นักวิชาการ ชี้หมดยุค 'ชินวัตร' เพื่อไทยแพแตก

นักวิชาการ ชี้หมดยุค 'ชินวัตร' เพื่อไทยแพแตก

นักวิชาการมองอนาคตการเมืองไทยหลัง "ยิ่งลักษณ์" หนี ชี้หมดยุค "ชินวัตร" เพื่อไทยแพแตก ฟันธงนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา"

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา วิเคราะห์การเมืองไทยหลังจากนี้ว่า การเมืองไทยแม้จะมีหรือไม่มียิ่งลักษณ์ ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะถึงยิ่งลักษณ์อยู่ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว พรรคเพื่อไทยก็ต้องหาผู้นำคนใหม่อยู่ดี ตอนนี้คิดว่าคนในตระกูลชินวัตรคงเริ่มหายากขึ้นทุกทีและหลายคนคงเข็ดขยาดกับการเมือง ที่สำคัญไม่ว่าผู้นำคนใหม่พรรคเพื่อไทยจะเป็นใคร พรรคจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบ เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศตามที่คสช.ระบุที่ต้องการให้การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ให้เสียของ พรรคเพื่อไทยก็คงไม่มีโอกาสกลับเข้ามาบริหารประเทศในสมัยหน้าอย่างแน่นอน

“ในอีกทางหนึ่งอาจมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่อีกมาก หรือแม้แต่คนในพรรคเพื่อไทยเองอาจแตกออกไปตั้งพรรคใหม่หรือเข้าร่วมกับพรรคอื่น ตามคำกล่าวที่ว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ดังนั้น ฟันธงได้เลยนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”

นักวิชาการคนเดิมยอมรับว่าปัญหาที่จะเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับพลเอกประยุทธ์ คือปัญหาเศรษฐกิจ และคนใกล้ตัว การปฏิรูปประเทศที่เป็นจุดขายที่ท่านประกาศไว้ทำท่าจะพายเรืออยู่ในอ่าง คณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น สนช.สปช.และล่าสุดสปท.ที่เพิ่งพ้นสภาพไปแล้วกลายร่างมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ รวมทั้งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามม.44 ล้วนเป็นคนกลุ่มเดิม ๆ ที่สำคัญแทนที่จะทำงานไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายบริหาร หรือรัฐมนตรี แต่กลับไปคนละทิศละทาง ข้อเสนอของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมานั้นมีเพียงไม่กี่ประเด็นที่ถูกนำมาดำเนินการต่ออย่างเป็นรูปธรรม หรือนำมาใช้แบบไม่เข้าใจที่มาที่ไปอย่างถ่องแท้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปฏิรูปการศึกษา ไม่ว่าการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ คูปองครู การใช้อำนาจตามมาตรา 44 มากเกินไป 

“ผมคิดว่า คสช.ควรเปิดพื่นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ ข้าราชการประจำ หรือแม้แต่นักการเมืองได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังโดยเร็ว” ผศ.ดร.รัฐกรณ์กล่าว 

นักวิชาการ ชี้หมดยุค 'ชินวัตร' เพื่อไทยแพแตก

ขณะที่ รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยกษตรศาสตร์ให้ทัศนะว่า การเมืองไทยหลังตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศไปแล้ว ก็จะยังคงเหมือนเดิม และจะปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายทางการเมืองของแต่ละพรรคในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แบ่งประชาชนออกเป็นสองข้างอย่างชัดเจน แม้จะมีบางกลุ่มพยายามแยกออกและแสดงตนเป็นข้างที่ 3 แต่ก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องเอนไปทาง ด้านใดด้านหนึ่ง ระหว่าง สองคำทางการเมืองที่ได้ยินจนชินหูมาตลอด ‘เสื้อแดง’ และ ‘สลิ่ม’ 

“ในกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นข่าวดังในนาทีนี้ หนีไม่พ้นว่า เป็นคดีทางการเมือง ซึ่งตอนนี้เธอได้ตัดสินใจหนีคดี ตามรอยพี่ชายเธอ คุณทักษิณ ชินวัตร และได้หนีออกนอกประเทศคงไม่พ้นการลี้ภัยทางการเมือง”

ส่วนคำถามที่ว่าเมื่อไม่มียิ่งลักษณ์ แล้ว การเมืองในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อ ส่วนตัวคิดว่า ก็คงจะเป็นสองข้างเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่จะมาเปลี่ยนความคิดสุดขั้วของคนสองกลุ่มนี้ได้ หากย้อนดูคดีที่สำคัญที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น กรณีของคดีสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มูลคดีก็เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนใจ ผู้สนับสนุนอีกฝั่งให้กลับมาสนับสนุนอีกฝั่งได้แม้แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นกรณีของยิ่งลักษณ์  ก็คงไม่ได้เปลี่ยนใจฝั่งที่สนับสนุน ยิ่งลักษณ์ ให้กลับกลายมาเป็นฝั่งตรงข้ามได้ แต่นั่นจะยิ่งสร้างความเห็นใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากขึ้นของกลุ่มคนสนับสนุนยิ่งลักษณ์ 

“ในเรื่องของคดีความ ทุกคดีนั้น เราหมดข้อสงสัยในเรื่องของกฎหมาย เพราะกฎหมายให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมเสมอกับทุก ๆ คน แต่ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายนั้น สองกลุ่มมองต่างกัน เพราะหากมีการเลือกปฏิบัติจากผู้มีอำนาจในการเซ็ตเรื่อง ชงเรื่อง นั่นคือความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม เท่าที่เห็นในหลายคดีทุจริตในอดีตถูกปล่อยให้ คดีหมดอายุความทั้ง ๆ ที่เป็นคดีทางการเมืองเช่นกัน ก็อยู่ที่ว่า ใครจะชงเรื่อง ยุติเรื่อง เราจะเห็นหลายๆ คดี ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่เสนอเรื่อง หรือชงเรื่องขึ้นสู่ศาล จึงเกิดปัญหาทางการเมือง คดีเหล่านี้เป็นคดีการเมือง มันจึงมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่รู้จบรู้สิ้น”

นักวิชาการคนเดิมระบุอีกว่าจากนี้ไปต้องน่าจับตามองว่า ประเทศเราจะเดินหน้าไปอย่างไร และจะมีกรณีทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ตนคิดว่าการเมืองไทย คงเดินไปเป็นคู่ขนานอย่างนี้ไปอีกนาน การเมืองมิติใหม่ ขวัญใจรากหญ้าที่ตระกูลชินวัตร สร้างขึ้นมา มันฝังรากลึกกับกลุ่มคนอีกกลุ่ม เปรียบเทียบได้ว่าเป็นสงครามของการแบ่งชนชั้น กลุ่มรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งเคยได้รับผลประโยชน์หรืออานิสงส์จากนโยบายของตระกูลชินวัตร คงไม่อาจลืมเลือนและกลับเข้าไปสนับสนุน กลุ่มชนชั้นที่วางฐานอำนาจอยู่อีกข้างได้แน่นอน

"การเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผลคะแนนการเลือกก็จะไม่มีอะไรต่างจากเดิมมากนัก เว้นแต่จะเขียนกติกาเพื่อให้ฝั่งตนเองได้เปรียบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บรรยากาศทางการเมืองสองฝั่งก็ไม่ต่างไปจากในสมัยที่ตระกูลชินวัตรยังอยู่ในประเทศไทย อยู่ที่ว่า เขาจะเอาใครขึ้นเป็นตัวแทนเพื่อเดินหน้าทฤษฎีทางการเมืองของเขาต่อไป ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ การสลายสองขั้วนี้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อประชาชนกลุ่มที่เคยอยู่ในวังวนการเมืองแบบนี้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ก็อยู่ที่คนเขียนประวัติศาสตร์การเมืองที่จะให้คนรุ่นใหม่ศึกษา ตัดสินกันต่อไป" รศ.ดร.วีรชัยกล่าว