อดีตทหารผันตัวเป็นเกษตรกร ปลูกสละอินโดราคาดีไม่มีตก

อดีตทหารผันตัวเป็นเกษตรกร ปลูกสละอินโดราคาดีไม่มีตก

"หมวดเป" อดีตทหารค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ผันตัวมาทำเกษตร ด้วยการปลูก "สละอินโด" ไม้ผลปลอดสารพิษ สร้างรายได้ตลอดทั้งปี

ที่บ้านเกษตรพัฒนา ตำบลคำขวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยตรี สิทธิพงษ์ วงศ์ศิริ หรือ หมวดเป อายุ 56 ปี อดีตข้าราชการทหาร ในสังกัด กรมทหารราบที่ 6 กองพันทหาราบที่ 3 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ลาออกจากราชการทหาร ผันตัวมาเป็นเกษตรกร ด้วยการปลูกไม้ผลปลอดสารพิษ ในพื้นที่ หมู่ 10 บ้านเกษตรพัฒนา ตำบลคำขวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และหนึ่งในไม้ผลที่ หมวดเป ปลูกแล้วประสบความสำเร็จนั้น คือ "สละอินโด" หรือ "สละน้ำผึ้ง" ซึ่งถือเป็นเกษตรกรรายแรกในจังหวัดอุบลราชธานี

ร้อยตรีสิทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนเคยปลูกผลไม้มาแล้วหลายชนิด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งได้มารู้จักกับผลไม้อย่างสละสายพันธุ์อินโดนีเซีย หรือสละน้ำผึ้ง เมื่อครั้งไปปฏิบัติภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เกิดความชื่นชอบในความแปลก เพราะมีรสชาติที่อร่อยและแตกต่างไปจากสละทั่วไป เนื่องจากเนื้อของผลจะมีสีขาว และมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ แต่มีความพิเศษตรงที่เนื้อของผลนั้นจะไม่ติดเมล็ด ทำให้มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย น่ารับประทาน นอกจากนี้ยังเป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่กำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นผลไม้รสอร่อย ที่ตลาดมีความต้องการสูง ปลูกก็ง่าย ขายก็คล่อง แถมขายได้ราคาดีอีกด้วย บางคนคิดว่า สละอินโด ปลูกได้เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ แต่ความจริงแล้ว ทุกๆ พื้นที่ในประเทศไทย สามารถปลูกสละอินโดนีเซียได้อย่างสบาย

โดยก่อนหน้านี้ตนเคยลองปลูกเล่นๆ ภายพื้นที่บ้านพักในค่ายทหาร สามารถเก็บผลขายได้ราคาถึง กิโลกรัมละ 80 บาท เห็นราคาดีและตลาดต้องการ จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ มาเป็นเกษตรกรเต็มตัวโดยการปลูกต้นสละอินโด อย่างจริงจัง ทำมาได้ประมาณ 4 ปีกว่าแล้ว มีอยู่ทั้งหมด 3,000 ต้น ในพื้น 10 ไร่ ปัจจุบันตนเองได้ลดพื้นที่ปลูกลงเนื่องจากมีเกษตรกรที่สนใจมาดูงานและสั่งซื้อต้นพันธ์สละอินโดเพิ่มมากขึ้น ตนเองได้หันมาเพาะพันธุ์สละอินโดปีละ 15,000 ต้น ขายต้นละ 80 บาท สร้างรายได้ให้ตนเองกว่า 7-8 แสนบาทต่อปี

การปลูกสละอินโด นี้ในพื้นที่ภาคอีสานถือว่าเป็นพืชตัวใหม่ที่มาแรง และไม่มีปัญหาเรื่องของราคาตกต่ำหรือเรื่องของภัยธรรมชาติเช่นภัยแล้งเหมือนพืชชนิดอื่นๆ อีกทั้งสละอินโดสามารถที่จะนำไปแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สละอินโดที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสานไม่ค่อยมีออกมาขายตามตลาดเพราะยังไม่มีการปลูกมาก ตลาดยังต้องการอีกมาก ขณะที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานเนื่องจากดีต่อร่างการมีสารอาหารหลายอย่างที่ร่างกายต้องการ

การปลูกสละอินโดถือว่าเป็นพืชที่ปลูกง่ายและไม่มีศัตรูพืช เหมือนพืชหรือผลไม้ชนิดอื่น เพียงแต่พื้นที่ปลูกนั้นต้องมีไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ เนื่องจาก สละอินโด ไม่ชอบแสงแดด ต้องอาศัยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ โดยจะออกดอกติดผลได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีช่วงติดผลดกตามธรรมชาติในช่วงฤดูฝน และผลจะสุกในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง เดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งในช่วงนี้ได้เริ่มทยอยให้ผลผลิตบางส่วนแล้ว โดยจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่สวนกันแบบไม่อั้น นอกจากจะขายผลสดแล้ว ตนเองยังได้เพาะพันธุ์ต้นกล้าส่งขายให้เกษตรกรที่สนใจ ในราคาต้นละ 80-100 บาท แล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้นและใบ

ร้อยตรีสิทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากสละอินโด หรือ สละน้ำผึ้ง จะทานกันแบบผลสดโดยตรงแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลายชนิด เช่น การแช่แข็ง การแช่อิ่ม อบแห้ง ดอง และ ทำสละลอยแก้ว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางอาหารมากมาย อาทิ คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินซี วิตามินบี เป็นต้น