ปฏิบัติการต้าน‘แผ่นดินไหว’

ปฏิบัติการต้าน‘แผ่นดินไหว’

สมมติว่าถ้าพรุ่งนี้แผ่นดินไหวสัก 7 ริกเตอร์ คนไทยพร้อมรับมือกับภัยพิบัติหรือยัง

“มาแน่ๆ ยังไงก็มา อยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงอายุของเรา หรือหลังจากนั้น..."

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงโอกาสและความเสี่ยงของประเทศไทยในการเผชิญกับเหตุการณ์ “แผ่นไหว” อีกครั้้ง หลังจากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บมากกว่า 100 คน และพบความเสียหายของบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมากและเป็นบริเวณกว้าง

“เหตุแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่รู้ว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะมีการตรวจพบว่ามีการสะสมพลังงานใต้ผิวดิน ที่บริเวณลอยเลื่อนแม่จัน (จากรอยเลื่อนทั้งหมด 14 จุด) พาดผ่านอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีความยาวประมาณ 101 กิโลเมตร"

แม้จะเป็นภัยที่ไม่อาจคาดการณ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวท่านนี้ประเมินขนาดของแผ่นดินไหวที่ไม่อยากให้ตกใจแต่ควรตื่นตัวว่า "แรงแผ่นดินไหวที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตนั้นประมาณ 7.0 ตามมาตราริกเตอร์” 

ซึ่งถ้าเทียบกับเหตุการณ์เมื่อปี 2557 ที่เป็นแผ่นดินไหวตื้น ประชาชนยังรู้สึกถึงแรงสั่นไหวได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา ต่อเนื่องถึงจังหวัดเลยและหนองคาย ในภาคอีสาน รวมไปถึงอาคารสูงในกรุงเทพมหานครหลายแห่งก็รับรู้ได้เช่นกัน เนื่องจากใต้กรุงเทพเป็นชั้นดินอ่อนซึ่งมีคุณลักษณะในการขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้เพิ่มขึ้นถึง 3-4 เท่า

แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงไม่ใช่คำขู่ แต่เป็นคำเตือนให้ทุกคนตระหนัก “ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหว ที่พร้อมมาเยือนเราได้ทุกเมื่อ” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ย้ำ

ด้วยเหตุนี้ “ทางรอด” ที่ทีมวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว เลือกศึกษาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่าน จึงอยู่ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ 1. กำหนดให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นใหม่ต้องได้รับการออกแบบก่อสร้างให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ในระดับที่เหมาะสม 2. ปรับปรุงอาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันที่อ่อนแอให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้โดยไม่เกิดความเสียหายรุนแรง ไม่พังทลายลงมา และ 3. เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินภายหลังเกิดภัยพิบัติ

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือบ้านเรือนและอาคารสาธารณะที่มีประชาชนเข้ามาใช้งานมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ก่อสร้างมานานแล้ว เช่น โรงเรียน วัดวาอารามต่างๆ อาจเสียหายรุนแรงหรือพังทลายลงมาได้เมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหวที่รุนแรง นำไปสู่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารนั้นๆ 

"ถ้าหากสังเกตจากข่าวแผ่นดินไหวที่มีการรายงานผ่านสื่อต่างๆ จะเห็นว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของประเทศไทย และต่างประเทศไม่ได้ฆ่าใคร หรือทำให้ใครเสียชีวิต แต่ซากปลักหักพังตางหากที่ฆ่าคน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อม” อาจารย์เป็นหนึ่ง บอก พร้อมอธิบายว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป หากเรามีการเตรียมการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว การดำเนินการภายใต้มาตรการที่เชื่อกันว่ามีประสิทธิภาพในการบรรเทา “แรงสั่นสะเทือน” จะลดความสูญเสียได้ไม่น้อย

“ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อกำหนดทิศทางการป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหวไปในทางเดียวกัน โดยการออกพระราชบัญญัติควบคุมอาคารให้อาคารที่สูงเกิน 15 เมตร ต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว แต่อาคารเล็กๆ ก็มีความเสี่ยงอันตรายจึงยกร่างให้ครอบคลุมอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป คลอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย”

นอกจากเรื่องความสูงของตัวอาคารแล้ว ศ.ดร.เป็นหนึ่ง เสนอให้มีการออกกฎหมายกำหนด “บริเวณเฝ้าระวัง” หรือบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพิ่มเติมจากเดิม 15 จังหวัดในพื้นที่หรือบริเวณที่เป็นดินอ่อนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน เป็น 44 จังหวัด โดยขยายจากพื้นที่เสี่ยงใกล้เคียง 15 จังหวัดเดิม

