'อาเซียน' เครื่องปั้มเงิน 'ทิปโก้แอสฟัลท์'

'อาเซียน' เครื่องปั้มเงิน 'ทิปโก้แอสฟัลท์'

'ตลาดอาเซียน' ดาวเด่นส่งเงินเข้าบ้าน หลัง 'บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์' ส่องสปอร์ตไลท์ทุ่มสยายปีกธุรกิจยางมะตอย 'ชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์' นายใหญ่ เดินเกมสู่พันธกิจผลักดันยอดขายเติบโต รัฐเร่งเมกะโปรเจคดึงดีมานด์ฟื้นตัว การันตีปีนี้รายได้เติบโต 5-10%

ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 344 ล้านบาท ลดลง 72% เทียบกับไตรมาส 1 ปี2560 กำไรสุทธิ 1,237 ล้านบาท บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ หรือ TASCO ผู้นำในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยรายใหญ่อันดับ 1 ในไทยและอาเซียน ถือเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับ 'ความต้องการ (ดีมานด์) ยางมะตอย' ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ หลังความต้องการยางมะตอยลดลงในตลาดส่งออกหลักๆ ขณะเดียวกันปริมาณยางมะตอยในคลังก็อยู่ในระดับที่สูง ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงตลอดปี 2559

ทว่า 'ทิปโก้แอสฟัลท์' ถือเป็นผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายยางมะตอยรายใหญ่ที่ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง หลังมองเห็นดีมานด์ในตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก...!!   

สะท้อนผ่านการขยายลงทุนในต่างประเทศในปี 2560 เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทิปโก้แอสฟัลท์ร่วมลงทุนกับพันธมิตรใน 'ประเทศมาเลเซีย' ภายใต้ชื่อ Borneo Asphalt Sdn Bhd โดยถือหุ้น 50% มาเลเซียถือหุ้น 50% มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือราว 78 ล้านบาท โดยบริษัทร่วมทุนใหม่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายและสร้างคลังเก็บยางมะตอยขนาด 4,000 ตัน เพื่อรองรับการจำหน่ายยางมะตอยในพื้นที่ประเทศมาเลเซียฝั่งตะวันออก  

โดยคาดว่าจะมีปริมาณการใช้ยางมะตอยเพิ่มขึ้นอีก 'เท่าตัว' จากปกติการใช้งานเฉลี่ย 8-9 หมื่นตันต่อปี แต่หลังจากรัฐบาลมาเลเซียเตรียมนำโครงการ Pan Borneo Project ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว 5 ปี (2561-2565) มาใช้พัฒนาประเทศโครงสร้างพื้นฐานในฝั่งมาเลเซียตะวันออก ซึ่งได้รวมเอางบประมาณในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเข้าไว้ด้วยกัน  

'โครงการ Pan Borneo Project จะผลักดันให้เกิดการใช้งานยางมะตอยในมาเลเซียตะวันออกเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวจากปกติ...บริษัทจึงจะใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า'

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติให้บริษัทร่วมลงทุนกับพันธมิตรใน 'ประเทศลาว' เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Tipco Asphalt (Laos) Co., Ltd. โดย TASCO ถือหุ้นในสัดส่วน 75% เพื่อลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางมะตอยน้ำในประเทศลาว คาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในปี 2561

ในปัจจุบันบริษัทขายยางมะตอยจากประเทศไทยไปยังประเทศลาว ผ่านตัวแทนทางการค้า การตั้งบริษัทร่วมทุนนั้นทำให้บริษัทสามารถนำความแข็งแกร่งด้านการผลิตและเทคโนโลยีด้านผลิตภัณฑ์ และความแข็งแกร่งด้านการขาย การตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายของพันธมิตรช่วยเพิ่มยอดขายในประเทศลาว

ถือเป็นการรุกขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง...! 'ชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ หรือ TASCO บอกวัตถุประสงค์กับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” เช่นนั้น

'จากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง' นายใหญ่ ทิปโก้แอสฟัลท์ ตอกย้ำแผนลงทุนตลาดอาเซียนในปีหน้า...!

