ล่าจระเข้ตัวใหญ่โผล่ภูเก็ต เตือนระมัดระวังลงเล่นน้ำ

ล่าจระเข้ตัวใหญ่โผล่ภูเก็ต เตือนระมัดระวังลงเล่นน้ำ

ผู้ว่าฯภูเก็ตลงพื้นที่หาดเลพังตามล่าจระเข้ตัวใหญ่ หลังมีการนำภาพเผยแพร่ทางโซเซียล สั่งการเร่งติดตามหาตัว จัดชุดลาดตระเวนและเฝ้าระวัง24ชม. แจ้งเตือนคนลงเล่นน้ำเพิ่มความระมัดระวัง

สืบเนื่องจากกรณีที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ภาพ และข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า มีข่าวเรื่องจระเข้น้ำเค็มที่หาดบางเทา ภูเก็ต ชาวต่างชาติ ชื่อ คุณไมค์ ไปเดินเล่นแล้วสังเกตเห็น จึงวิ่งกลับมาบ้านแล้วเรียกลูกชายเอาโดรนไปถ่ายภาพไว้ คลิปที่เห็นชัดเจนมากครับว่า เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ ความยาวน่าจะถึง สืบเนื่องจากกรณีที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล3เมตร#จระเข้ภูเก็ต กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี56ก็มีรายงานว่า ชาวบ้านเคยเห็นที่หาดไม้ขาว ภูเก็ต จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไปก่อนที่จะถามว่าเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่า?เรามาดูที่มาของจระเข้ก่อน จระเข้น้ำเค็มเคยพบในฝั่งอันดามัน มีหัวกะโหลกเป็นหลักฐานที่เกาะตะรุเตา ใครเคยไปคลองพันเตมะละกา คงจำได้ว่าข้างในมี“ถ้ำจระเข้”แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะมีจระเข้ตามธรรมชาติเหลืออยู่ตั้งแต่สมัยนั้นยันตอนนี้ โอกาสมีน้อยมากครับ..นอกจากนี้ยังมีการแชร์ข้อมูลดังกล่าวทางโซเซียล และมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับการพบจระเข้ดังกล่าว

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว วันนี้ (30 ส.ค.60) นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายวิกรม จากที่ นายอำเภอถลาง นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ประมงจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่บริเวณหาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หลังได้รับรายงานและสั่งการเบื้องต้นให้นายอำเภอถลาง ตรวจสอบหาตัวผู้ที่เผยแพร่ภาพดังกล่าว เพื่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม และเพื่อจะได้ทราบจุดที่พบที่แน่นอน ขณะเดียวกันได้ให้ประมงจังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการทำฟาร์มจระเข้ในพื้นที่ และประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลจัดเจ้าหน้าที่ฯ นำเรือยางและเจ็ทสกีออกลาดตะเวนตามแนวชายหาด แต่ก็ยังไม่พบจระเข้ดังกล่าว

นายนรภัทร กล่าวว่า หลังรับทราบข่าวว่า มีการพบจระเข้บริเวณทะเลหน้าชายหาดดังกล่าว ได้สั่งการให้นายอำเภอถลาง ประมงจังหวัด และกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น เนื่องจากภาพของจระเข้ดังกล่าวไปปรากฏอยู่โซเซียลมีเดีย จากข้อมูลของนายอำเภอฯ รายงานว่า ได้พบและพูดคุยกับผู้ถ่ายภาพจระเข้คนแรกแล้ว ซึ่งเป็นคนไทยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จากข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุจากภาพถ่าย ซึ่งมีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จึงเชื่อได้ว่า เป็นจระเข้จริง

“ขณะนี้ได้ให้ประมงจังหวัด ประสานกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการจับจระเข้ เพื่อมาทำการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ขณะเดียวได้มอบหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ตรวจสอบพื้นที่แหล่งน้ำที่คาดว่าจระเข้จะเข้าไปอาศัยหรือหลบซ่อนตัวอีกทางหนึ่ง เพราะประมงจังหวัดได้ยืนยันข้อมูลว่า จระเข้ตัวดังกล่าว เป็นจระเข้น้ำจืด เนื่องจากสภาพของพื้นที่ชายหาดเลพัง ไม่เหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัยของจระเข้น้ำเค็ม และทางจังหวัดได้มีการจัดตั้งทีมเพื่อติดตามและหาตัวจระเข้ดังกล่าวให้พบโดยเร็ว”

