เวทย์มนต์ใหม่ ของพ่อมดน้อย JPW

เวทย์มนต์ใหม่ ของพ่อมดน้อย JPW

สร้างเนื้อสร้างตัวรุกธุรกิจเกือบ 10 ธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือการปั้น JPW ธุรกิจ“แฟรนไชส์มอเตอร์ไซต์มือสอง”เจ้าแรกที่ “จักรพันธ์ ประจวบเหมาะ” คิดขึ้นจากจับจุดบอดรถมอเตอร์ไซด์มือหนึ่งที่ราคาสูง พัฒนาระบบกว่า 7 ปี ก่อนจะต่อยอดธุรกิจนี้ไปสู่ธุรกิจคลังสินค้า

ประวัติธุรกิจโชกโชนของ "จักรพันธ์ ประจวบเหมาะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจพี เวิลด์ เทรดดิ้ง จำกัด (มหาชน) แม้จะเติบโตมากับครอบครัวนักการเมืองท้องถิ่น แต่ใจอยากเอาดีเป็นนักธุรกิจ ซึ่งเจ้าตัวรู้ตัวเองดีว่า มีฝันอยากเป็นเจ้าสัวน้อยตั้งแต่อายุ 16 ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย จึงเจียดเวลาส่วนหนึ่งไปขายของ ทำตั้งแต่ขายเสื้อผ้า นาฬิกา จนกระทั่งกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ก็ลองทำทุกอย่างทั้งรายการวิทยุ ทำปศุสัตว์ทั้งรุ่งและร่วง

ความที่เป็นคนที่ชอบคิดอะไรใหม่ๆ เดินหน้าตลอดเวลา เมื่อเขายิ่งคิด ยิ่งทำยิ่งสนุกกับการเปิดเกมธุรกิจแล้วสำเร็จ ก็ยิ่งทำให้มีความสุข ภาคภูมิใจกับน้ำพักน้ำแรงที่สร้างขึ้นมา ซึ่งความชื่นใจที่ได้ไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่มีความอิ่มใจที่เป็นผู้แปลงธุรกิจจากความคิดของตัวเองจนสำเร็จ

นั่นทำให้ปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าของทรัพย์สินรวมกันแตะพันล้าน จากการเข้าไปลงทุนกับเพื่อนๆ ในวงธุรกิจไม่ต่ำกว่า 9-10 บริษัท อาทิ ธุรกิจโฆษณาและสื่อ ผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็ง ธุรกิจไอที เป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จนได้รับจึงได้รับฉายาพ่อมดน้อยการเงินจากคนแวดล้อมตั้งแต่วัย 30 ต้นๆ

เขาเล่าว่า ธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเอง ถือเป็นธุรกิจใหม่ ที่ไม่เคยมีในตลาด อย่าง บริษัท เจพีดับบลิว (JPW) ธุรกิจร้านมอเตอร์ไซด์มือสอง เปิดตัวมา 7 ปี (ก่อตั้งปี 2553) ตอนนี้มี 100 สาขา ยอดขาย 80 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะขยายแฟรนไชส์ทั่วประเทศ 7,000 สาขา หรือทุกตำบลในไทย ในอนาคต

เจพีดับบลิว ถือเป็นธุรกิจธุรกิจมอเตอร์ไซต์มือสองเจ้าแรกและเจ้าเดียว ที่คิดและออกแบบโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์มอเตอร์ไซต์จากการค้นพบความต้องการที่ซ่อนเร้นของทั้งลูกค้า และผู้ประกอบการ

ธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากการที่เขาเข้าไปเป็นตัวแทนซับดีลเลอร์(ตัวแทนจำหน่ายย่อย)มอเตอร์ไซค์มือหนึ่งที่เห็นโอกาสเติบโตเยอะมาก แต่เข้าไปเปิดธุรกิจไม่ได้ เพราะมีเจ้าถิ่นอยู่เต็มพื้นที่ 

สิ่งที่ยืนยันถึงความต้องการตลาดรถมอเตอร์ไซค์มือสองว่า มาแรงจริง คือ ชาวบ้านรากหญ้าที่มีความต้องการมอเตอร์ไซด์มือสอง ไม่เน้นราคาสูง “แต่เน้นใช้งานเป็นหลัก” นี่คือจุดบอดของมอเตอร์ไซด์มือหนึ่ง

ราคาแตกต่างกันเกือบครึ่งระหว่างรถยนต์มือหนึ่ง 4 หมื่นกว่าบาทรุ่นต่ำๆ ขณะที่มือสอง ราคาเริ่มต้นที่ 2 หมื่น ชาวบ้านจึงยอมซื้อ ที่สำคัญ ตลาดรถยนต์มือสองเติบโตอย่างมากเฉลี่ย 30-40% และรถมือสองก็ไม่เคยขาดตลาด

หลังจากขยายสาขาได้ 2-3 ร้าน จนเข้าใจระบบการคัดเลือกรถมือสองสภาพเกือบเป็นรถมือหนึ่ง 90% ต้องไปประมูลที่ไหนมอเตอร์ไซด์ที่ประมูลมาแล้วแต่เป็นเกรดรอง ก็ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกันยัง จัดแพ็คเกจเช่าซื้อ(Leasing)บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ารากหญ้า

เมื่อยิ่งขยายสาขา ก็ยิ่งขายรถมอเตอร์ไซต์ได้มาก จึงมาลงตัวที่การขยายธุรกิจผ่านระบบ "แฟรนไชส์"