แม้ว่าปัจจุบัน TASCO จะเข้าไปลงทุนในอาเซียนแล้ว 8 ประเทศ ทว่าตลาดยังมีความต้องการยางมะตอยอยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่านยอดขายยางมะตอยต่างประเทศฟื้นตัว โดยไตรมาส 2 ปี 2560 มียอดขายต่างประเทศ 3.5 แสนตัน  หรือมากกว่ายอดขายในไตรมาส 1 ปี 2560 'ราว50%' 

สอดคล้องกับแผนลงทุนของบริษัทที่อยู่ระหว่างการศึกษาเข้าไปลงทุนสร้างคลังและโรงงานผลิตยางมะตอยใน 'ประเทศฟิลิปปินส์' คาดว่าจะได้ข้อสรุปปี 2561 และเริ่มผลิตได้ประมาณปลายปีหน้า โดยรูปแบบการลงทุนจะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศดังกล่าว และมูลค่าการลงทุนราว 8-12 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบเพิ่มกำลังการผลิตโรงกลั่นยางมะตอยที่ประเทศมาเลเซียอีก จากเดิม 30,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 60,000 บาร์เรลต่อวัน ด้วยมูลค่าลงทุนประมาณ 100-150 ล้านเหรียญ หากตัดสินใจลงทุนคาดว่าโครงการขยายกำลังการผลิตจะแล้วเสร็จในปี 2563        

'เรารุกลงทุนในตลาดอาเซียน เพราะดีมานด์ยังเติบโต และเราเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สำคัญเรารู้วิธีนำยางมะตอยไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือ จุดเด่นของ TASCO ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ รู้เพียงการขายยางมะตอยให้ได้มาตรฐานเท่านั้น'

อย่างไรก็ตาม ตลาดต่างประเทศยังต้องติดตามตลอดเพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทว่าบริษัทใช้กลยุทธ์กระจายความเสี่ยงของธุรกิจออกไปในหลากหลายประเทศ โดยไม่พึ่งพาตลาดเดียว ซึ่งการขยายตัวของยอดขายในตลาดแถบเอเซียใต้ เช่น อินเดียและบังกลาเทศ เป็นตัวอย่างที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการความเสี่ยงโดยการกระจายธุรกิจไปยังตลาดดังกล่าว ในขณะที่ตลาดเดิมที่มีอยู่แล้วบริษัทนั้นสามารถรักษายอดขายให้โตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

'ครึ่งปีหลังยอดขายเติบโตกว่าครึ่งปีแรก' เขายอมรับว่า ทิศทางยอดขายครึ่งปีหลังฟื้นตัวชัดเจนแล้ว หลังความต้องการยางมะตอยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านยอดขายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการใช้ยางมะตอย โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่ถือว่ามีความต้องการใช้ที่อยู่ในระดับสูง ทั้ง จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัท

ทว่า ปัจจัยบวกไม่ได้มีแค่เรื่องยอดขาย แต่สิ่งสำคัญคือ  'ราคาขายยางมะตอย' ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรกมาก โดยคาดราคาขายครึ่งปีหลังเฉลี่ยจะอยู่ที่ 295-305 เหรียญต่อตัน จากช่วงครึ่งปีแรกราคาขายอยู่ที่ 260 เหรียญต่อตัน

สาเหตุครึ่งปีแรกราคาขายยางมะตอยปรับตัวลดลงมาจากความต้องการยางมะตอยในภูมิภาคนี้ลดลงไปมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยางมะตอยทั้งภูมิภาค ทำให้ผู้ผลิตยางมะตอยรายใหญ่ที่สุดของเอเชียอย่างเกาหลีใต้ จำนวน 3 แห่ง ตัดสินใจลดกำลังการผลิตลง 'ราว15-20%' เพราะแบกรับขาดทุนไม่ไหว หลังตลาดหลักในประเทศจีนมีปัญหา ส่งผลให้ซัพพลายยางมะตอยในตลาดหายไปเฉลี่ย 20% ทำให้ราคาขายปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ประมาณกลางเดือน ก.ค.เป็นต้นมา

แต่ในส่วนของบริษัทไม่กระทบมาก เพราะว่าไม่ได้พึ่งพิงตลาดจีนแหล่งเดียว โดยตลาดจีน TASCO มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) แค่ 10-20%

'ผมจำได้ว่าไปเยี่ยมโรงกลั่นทั้ง 3 แห่ง ในเกาหลีใต้ยังบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าธุรกิจไม่ดีเลย เพราะราคายางมะตอยที่ประเทศจีนลดลงมามาก'

ประกอบกับช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โรงกลั่นยางมะตอยที่ประเทศมาเลเซียเกิดไฟไหม้ ยิ่งทำให้ซัพพลายในตลาดลดน้อยลง ยิ่งเป็นปัจจัยบวกให้ราคายางมะตอยปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็ว ขณะที่ความต้องการใช้ในอินเดียและจีนยังเติบโตต่อเนื่อง

