เคาะแพ็คเกจ‘เน็ตประชารัฐ’ยันราคาต่ำกว่า 400 บาท

เคาะแพ็คเกจ‘เน็ตประชารัฐ’ยันราคาต่ำกว่า 400 บาท

การดำเนินงานโครงการ “เน็ตประชารัฐ” ของรัฐบาล มีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ

ภายหลังการลงพื้น ณ หมู่บ้านหนองขี้เหล็ก หมู่ 4 ต.วังหิน อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา พร้อมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เผยว่า อ.โนนแดงติดตั้งเน็ตประชารัฐได้ครบทั้ง 33 หมู่บ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว โดย ต.วังหินมีหมู่บ้านเป้าหมายที่ติดตั้งทั้งหมด 8 หมู่บ้าน

ขณะที่ ภาพรวมในการติดตั้งเน็ตประชารัฐในจังหวัดนครราชสีมาติดตั้งแล้วจำนวน 734 หมู่บ้าน จากแผนการติดตั้ง 1,573 หมู่บ้าน ซึ่งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีจุดติดตั้งอินเทอร์เน็ตประชารัฐจำนวนมากที่สุด คือ 13,435 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จแล้ว 6,567 หมู่บ้าน หรือ คิดเป็น 48.88% โดยภาพรวมทั้งโครงการ 24,700 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จแล้วจำนวน 12,000 หมู่บ้าน ทั้งนี้ปัจจุบันมีหมู่บ้านทั่วประเทศ 71,067 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว 30,635 หมู่บ้าน คิดเป็น 43.1% หมู่บ้านที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ 40,432 หมู่บ้าน คิดเป็น 56.9% และหมู่บ้านชายขอบอีก 3,920 หมู่บ้าน

การขยายติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเอฟทีทีเอ็กซ์นอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเท่าเทียม สิ่งสำคัญคือการสร้างโอกาสที่ทั่วถึงในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้ประชาชนและชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตไฮเวย์สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทั้งในด้านการศึกษา ด้านอี-คอมเมิร์ซซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้ให้ชุมชนกินดีอยู่ดีขึ้นรวมถึงชุมชน” รัฐมนตรีกระทรวงดีอี กล่าว

ส่วนเรื่องการกำหนดราคาค่าบริการสำหรับประชาชนที่ต้องการเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ใกล้เคียงนอกกลุ่มเป้าหมายนั้น คาดว่าต้นปีหน้าจะสามารถมีความชัดเจน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือโดยจะพิจารณาปัจจัยด้านงบประมาณ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. หากติดตั้งในโรงเรียน ต้องพิจารณาว่าในแต่ละโรงเรียนจะสามารถใช้งบประมาณจากไหนได้บ้าง อาทิ ภาครัฐ โดยกองทุนหมู่บ้าน เทศบาลตำบล หรืออาจจะเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน 2. หากเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) จะใช้งบประมาณจากไหน

และ 3.ธุรกิจท้องถิ่น หรือ ชาวบ้านแต่ละครัวเรือน ซึ่งกระทรวงดีอี ต้องเป็นผู้กำหนดราคากลางที่เหมาะสมให้กับผู้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ใช้เทียบราคาในการให้บริการซึ่งต้องถูกกว่าราคาที่ให้บริการอยู่ในท้องตลาด เพราะดีอีได้ลงทุนโครงข่ายให้บางส่วนแล้ว เช่น กำหนดราคากลางที่ประมาณ 300-400 บาท ต่อความเร็ว 30/10 เมก หากไอเอสพีจะให้บริการต้องกำหนดราคาที่ไม่แพงไปจากนี้โดยต้องเทียบกับความเร็วที่ให้บริการตามลำดับ

ด้านนายแพทย์สุนทร ชินประสาทศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สั่งการ การแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราช กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ ต.วังหิน กระทรวงดีอี ได้ร่วมมือกับ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในการใช้พื้นที่จุดที่มีไว-ไฟของโครงการอินเทอร์เน็ตชุมชนเพื่อให้บริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งโรงพยาบาลมีการพัฒนาเทคโนโลยี Telegraphic Medicine เพื่อเข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล โดยระบบจะมีการส่งภาพ,เสียง,สัญญาณชีพ และระบบการติดตามรถพยาบาลผ่านระบบจีพีเอสแบบเรียลไทม์ ไปยังโรงพยาบาล เพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษาได้ ที่สำคัญคือช่วยลดอัตราการเสียชีวิต