คุกคามทางเพศ! แค่คิด...ก็ผิดแล้ว

คุกคามทางเพศ! แค่คิด...ก็ผิดแล้ว

ภัยใกล้ตัวที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สังคมต้องช่วยกันสร้างมาตรฐานใหม่ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล

ถ้ากรณี เทย์เลอร์ สวิฟต์ ชนะคดีฟ้องร้องอดีตดีเจที่แอบจับบั้นท้ายเธอระหว่างถ่ายภาพร่วมกันเมื่อหลายปีก่อน คือสัญลักษณ์ของการไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ในทุกรูปแบบ จุดจบของคดีข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขลวนลามลูกจ้างสาวจะกลายเป็นภาพสะท้อนมาตรฐานแบบไทยๆ ในเรื่องเดียวกัน

แม้ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่าในบ้านเรามีผู้ที่ถูกลวนลามคุกคามทางเพศจำนวนเท่าไหร่ในแต่ละปี แต่สำหรับคนที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำในหลายหน่วยงานเห็นตรงกันว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน เกิดขึ้นกับคนในทุกสาขาอาชีพ ทุกสถานที่ และทุกเวลา

“หน่วยงานราชการ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ บ้านพักนายอำเภอ วัด โรงเรียน บนรถ ไปค่าย ไปทำงานวิจัย มันไม่เกี่ยวกับว่าที่ไหนปลอดภัยไม่ปลอดภัย แต่เป็นเรื่องโอกาสของผู้กระทำ และเป็นวิกฤติของผู้ถูกกระทำสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวจากประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศมาหลายสิบปี

ใครๆ ก็อาจกลายเป็นเหยื่อ

ไม่จำเป็นต้องขาวอวบหรือสวยเซ็กซี่ ไม่ต้องมีสถานการณ์สุ่มเสี่ยงมาเป็นเงื่อนไข และอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น การคุกคามทางเพศซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กิริยา วาจา ไปจนถึงการล่วงละเมิดในเนื้อตัวร่างกาย คือภัยเงียบที่สังคมช่วยกันกลบเกลื่อนทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

“เรื่องการลวนลามคุกคามทางเพศ การกระทำอนาจาร ส่วนมากมักเกิดขณะอยู่กันสองต่อสอง หรือแม้อยู่หลายคน เราพบว่าถ้าในสถานที่แห่งนั้น ผู้กระทำมีอำนาจเหนือ เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นหัวหน้างาน เป็นคนว่าจ้างไปทำงาน ก็จะเอาผิดได้ยาก” สุเพ็ญศรี ให้ข้อมูลและว่า ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ไม่มีความหวัง หลังจากที่กฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศประกาศใช้ บางกรณีสามารถขึ้นสู่ศาลและมีบทลงโทษผู้กระทำความผิด

“มีอยู่คดีหนึ่ง ผู้กระทำเป็นนักการเมืองท้องถิ่น มีการลวนลามคุกคามทางเพศหลายครั้ง เมื่อมูลนิธิทราบเรื่องก็ประสานให้แจ้งความดำเนินคดี แล้วก็ร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แรกๆ ผู้ต้องหาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำๆ แต่ว่าในส่วนของข้อเท็จจริงเนื่องจากว่าเราได้พูดคุยกับผู้เสียหายโดยตรงและได้มีการสอบถามพยานแวดล้อม เชื่อว่าการกระทำเกิดขึ้นจริง ท้ายที่สุดทางสมาชิกสภาเทศบาลเขาก็เข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติถอดถอน แต่ก่อนที่จะเปิดประชุมผู้กระทำผิดชิงลาออก ขณะเดียวกันคดีอาญา ทางอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องไปที่ศาล ศาลก็มีการไกล่เกลี่ย จากเดิมที่เขาปฏิเสธตอนหลังก็รับสารภาพ โทษจำคุก ศาลให้รอลงอาญา”

