาบอกและย้ำว่า

“ผมว่าเป็นทุกธุรกิจ เพราะเราไม่รู้ว่าเจออะไรอยู่” ถามถึงความท้าทายของนักพลังงานคืออะไร พงศธร ถอนหายใจก่อนจะบอกว่า โลกปัจจุบันข้อมูลล้นหลาม(Big data) ยากจะรู้ข้อเท็จจริง แม้กระทั่งการวิเคราะห์การผลิตและความต้องการ (Demand) จับทิศทางยาก และรวมถึงราคาเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้

ขณะที่พลังงานทดแทน พลังงานไฟฟ้าก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น น้ำมันจะหมดโลก ในไทยก็มีการพูดถึงก๊าซจะหมดจากอ่าวไทย ทำให้นักพลังงานต้องรับมือ

อีกเรื่องที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือ “การประมูลสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช” ซึ่งผลิตก๊าซได้มากถึง 40% ของความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ปตท.สผ.ต้องเตรียมพร้อมประมูล แต่ต้องการให้ทางรัฐเร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพราะกังว่าจับผลัดจับผลูผู้ได้รับสัมปทาน “ไม่ใช่รายเดิม” ก็มีหลายเรื่องต้องดำเนินการ การสวมสิทธิ์ การลงทุนในการพัฒนาการผลิตปิโตรเลียมใช้เวลาสร้างแท่นขุดเจาะเป็นปี และหากรายเดิมไม่ได้ ก็อาจส่งผลให้ “ผ่อน”การลงทุน

“ถ้าเป็นรายเดิมก็จะดีหน่อย การพัฒนาโครงการจะมีความต่อเนื่องที่ดีได้ แต่ผมคิดว่าทีมงานค่อนข้างมั่นใจ เพราะเราอยู่กับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น” เพราะการประมูลมีการขับเคี่ยวกับคู่แข่ง โดยเฉพาะต่างชาติที่จะเข้ามาแบ่งเค้กกิจการพลังงาน พงศธรมองเกมธุรกิจดังกล่าวเหมือนกีฬากอล์ฟ ที่ต้องผลักดันตัวเองให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อป้องกันคู่แข่งมาต่อยตีตรงๆ “ถ้าเราทำต้นทุนเราให้ต่ำ ปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา เราก็มีโอกาสชนะการประมูลด้วยตัวเราเอง กีฬากกอล์ฟเป็นเกมแบบนี้”

ที่ผ่านมาปตท.สผ.มีโครงการ Save to be Save ตระหนักการลดต้นทุนให้กับองค์กร และจากนี้ไปมุ่งสร้างกล้ามเนื้อให้กับองค์กร หาวิธีทำงานใหม่ๆที่ฉีกจากตำราเดิมๆ เพื่อให้เม็ดเงินที่ลงทุนไป 100 ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็น 140-150 จากเดิมอาจลงทุน 100 ได้ผลตอบแทน 110  

“มองในมุมประสิทธิภาพมากขึ้นจากทำงานหลายขั้นตอนก็ลดลง บริหารต้นทุนให้ดีขึ้น เราก็จะสู้กับคนอื่นได้”

เขาเล่าความสำเร็จบนเส้นทางนักพลังงานที่บอกว่า “มาไกลเกินฝัน” และประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่หลายครั้งก็เผชิญอุปสรรค โจทย์ยากในการทำงาน แต่เป็นคนมองโลกในแง่ดี เจอปัญหาเมื่อไหร่ จะไม่ค่อยตื่นเต้น แต่ตั้งสติแล้ววิเคราะห์หาสาเหตุ 

“บางคนอจจะบอกว่าผมไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่กังวล บางทีอยู่ในตำแหน่งงานผู้นำ แล้วกังวล ลูกน้องทีมงานก็จะกังวลไปด้วย ถ้าเจอปัญหาแล้วแตกตื่น อาจทำให้เหตุการณ์แย่ลง หรือแก้ปัญหาผิดจุดได้”

อีก 2 ปี พงศธรจะเกษียณอายุการทำงาน เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของปตท.สผ. สิ่งที่อยากทำทิ้งไว้ให้องค์กร คือการดึงศักยภาพของบุคลากรออกมาใช้ให้มากที่สุด เพราะเขาเชื่อว่าองค์กรแห่งนี้เต็มไปด้วยคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถ และศักยภาพสูงและองค์ประกอบหลายอย่างเกือบครบเครื่อง 

“เราทำอะไรได้เยอะกว่านี้ เพื่อผลักดันให้ปตท.สผ.แข็งแกร่งยิ่งกว่าปัจจุบัน”  

ขณะที่เส้นทางทำงานของเขาถือว่าบรรลุเป้าหมายหลายอย่าง โดยเฉพาะการรับไม้ต่อในโครงการบงกชเป็นโอเปอเรเตอร์ต่อจากโททาล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่เจ้าตัวพอใจ