บิ๊กธุรกิจต่อทุนทีวีดิจิทัลหวังขยายพอร์ต-ชิงโฆษณา

บิ๊กธุรกิจต่อทุนทีวีดิจิทัลหวังขยายพอร์ต-ชิงโฆษณา

ทีวีดิจิทัล“ช่องใหม่”เริ่มออกอากาศในปี 2557 จำนวน 24 ช่อง เพิ่มขึ้นจากฟรีทีวียุคอนาล็อก 4 เท่าตัว ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดเม็ดเงินโฆษณาทีวีในอุตสาหกรรมโฆษณามีแนวโน้มลดลง จากสัดส่วนกว่า 60% มูลค่าโฆษณา 8 หมื่นล้านบาทในปี 2557

ปีนี้สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์มูลค่าโฆษณาทีวีอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 56% ของอุตสาหกรรมโฆษณา 1.08 แสนล้านบาท จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้สื่อออนไลน์ขยายตัวและเข้ามาเป็นตัวเลือกให้สื่อโฆษณาแย่งงบประมาณไปจากสื่อทีวีมากขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมโฆษณายังต้องเผชิญภาวะถดถอย จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางการแข่งขันสูงทั้งจำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้น โดยเม็ดเงินยังกระจุกตัวอยู่ที่ 2 ช่องผู้นำ “ช่อง3และช่อง7” ในช่วงเริ่มต้นที่ครองสัดส่วนไปกว่า 60-70% ของเม็ดเงินโฆษณาทีวี ปัจจุบันงบประมาณกระจายตัวมายังกลุ่มผู้นำเรทติ้งช่องใหม่ในกลุ่มท็อป 5 มากขึ้น  

ทีวีแข่งเดือด-ต้นทุนสูง

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ กล่าวว่ากลุ่มที่ชนะการประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง มีทั้งกลุ่มทุนใหญ่สายป่านยาวและคอนเทนท์โปรวายเดอร์ที่มีทุนไม่มาก ด้วยจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว เม็ดเงินโฆษณาไม่เพิ่มขึ้น ผู้นำเรทติ้งเดิมแข็งแกร่ง 

รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเติบโตของประชากรออนไลน์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วน 67%  กว่า 46  ล้านคนในปัจจุบัน  ส่งผลต่อพฤติกรรมเสพสื่อผ่านจอทีวีลดลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการหารายได้โฆษณาทีวีทั้งสิ้น

ขณะที่ฟรีทีวีเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ทั้งค่าใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณ ต้นทุนสำคัญค่าผลิตคอนเทนท์  สำหรับช่องข่าวต้องใช้เงินทุนราว 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนช่องวาไรตี้อยู่ที่ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี  ต้นทุนสูงที่สุดคงเป็นละครอยู่ที่ตอนละ 1 ล้านบาท เช่นเดียวกับรายการวาไรตี้ บิ๊กโปรดักชั่น

ถอยทัพ-เสริมทุน

สถานการณ์ช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัลที่ต้องเผชิญทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว รวมทั้งการแข่งขันสูง รายได้โฆษณาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้ทีวีดิจิทัล สายป่านไม่ยาวต้องออกจากตลาด เพียงปีแรกของการดำเนินธุรกิจ คือช่องไทยทีวีและโลก้า ของนางพันธุ์ทิภา ศกุณต์ไชย (ติ๋ม ทีวีพูล) 

ขณะที่หลายช่องต้องหาพันธมิตร“แหล่งทุน” เข้ามาเสริมทัพ เริ่มด้วยปลาย พ.ย. 2559 บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี ทายาทนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ลงทุน 850 ล้านบาท ถือหุ้น 47.62%  บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของช่องอมรินทร์ทีวี

ต่อด้วย ธ.ค. 2559 บริษัทประนันท์ภรณ์ จํากัด กลุ่มปราสาททองโอสถ เพิ่มทุนในบริษัทวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มูลค่า 1,905 ล้านบาท

ถือหุ้น 50% ในทีวีดิจิทัล “ช่องวัน” ร่วมกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และนายถกลเกียรติ วีรวรรณ

