ระดมเครื่องจักรกลเร่งขุด 'แก้มลิง' รับมือฝนตกหนัก

ระดมเครื่องจักรกลเร่งขุด 'แก้มลิง' รับมือฝนตกหนัก

ระดมเครื่องจักรกลเร่งขุด "แก้มลิง" ทุ่งน้ำผุดรองรับฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วม

วันที่ 28 ส.ค.60 จังหวัดตรังได้เกิดฝนตกลงมาเป็นระยะๆ ประกอบกับได้มีคำเตือนจากทางจังหวัดและกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งจังหวัดตรัง ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และที่ราบเชิงเขา เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม 

ขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สินแสงจันทร์ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแก้มลิงทุ่งน้ำผุด ต.นาตาล่วง อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นโครงการของชลประทานตรัง กรมชลประทาน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งระดมเครื่องจักรกลและรถบรรทุก รวมกว่า 30 คัน ในการเร่งดำเนินการขุดลอกแก้มลิงและสร้างคันดินล้อมรอบ เนื้อที่รวมประมาณ 100 ไร่ ให้แล้วเสร็จ โดยเร่งด่วนตามระยะเวลาการก่อสร้าง 24 พฤษภาคม–19 พฤศจิกายน 2560 โดยจะต้องเร่งดำเนินการในช่วงที่ฝนหยุดตก เพราะหากฝนตกลงมาเครื่องจักรกลไม่สามารถจะลงทำงานได้ จะต้องหยุดการทำงานทั้งหมด ประกอบกับเกรงว่าจะเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมตามมา ทางบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จึงต้องระดมเครื่องจักรกลเร่งดำเนินการขุดโดยเร็วที่สุด ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกหนักลงต่อจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองชั้นได้ และเป็นพื้นที่จัดเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง

นายประภักดิ์ ชูทิพย์ ผู้ควบคุมงานรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า ต้องอาศัยจังหวะช่วงฝนหยุดตกระดมคนงานและเครื่องจักรกลทำอย่างเต็มที่ ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 50 % คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 เดือน แต่มีปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ ช่วงฝนตกจะไม่สามารถทำงานได้ และในปีนี้จังหวัดตรังเกิดฝนตกต่อเนื่อง แต่ก็เชื่อว่าจะดำเนินการได้ทันรับมือน้ำท่วมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับโครงการก่อสร้างแก้มลิงทุ่งน้ำผุด ดำเนินการโดยโครงการชลประทานตรัง สำนักชลประทานที่ 16 ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งน้ำผุด ต.นาตาล่วง อ.เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่หนองน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของอำเภอเมืองตรัง ประมาณ 703 ไร่ มาพัฒนาเป็นแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาน้ำจากแม่น้ำตรังไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่เขตอำเภอเมืองชั้นใน ซึ่งมีวัด โรงเรียน สถานที่ราชการ รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนในเขตเทศบาลนครตรังอาศัยอย่างหนาแน่น และกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ซึ่งหากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตเมืองชั้นในจากแม่น้ำตรัง และรองรับน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง