ม.กรุงเทพปั้น 'คนพันธุ์เกม’ รองรับความต้องการตลาด

ม.กรุงเทพปั้น 'คนพันธุ์เกม’ รองรับความต้องการตลาด

ใครที่เคยมองว่าเกมอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องไร้สาระ เห็นทีจะต้องปรับทัศนคติกันใหม่แล้ว เพราะปัจจุบันเกมไม่ได้มีไว้เล่นเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ได้กลายเป็นธุรกิจที่มีส่วนแบ่งในตลาดเมืองไทยอย่างมหาศาล มูลค่าตลาดที่สูงเกือบ 10,000 ล้านบาท

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล็งเห็นตลาดที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นี้ จึงเปิดหลักสูตรเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟขึ้น เพื่อปั้นคนพันธุ์เกมป้อนตลาดที่ยังมีตำแหน่งงานให้เลือกอย่างเหลือเฟือ โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนที่พร้อมปั้นคนพันธุ์เกมให้เก่งรอบด้านครบในคนเดียว ซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้วจะไปทำตำแหน่งอะไรก็ได้ในอุตสาหกรรมเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ โดยไม่จำเพาะเจาะจงแค่อาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้แล้ว องค์ประกอบสำคัญที่มาเสริมให้เด็กเก่งกาจ เห็นจะหนีไม่พ้นเครื่องไม้เครื่องมือสุดทันสมัย เช่น แล็บดิจิทัลมีเดียที่เยี่ยมยอดที่สุดในอาเซียน

แล็บดังกล่าวมาพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับเวิลด์คลาส สมรรถนะเร็ว แรง ไม่สะดุด สร้างสรรค์ภาพได้ละเอียดสมจริงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป สนนราคาชุดละกว่า 200,000 บาท

นอกจากนี้ ยังระดมคณาจารย์ผู้มีดีกรีดอกเตอร์สาขานี้โดยตรงหลายท่านมาให้ความรู้กับนักศึกษา และยังมีพันธมิตรมาร่วมร่างหลักสูตร พร้อมส่งวิทยากรผู้ทำงานในอุตสาหกรรมจริงมาช่วยฝึกฝีมือและแบ่งปันประสบการณ์ให้นักศึกษา อาทิ Full Sail University มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเกมและดีไซน์จากสหรัฐ บริษัทการีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเกมชั้นแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีคอเกมคนไหนไม่รู้จัก ฯลฯ

องค์ประกอบทั้งหมดนี้ทำให้หลักสูตรเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เตรียมขึ้นแท่น “ตัวจริงนักปั้นคนพันธุ์เกม” ของเมืองไทย

ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม กล่าวถึงความโดดเด่นของหลักสูตรนี้ว่า ที่นี่ไม่ได้มุ่งเน้นผลิตคนพันธุ์เกมที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคสำหรับสร้างเกมบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ เท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยยังสอนอีก 2 ด้านควบคู่ไปด้วย ได้แก่ ด้านศิลปะ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการสร้างสรรค์รูปแบบเกมให้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนสตอรี่บอร์ด การออกแบบฉากและตัวละคร โดยได้รับความร่วมมือจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ในการช่วยจัดหลักสูตร

ทั้งยังสอนด้านบริหารธุรกิจเพื่อให้นักศึกษาสามารถต่อยอด และหาช่องทางในการเสริมสร้างรายได้ เช่น ทำอย่างไรถึงจะขายเกมได้ เรียนรู้วิธีนำเกมเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย สร้างธุรกิจเกี่ยวกับเกม รวมไปถึงการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต (eSports) กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่เตรียมบรรจุอยู่ในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนให้นักศึกษา เป็นนักกีฬาอีสปอร์ต และร่วมผลักดันวงการอีสปอร์ตในไทย อย่างเช่นการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ยูลีค 2017 (U-League 2017) ซึ่งจะจัดรอบชิงชนะเลิศในเดือนพ.ย.

“เรียกได้ว่า เราสอนนักศึกษาครบทุกมิติจริงๆ เพราะต้องการให้เด็กมีความเชี่ยวชาญรอบด้านในตัวคนเดียว เมื่อเรียนจบแล้วจึงสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในทุกตำแหน่งงานของอุตสาหกรรมเกม”

ไม่เพียงแต่จะปั้นเด็กให้เป็นผู้ผลิตเกมที่มีจรรยาบรรณในการสร้างสรรค์เกมดีๆ สู่ตลาดเท่านั้น หลักสูตรการสอนยังครอบคลุมไปถึงการผลิตสื่ออินเทอร์แอคทีฟอื่นๆ ด้วย ทั้งเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริง (VR -Virtual Reality) และเทคโนโลยีการรวมสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับวัตถุเสมือน (AR -Augmented Reality) ซึ่งปัจจุบันนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในการฝึกฝนทักษะต่างๆ หรือรักษาอาการบางอย่าง อาทิ การสร้างภาพจำลองสำหรับนักศึกษาแพทย์ในการฝึกผ่าตัด การสร้างภาพจำลองสำหรับรักษาโรคกลัวความสูง

ทั้งหมดนี้ คือภาพสะท้อนที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ตลาดเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟนั้นกว้างขวาง และกำลังเติบโตไปพร้อมกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันจนถึงอนาคตอย่าง นับเป็นอาชีพใหม่ที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วทัดเทียมนานาประเทศ