‘ขนมครก4.0’ยืดอายุสู่ตลาดโลก

‘ขนมครก4.0’ยืดอายุสู่ตลาดโลก

“ขนมครก(เข้าวัง)” เสริมจุดแข็งให้แบรนด์โดยเติมความเชี่ยวชาญจากสถาบันอาหาร พัฒนากระบวนการผลิตได้เป็น “ขนมครกอบกรอบ” ยืดอายุใส่กล่องส่งออกต่างประเทศ

“ขนมครก(เข้าวัง)” เสริมจุดแข็งให้แบรนด์โดยเติมความเชี่ยวชาญจากสถาบันอาหาร พัฒนากระบวนการผลิตได้เป็น “ขนมครกอบกรอบ” ยืดอายุใส่กล่องส่งออกต่างประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 10-15% จากการวางจำหน่ายตามร้านขายของฝากในสนามบินและแหล่งท่องเที่ยว
“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องใช้เงิน เวลาและความอดทนในการลองผิดลองถูก เพราะไม่มีอะไรที่สมบูรน์แบบ 100% กว่าจะประสบความสำเร็จได้สูตรที่เป็นเอกลักษณ์และลอกเลียนแบบได้ยาก ขณะที่น้ำกะทิใช้วิธีการจ้างผลิตจากโรงงานกะทิพลาสเจอร์ไรส์” สกนธ์ ฐาปนะกิจไพบูลย์ ผู้บริหารแบรนด์ขนมครก (เข้าวัง) กล่าว


จากเตาหยอดสู่ไมโครเวฟ


จากปัญหาของลูกค้าที่ต้องการส่งขนมครกไปให้เพื่อนในต่างประเทศ กลายเป็นโจทย์ใหม่ให้แบรนด์ขนมครก (เข้าวัง) ต้องขบคิดหาวิธีแก้ไขโดยตัดสินใจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ช่วยแนะนำกระบวนการผลิต พร้อมกับลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตแป้งขนมครก
หลังจากใช้เวลาคิดค้นและพัฒนา 1 ปี จึงได้ต้นแบบขนมครกอบกรอบที่พร้อมส่งออก โดยยังคงเอกลักษณ์ด้านรสชาติและเนื้อแป้งที่กรอบนอกนุ่มใน ขนาดพอดีคำและหน้าขนมที่มีให้เลือกหลากหลาย


จากการทดสอบรสชาติถือว่าผ่าน แต่ยังต้องแก้ไขในเรื่องกระบวนการผลิตกะทิ จากเดิมเป็นพลาสเจอร์ไรส์ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาสั้นและโอกาสเสียง่าย จึงต้องการเปลี่ยนใหม่เป็นสเตอริไรส์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ได้นาน 1 ปี เหมาะกับการเป็นของฝาก แต่ก็ติดปัญหาการสั่งผลิตในโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งปริมาณการสั่งขั้นต่ำก็ยังมากเกินกว่าความต้องการใช้ จึงต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ แต่ในส่วนของเนื้อแป้งขนมครกไม่มีปัญหา สามารถเก็บได้นาน 6 เดือน


ในช่วงแรกของขนมครกอบกรอบจะเริ่มจากหน้ากะทิ จากนั้นจะพัฒนาหน้าใหม่เสริมเข้าไป คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถวางจำหน่ายตามร้านขายของฝากในสนามบิน และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ซื้อกลับไปฝากครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ผ่านมาพบว่า คนสิงคโปร์และญี่ปุ่นนิยมบริโภคขนมครก จากการเปิดบูธในงานแสดงสินค้า โดยคาดว่าขนมครกอบกรอบนี้จะเพิ่มรายได้ 10-15%


เปิดแฟรนไชส์สร้างรายได้เสริม


สกนธ์ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 เมื่อสถานบันการเงินที่ทำงานต้องปิดตัวก็กลายเป็นคนว่างงาน จึงหันมาให้ความสนใจกิจการขนมครกของพ่อตาที่ขายมานานเกือบ 40 ปี โดยพัฒนาหน้าขนมครกเพิ่มใหม่ 10 หน้า อาทิ ฝอยทองอบกรอบ อัลมอนด์ แปะก๊วย หน้ากุ้ง ฯลฯ เดิมมีหน้ากะทิเพียงหน้าเดียว จึงสร้างความแปลกและแตกต่างจากขนมครกทั่วไป ที่สำคัญทำให้ขนมครก (เข้าวัง) สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกเพศวัย ส่งผลให้เกิดการขยายฐานกลุ่มลูกค้าทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีกด้วย จากที่ขายเป็นคู่ก็เปลี่ยนมาขายเป็นกล่อง ปรากฏว่า ได้รับผลตอบรับที่ดี กระทั่งต้องขยายสาขาจากราชวัตรมาเปิดเพิ่มในย่านประชาชื่น


ล่าสุดได้ขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ เนื่องจากมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาหลายราย โดยแบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ รูปแบบแรกบอกสูตรฟรีไม่คิดเงิน เหมือนเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม รูปแบบที่ 2-4 จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1.0-7.5 หมื่นบาท เป็นการสอนให้กับผู้สนใจจะทำขายเป็นรายได้เสริม โดยไม่ใช้แบรนด์ขนมครก (เข้าวัง) ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นรถเข็น ได้รับสิทธิให้ใช้แบรนด์ขนมครก (เข้าวัง) ระยะเวลา 2 ปี และสุดท้ายเป็นตู้คีออสพร้อมเตารูปหัวใจ