'กรรมการผู้จัดการ' บอกต่อว่า สำหรับยอดขายในประเทศแนวโน้มดีขึ้นจากครึ่งปีแรก หลังภาครัฐยังเดินหน้าลงทุนพื้นฐาน ทำให้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณซ่อม-สร้างถนน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปีที่แล้วยอดขายยางมะตอยในประเทศอยู่ที่ 5.4 หมื่นตัน คาดว่าปีนี้ยอดขายจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นตัน หรือ ใกล้เคียงกับปีก่อน  

อย่างไรก็ดีแผนการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี ถือเป็นช่วงที่ผลประกอบการจะออกมาดีที่สุดของปี แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 4/60 ยังเป็นช่วงที่บริษัทต้องจับตาอยู่ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 61 ของภาครัฐว่าจะออกมาตามที่คาดหวังหรือไม่ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

ตลาดในประเทศไทยบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์มากสุด เนื่องจากกลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า จากคุณภาพสินค้าการนำเสนอเทคโนโลยีและสินค้าใหม่สู่ตลาด บริการที่เหนือชั้น รวมถึงการส่งมอบสินค้าที่ตรงต่อเวลา ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานราชการ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น เป็นผู้จัดจำหน่ายยาง มะตอยชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงยางพาราแอสฟัลต์อิมัลชั่นมาใช้ในงานก่อสร้าง ซ่อมแซมและบูรณะถนน  

วิเคราะห์ทิศทางผลประกอบการปีนี้ ว่า บริษัทปรับลดเป้ายอดขายยางมะตอยมาอยู่ที่ 2.1-2.2 ล้านตัน เติบโต 5-10% จากเป้าหมายเดิม 2.6 ล้านตัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากประเทศจีนที่มีการประกาศเพิ่มภาษีนำเข้ายางมะตอย ส่งผลกระทบต่อปริมาณขาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามนโยบายดังกล่าวเพราะช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มว่ารัฐบาลจีนอาจเลื่อนการขึ้นภาษีออกไป ซึ่งจะเป็นโอกาสให้มีการนำเข้ายางมะตอยเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

'ครึ่งปีแรกยอดขาย 1.1 ล้านตัน และคาดว่ายอดขายในช่วงไตรมาส 3/60 จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/60 ตามความต้องการใช้ยางมะตอยในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่ถือว่ามีความต้องการใช้ที่อยู่ในระดับสูง'

ด้านงบลงทุนตั้งเป้าไว้ราว 2,200 ล้านบาท ใช้ซื้อเรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาด 150,000 ตัน จำนวน 1 ลำ อายุเรือ 10 ปี คาดว่าจะขนส่งน้ำมันดิบได้ 3-4 เที่ยวต่อปี ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันและลดค่าขนส่งได้ประมาณ 25-30%

สุดท้าย 'ชัยวัฒน์' พูดทิ้งท้ายว่า เรารุกขยายตลาดในต่างประเทศ ส่วนในประเทศยังไม่ขยายเพราะมาร์เก็ตแชร์สูงแล้ว หากลงทุนอีกจะเกิดการแข่งขันราคา และตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสอีกมาก หลังดีมานด์ยังเติบโต

โบรกฯชี้ครึ่งปีหลังฟื้นตัว

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า คาดว่าแนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปี 2560 ฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยแวดล้อมที่ผู้ผลิต 3 รายใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้จับมือกันลดกำลังการผลิตลงเฉลี่ย 20% ทำให้ราคาขายยางมะตอยอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปรับขึ้นจาก 265 เหรียญต่อตัน ขึ้นมาเป็น 290-295 เหรียญต่อตัน

รวมทั้งบริษัทกำลังเตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต  ระยะยาว TASCO มีจุดเด่นในเรื่อง Logistic มีคลังยางมะตอยทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน มีกองเรือ กองรถบรรทุก กำลังพัฒนาเป็น Innovative solutions partners เข้าไปร่วมกับบริษัทรับเหมา

ปัจจุบัน TASCO มียอดขายประมาณ 2.1-2.2 ล้านตัน ในขณะที่มีกำลังการผลิตเพียง 1.2 ล้านตัน  เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต จึงมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตการกลั่นยางมะตอยเพิ่มเท่าตัว คือ 30,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 60,000 บาร์เรลต่อวัน ใช้เงินลงทุน 150 ล้านเหรียญ  ปัจจุบันกำลังเลือก EPC คาดใช้เวลา 6-9 เดือน  โดยมีกำหนดผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2564