ล่าสุด วันที่ 24 ส.ค. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แจ้งตลาดหลักทรัพย์เรื่องการเพิ่มทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิทัลช่อง “จีเอ็มเอ็ม25” โดยจัดสรรหุ้นมูลค่า 1,000 ล้านบาทให้บริษัท อเดลฟอส จำกัด ของทายาทสิริวัฒนภักดี  หรือสัดส่วนหุ้น 50%

ทุนใหญ่ขยายพอร์ต-ชิงโฆษณา

ทางด้านแหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมโฆษณา มองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนใหญ่เงินทุนหนา ที่เข้ามาร่วมถือหุ้นในธุรกิจทีวีดิจิทัล วิเคราะห์ได้หลายประเด็น ในกลุ่ม"สิริวัฒนภักดี" ที่เข้ามาถือหุ้น 2 ช่อง คือ อมรินทร์ทีวีและจีเอ็มเอ็ม25  มองได้หลายด้าน ทั้งการขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในเครือข่ายสู่กลุ่มสื่อทีวีเพิ่มเติม

จากปัจจุบันทีซีซี กรุ๊ป มีธุรกิจ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม,ธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า, ธุรกิจประกันและการเงิน, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยมีรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท

หากมองโอกาสในธุรกิจทีวีดิจิทัลช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน คือ ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี ที่พัฒนาคอนเทนท์โดดเด่น ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ผู้นำเรทติ้งฟรีทีวี ตั้งแต่ปีแรก  โดยทำกำไรตั้งแต่เริ่มออกอากาศในปี 2557 ที่มีรายได้ 2,270 ล้านบาท กำไร 21 ล้านบาท  ขณะที่ผลประกอบครึ่งปีแรก 2560  เวิร์คพอยท์มีรายได้ 1,952 ล้านบาท กำไร 546 ล้านบาท

ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี ที่แม้จะถดถอยในช่วง 3 ปีนี้ จากสื่อออนไลน์ขยายตัวสูง ส่งผลต่อพฤติกรรมเสพสื่อในยุคนี้ที่ย้ายจากหน้าจอทีวี สู่จออื่นๆ แต่ปัจจุบันทีวียังครองสัดส่วนอุตสาหกรรมโฆษณาแสนล้าน กว่า50% มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนสื่อออนไลน์ที่มาเป็นอันดับ 2 สัดส่วนราว 11% มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท 

เวิร์คพอยท์ เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่หากมีคอนเทนท์โดดเด่น สามารถช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาทีวีที่มีมูลค่าสูงกว่าทุกสื่อ และสามารถต่อยอดคอนเทนท์ไปยังดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อหารายได้จากสื่อออนไลน์ที่ขยายตัวสูงอีกช่องทาง 

“เชื่อว่ากลุ่มทุนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในทีวีดิจิทัล มองทั้งช่องทางขยายธุรกิจและโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาวในสื่อทีวีดิจิทัล ที่ยังเป็นสื่อหลักเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ”

ช่องทางต่อยอดธุรกิจ

อีกมุมมองกรณี ทีซีซี กรุ๊ป เข้าไปลงทุน“จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง” ซึ่งมีทั้งสื่อทีวีดิจิทัล,วิทยุเอ-ไทม์,ธุรกิจท่องเที่ยว และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่แข็งแกร่ง โดยกลุ่มเป้าหมายของจีเอ็มเอ็ม25 กลุ่มหลักคืออายุ 15-24 ปี  เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของเครือทีซีซี  ทั้ง โออิชิ เสริมสุข เอฟแอนด์เอ็น เคเอฟซี

ดังนั้นการลงทุนในสื่อทีวีของทีซีซี จึงสามารถใช้เป็นช่องทางการสื่อสารธุรกิจในเครือกับกลุ่มเป้าหมายหลักโดยตรง ปีที่ผ่านมาไทยเบฟใช้งบโฆษณามูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท การลงทุนในสื่อทีวีดิจิทัลที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงถือเป็นอีกโจทย์ของการต่อยอดธุรกิจ

ปัจจุบันธุรกิจทีวีดิจิทัล ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสถานการณ์ลำบาก หลังจากนี้ยังคงเห็นการดึงกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเพิ่มเติม