‘ไอแทป-เอแบค’เสริมไอทีเอสเอ็มอี

‘ไอแทป-เอแบค’เสริมไอทีเอสเอ็มอี

ไอแทป สวทช. จับมือเอแบค ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีจิวเวลรี ประเดิมด้วยเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คาดก่อนสิ้นปีมีผู้เข้าร่วมโครงการ 25-30 คน

จากนั้นจะขยายสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น

ภราดา บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ มีบุคลากรผู้สอนกว่า 2 พันคนที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุน ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายสนับสนุนบริการวิชาการที่สอดรับกับการทำงานตามกลไกประชารัฐ ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และยังช่วยให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ในสถานการณ์จริง เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคก็จะสามารถนำมาวิจัยต่อยอด สร้างองค์ความรู้ใหม่ได้อีกด้วย

รับลูกนโยบายเศรษฐกิจฐานราก

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP มาตั้งแต่ปี 2536 ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 7,000 ราย โดยคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการแต่ละราย มาช่วยทำโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีอยู่จำนวนมาก ขณะที่โครงการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านไอแทปก็มีเพิ่ม โดยในปีงบประมาณ 2560 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอีที่ให้การสนับสนุนจากประมาณ 400 รายเป็น 1,000 ราย และมีแผนเพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละปี

ในปีงบประมาณ 2563 จะสามารถสนับสนุนเอสเอ็มอีได้ 3,000 รายต่อปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2558 ทั้งนี้ก็เพื่อตอบรับนโยบายภาครัฐให้เกิดการเติบโตจากภายในประเทศ มากกว่าที่จะพึ่งพาธุรกิจรายใหญ่หรือการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินงานไม่น้อยกว่า 1,300 รายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยรัฐ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี จึงขยับสู่มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีทั้งศักยภาพและจุดแข็ง เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างไอแทปกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบค ที่มีศักยภาพสูงด้านไอทีภายใต้ “เครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” หรือเครือข่ายไอแทป มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น

“เอแบคมีจุดแข็งเรื่องการจัดการเรียนสอนด้านไอที ยังเป็นสถาบันที่สอดแทรกความเป็นเจ้าของกิจการที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่เข้าไปในหลักสูตร ทำให้เมื่อร่วมมือกับไอแทปจะสามารถนำความชำนาญในด้านนี้เข้าไปช่วยเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งขึ้น” ศ.ชนินทร จิตตวิริยานุกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยการศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ (Elearning ABAC) กล่าว

นำร่องติดอาวุธเอสเอ็มอีจิวเวลรี

ความร่วมมือในครั้งนี้ เริ่มมีผล 1 มิ.ย.นี้ ระยะเวลา 3 ปี มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 15 รายต่อปี ทั้งในลักษณะอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีที่จะสามารถเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ประกอบการ นำองค์ความรู้และงานวิจัยไปต่อยอดใช้ประโยชน์จริง รวมถึงเกิดความร่วมมือวิจัยระหว่างสองหน่วยงาน

“เราเริ่มที่กลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมจิวเวลรี หรือ Jewelry Tech เพราะมีความพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญของเอแบคและความต้องการจากเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างเศรษฐกิจการส่งออกในตลาดโลกต่อไป" ศ.ชนินทร กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนั้น เป็นหนึ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ช่างฝีมือ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรวมกว่า 1 ล้านคน โดยในปีที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าจิวเวลรีอันดับ 10 ของโลก

กิจกรรมนำร่องคือ การนำซอฟต์แวร์ ERP (Enterprise resource planning) และ BMP (Business Process Management) ที่เป็นการวางแผนบริหารธุรกิจขององค์กรเพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และซอฟต์แวร์การจัดการกระบวนการทางธุรกิจ มาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับเอสเอ็มอี จากเป้าหมาย 15 รายต่อปีก็มีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการครบในเวลาเพียง 2 เดือน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมโครงการอีก 10-15 ราย

โครงการฯ จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการใช้งานระบบ ERP และ BMP ผ่านเครือข่าย Cloud Computing จะช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง การผลิต และการขายทำได้อย่างราบรื่น จึงทำให้สามารถบริหารองค์รวมเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการได้อีกทางหนึ่งด้วย