“ผมมองเห็นช่องว่างของคนอยากเป็นเจ้าของกิจการรถมอเตอร์ไซด์ แต่ไม่มีแหล่งรับซื้อรถ และยังไม่เข้าใจการวางระบบซื้อขายธุรกิจยุ่งยากซับซ้อน ทั้งบริการตรวจเช็คสภาพรถโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับรับประกัน 36 รายการ การจัดหาระบบผ่อนให้กับลูกค้าโดยดีลกับสถาบันการเงิน แต่ทั้งหมดเจพีดับบลิวลุยธุรกิจจนเข้าใจ จึงเซ็ทเป็นแฟรนไชส์ที่พร้อมแจ้งเกิดให้ธุรกิจ”

เขายังระบุว่า ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีตลาดรถมอเตอร์ไซค์มือสองก็ยิ่งเติบโต ทุกปีจะมีรถมือสองที่คืนเพราะผ่อนต่อไม่ไหวปีละไม่ต่ำกว่า 50% ตลอด7 ปีที่พัฒนาธุรกิจจึงไม่เคยเจอปัญหารถขาดตลาด และสภาพรถที่ประมูลมาก็เหมือนใหม่ 90%”

สำหรับแฟรนไชส์จึงถูกออกแบบมาตั้งแต่ราคา 1.5 แสนบาทจนถึงราคา 2.7ล้านบาท ตามสภาพความต้องของแฟรนไชส์ซี ก่อนอนุมัติแฟรนไชส์ บริษัทจะวิเคราะห์ศักยภาพทำเลพื้นที่และความต้องการของท้องถิ่น รวมถึงคู่แข่งก่อนให้เปิดจริง เพื่อไม่ให้พลาด กลุ่มคนที่เข้ามาเป็นลูกค้าซื้อแฟรนไชส์มีตั้งแต่คนเริ่มต้นอยากทำธุรกิจ คนวัยเกษียณ จนถึงคนที่เป็นดีลเลอร์รถมือหนึ่งอยู่แล้วอยากหันมาขายรถมือสอง

ปีนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มอีก 30 สาขา และกำลังจะขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากเมียนมา และกัมพูชา มีคนสนใจเข้ามาซื้อไลเซ่นท์ระบบธุรกิจ และส่งมอเตอร์ไซด์จากไทยไปข้ามชายแดนให้ลูกค้าไปขายต่อเพราะไทยเป็นที่หนึ่งด้านของแหล่งผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในอาเซียน

ปัจจุบันธุรกิจ JPW มีรายได้จาก 3 ทางคือ1.ซื้อมาขายไปรถมอเตอร์ไซด์มือสอง 2.นำเข้ามอเตอร์ไซด์มือ2จากญี่ปุ่น และ3.ขายแฟรนไชส์ ขณะเดียวกันยังมีโอกาสพัฒนาด้านการบริการศูนย์บริการซ่อมและขายอะไหล่ บริการเสริมให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์

ระบบแฟรนไชส์ปรับจนครบวงจร ตอบโจทย์คนทำธุรกิจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มือสอง ตั้งแต่การบริหารจัดการระบบขนส่ง คลังสินค้า รวมถึงโลจิสติกส์ครบวงจร

จักรพันธ์ ยังเผยว่า จากการแก้โจทย์เรื่องการบริหารสต็อก และขนส่งรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกค้าทั่วประเทศ ทำให้ปัจจุบันมีระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง มีคลังสินค้าพื้นที่เหลือเกือบ 2 ไร่ ที่ตลิ่งชัน กลายเป็นการแตกไลน์ โมเดลธุรกิจใหม่” ต่อยอดจากคลังสินค้าที่มีอยู่ กับธุรกิจบริการฝากเก็บ แพ็ค ขนส่งสินค้าแบบครบวงจรทั่วประเทศ จากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

พ่อค้าแม่ค้าในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นก็มีหน้าที่ขายของ เราก็ให้บริการหลังบ้านครบวงจร ตั้งแต่รับฝากเก็บสินค้าตารางเมตรละ 150 บาทต่อเดือน สัญญาณขั้นต่ำ 3 เดือน

จักรพันธ์ ยังวางแผนระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี 2561เมื่อเตรียมเงินไปลงทุนคลังสินค้าในโซนอื่นๆ กระจายการบริการให้ครอบคลุมกรุงเทพฯ ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

คลังสินค้าเป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่มีในตลาด(Unmet)เกิดขึ้นพร้อมกับเทรนด์การเติบโตของโลกออนไลน์ที่ยังไม่มีใครทำรูปแบบนี้คอยบริการให้กับกลุ่มธุรกิจ

เขาทิ้งท้ายของการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะต้องมี “ทัศนคติที่ดี” คิดหาสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา แต่ละประสบการณ์ชีวิตและสิ่งที่เริ่มทำต้องรักและพร้อมลุย ทั้งรถมอเตอร์ไซค์มือสองและธุรกิจคลังสินค้า เป็นสิ่งที่เขายืนยันว่า เขารักมากกว่าออกไปสังสรรค์นอกบ้าน จึงทุ่มเทให้กับธุรกิจที่เขารักและสนุกที่อยู่กับสิ่งนี้ จนเข้าใจกลไกธุรกิจ พัฒนาระบบและแฟรนไชส์ที่พร้อมพาธุรกิจไปต่ออย่างไม่หยุดยั้ง

------------------------------ 

คิดอย่างพ่อมดน้อยธุรกิจ

-ค้นหาสิ่งใหม่ที่ตลาดไม่มีเสมอ

-เซ็ทธุรกิจให้เป็นระบบ ไม่หยุดต่อยอดธุรกิจ

-ใช้ระบบแฟรนไชส์ขยายตลาด

-รักในสิ่งที่ทำ ทุ่มให้สุดตัว