ด้าน รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)  กล่าวถึงการออกแบบก่อสร้างอาคารใหม่ให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวว่า ได้มีการออกกฎกระทรวงและมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างอาคารโดยภาครัฐ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่มีอย่างถูกต้องก็จะทำให้อาคารที่สร้างใหม่มีความปลอดภัยสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้อย่างเพียงพอ

“ต้องย้ำว่ายังมีอาคารจำนวนมากทั่วประเทศที่สร้างมาก่อนที่จะมีกฎหมายและมาตรฐานดังกล่าวจะประกาศออกมา ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในระดับที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้อาคารเหล่านี้เกิดความเสียหายขึ้น นำไปสู่ความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับอาคารสาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแม้นักวิจัยไทยในชุดโครงการแผ่นดินไหว สกว. จะมีการศึกษาวิจัยมากว่า 10 ปี ทว่า การเสริมกำลังอาคารเพื่อต้านทานแผ่นดินไหวยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย และมีผู้เกี่ยวข้องในหลายสาขาอาชีพ เช่น เจ้าของอาคาร วิศวกร ผู้รับเหมา หรือช่าง ซึ่งยังอาจขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง Nanyang Technological University แห่งประเทศสิงคโปร์ และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ร่วมกับผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU) 

ทั้งหมดได้ตกลงร่วมมือกันดำเนินโครงการเสริมกำลังอาคารโรงเรียนจำนวน 4 หลัง ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ที่เห็นประโยชน์นำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้ และเพื่อให้เกิดการเผยแพร่เทคโนโลยีการเสริมกำลังอาคาร นำไปใช้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอี่นๆ กันอย่างแพร่หลายในอนาคต โดยการสนับสนุนทางด้านการเงินจากกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์

รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้เริ่มต้นด้วยการสำรวจโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และร่วมกับทางโรงเรียนในการคัดเลือกอาคารในโรงเรียนที่เหมาะสมที่จะทำการเสริมกำลัง โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้งานอาคาร สภาพปัจจุบันของอาคาร แผนการปรับปรุงอาคารในอนาคต ฯลฯ

“จริงๆ แล้วในส่วนนี้ จะต้องมีการสำรวจให้ครอบคลุมทุกอาคารที่มีความเสี่ยงเพื่อประเมิน แต่ด้วยกรอบงบประมาณที่เราได้รับสนับสนุนยังไม่สามารถดำเนินการได้ และอยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ"

จากผลการสำรวจ ทีมงานได้คัดเลือกโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมในโครงการ 4 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนชุมชนบ้านโป่ง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 2) โรงเรียนบ้านห้วยมะหินฝน อ.แม่จัน จ.เชียงราย 3) โรงเรียนอนุบาลบ้านท่อเมืองลัง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ 4) โรงเรียนบ้านดอนปิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยแต่ละแห่งใช้งบประมาณประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าการสร้างใหม่ประมาณ 10 เท่าตัว

ในส่วนของการดำเนินการศึกษาหาวิธีเสริมกำลังที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับอาคารเหล่านี้ รศ.ดร.สุทัศน์ เปิดเผยว่า ได้ใช้เทคนิคและวิธีการ 2 วิธี ได้แก่ การเสริมกำลังเสาอาคารด้วยการพอกด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก (Concrete Jacketing) และการเสริมกำลังด้วยค้ำยันที่ไม่โก่งเดาะ (Buckling Restrained Bracing) เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอาคารเมื่อต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวที่รุนแรง โดยทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับอาคารหลายๆ รูปแบบในประเทศไทย

ที่สำคัญในระหว่างการเสริมกำลังอาคารโรงเรียนทั้ง 4 หลังในโครงการ ทีมวิจัยได้มีการใช้อาคารเหล่านี้เป็นสถานที่จัดฝึกอบรมและดูงานวิธีการก่อสร้างให้แก่ผู้ที่สนใจ เช่น ชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ช่างท้องถิ่น วิศวกรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้สามารถเผยแพร่แนวทางการเสริมกำลังอาคารต่างๆ ให้เป็นที่รับรู้แพร่หลายมากขึ้น ข้อมูลในระหว่างการก่อสร้างก็จะได้ถูกนำมาสรุปเป็นบทเรียนและจัดทำเป็นคู่มือเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ผลลัพธ์ของโครงการนี้ นอกจากจะได้อาคารเรียนที่ต้านแผ่นดินไหวได้แล้ว ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย

และต่อไป...ต่อให้แผ่นดินไหว ประเทศไทยก็น่าจะรับมือได้ดียิ่งขึ้น