นายนรภัทร ยังได้กล่าวฝากไปยังประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยว่า ชายหาดทุกแห่งของจังหวัดภูเก็ตจะมี เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต,เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดของสถานประกอบการโรงแรม และผู้ประกอบการบริเวณหน้าชายหาด ช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งในระยะนี้ขอความร่วมมือเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานตรวจตราความปลอดภัยบริเวณชายหาด รวมทั้งจัดเรือออกตรวจสอบตามแนวชายฝั่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูความผิดปกติ พร้อมทั้งให้ประมงจังหวัดภูเก็ต ประสานกับหน่วยงานที่มีโดรนเข้ามาช่วยปฏิบัติงานถ่ายภาพมุมสูงบริเวณชายหาดเป็นระยะๆ นอกจากนี้เพื่อความไม่ประมาททางจังหวัดได้แจ้งให้ผู้ประกอบการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการเล่นน้ำบริเวณชายหาดในระยะนี้ หากพบความผิดปกติก็ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

ขณะที่นายวิกรม จากที่ นายอำเภอถลาง ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ถ่ายภาพจระเข้ได้เป็นคนแรก เป็นคนไทยอาศัยอยู่บริเวณบ้านดอน อ.ถลาง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่าน ระหว่างมาเดินเล่นบริเวณชายหาดดังกล่าว โดยถ่ายด้วยมือถือแต่ภาพไม่ชัด จึงได้เรียกให้ชาวต่างชาติคนหนึ่งมาดู และชาวต่างชาติคนดังกล่าวก็กลับไปนำโดรนขึ้นบิน จนเห็นภาพว่า เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ และมีการนำมาเผยแพร่ทางโซเซียลดังกล่าว

ด้านนายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับความกังวลว่า จระเข้ดังกล่าว จะมีความดุร้ายหรือไม่หรือ ขอชี้แจงว่า ปกติหากเขาไม่โดนทำร้ายหรือโดนรังแกก่อน และอยู่ในพื้นที่กว้าง จะไม่ดุร้าย จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะทำร้ายคนทั่วไป หากชาวประมงหรือนักท่องเที่ยวเจอตัวจระเข้ ก็พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะหรืออย่าไปทำร้ายเขา แต่ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งในการค้นหาจระเข้ นอกจากการประสานกับทางหน่วยงานที่มีความชำนาญมาร่วมตรวจสอบและติดตามแล้ว ยังได้ขอความร่วมมือไปยังเครือข่ายตาสับปะรดของผู้ว่าฯ ตลอดจนเครือข่ายผู้ประกอบการร้านค้า ประชาชน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชายฝั่ง ในการช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสด้วย ซึ่งจะพยายามค้นหาและจับให้ได้โดยเร็ว

สำหรับจระเข้ดังกล่าว เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นจระเข้น้ำจืด เนื่องจากสภาพทางกายภาพไม่เหมาะกับจระเข้น้ำเค็ม และจะอยู่ในทะเลได้ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะเคลื่อนไหวไปที่อื่น เพื่อความอยู่รอด ประกอบกับความเข้มของเลือดกับความเค็มของน้ำทะเลแตกต่างกัน นอกจากนี้มีข้อมูลว่าในพื้นที่ดังกล่าว ในอดีตเคยมีฟาร์มเลี้ยงจระเข้อยู่ 2 ฟาร์ม แต่เมื่อปี 2559 ได้มีการมาแจ้งยกเลิกการเลี้ยงแล้ว ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่า จระเข้ ดังกล่าวน่าจะอยู่ในขุมน้ำ ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกับทะเล และได้ว่ายพลัดหลงเข้ามาอยู่ในทะเล นายไพบูลย์กล่าว

ส่วนนายรัตนพันธ์ สิทธิรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบริเวณชายหาดของบริษัทเอกชนรายหนึ่งบอกว่า ตั้งแต่มาทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าชายหาดมา 4-5 ปี ไม่เคยพบว่าบริเวณดังกล่าวมีจระเข้อาศัยอยู่ และในวันที่มีการระบุว่าถ่ายภาพจระเข้ได้นั้นบริเวณชายหาดแห่งนี้มีคลื่นลมแรง แต่เมื่อทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า เป็นภาพจระเข้ที่พบในบริเวณนี้ก็จะได้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงเล่นน้ำทะเล