ทว่า ในจำนวนคดีที่สุเพ็ญศรีให้การช่วยเหลืออยู่นั้น กรณีพริตตี้สาวถูกลวนลามและทำร้ายร่างกายจากผู้จ้างงานซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ปี 2557 ถือเป็นตัวอย่างความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้เสียหายได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ

“ปลายปี 57 เกวทำงานเป็นพริตตี้ แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว ได้รับงานจากคนที่อ้างตัวเป็นโมเดลลิงให้ไปโชว์ตัว ร้องเพลง แถวพหลโยธินซอย 9 เป็นร้านอาหารของนายจ้าง ถ้าเป็นภาษาของพริตตี้เขาจะเรียกว่างานเอนเตอร์เทน ก็มีพริตตี้ทั้งหมด 3 คน เวลางานก็คือ 4 ทุ่มถึงตี 2 พอไปถึงที่งานมีผู้ชายทั้งหมด 5 คน แล้วเป็นคนที่มีชื่อเสียงด้วย

ช่วงแรกก็มีการเล่นเกมมีการดื่มกัน พอหลังจากเที่ยงคืนเขาบอกว่า “ขอกอดหน่อยได้มั้ย” ซึ่งเราก็ปฏิเสธ พอหลังจากนั้นเขาก็เข้ามาขอกอดอีก เราก็ไม่ยอม เขาบอก "มึงมาขายตัวที่นี่แล้วมึงมาเล่นตัวทำไม มึงเล่นตัวเพื่อที่จะอัพค่าตัวเหรอ” เราก็ตกใจ เราไม่ได้ขายตัว เขาไม่พอใจ ด่า แล้วก็ทำร้ายร่างกาย ทั้งตบตี กระทืบ กระชากผม ผลักเราเข้าไปในห้องน้ำ ใช้ขวดตีเป็นปากฉลามจะแทงเรา แต่โชคดีที่เขาล้มลงไปก่อน แล้วเราก็หนีออกมาได้”

เกวลิน ธรรมรัตน์ชัย เล่าถึงเหตุการณ์ที่กลายเป็นฝันร้ายของเธอมากว่า 3 ปี และการต่อสู้เพื่อทวงถามความเป็นธรรมที่เริ่มต้นตั้งแต่การเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานที่เกิดเหตุ ไปจนถึงการร้องเรียนไปยังหน่วยงานหลายแห่ง

“หนึ่ง คือเกวต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเองก่อน กับเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้น แล้วครอบครัวก็เสียใจด้วย สอง พอเราฟื้นสภาพขึ้นมา ก็ต้องมาต่อสู้ในเรื่องคดีอีก ต้องต่อสู้กับตำรวจที่เขามองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว “เรื่องแค่นี้เอง มันเล็กน้อย” จะให้เจรจากัน แต่ว่าเราไม่สามารถจะไกล่เกลี่ยได้ มันรุนแรงเกินไป เกวขอความช่วยเหลือหน่วยงานนึงก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เหมือนเขาจะบอกเราว่า...ให้ไปเลิกขายตัวก่อน เขาถึงจะช่วยเรา”

เธอว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาถูกคุกคามในหลายๆ ทางเพื่อให้ยุติการดำเนินคดี เพราะผู้กระทำเป็นลูกหลานในตระกูลสื่อยักษ์ใหญ่ แต่แม้จะต้องเสียเวลาและสูญเสียรายได้จากงานพริตตี้ไป สาววัย 30 ต้นๆ คนนี้ก็ยืนยันว่าจะสู้ต่อ

“ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นศาล ตั้งแต่ปี 57 วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาเพิ่งนัดสืบพยาน นานมาก แต่ก็อดทน แล้วก็ตั้งใจจะสู้จนถึงที่สุด เพราะเท่าที่รู้ก็มีพริตตี้หลายคนที่ถูกทำแบบนี้ อยากดำเนินคดีให้เป็นตัวอย่างของผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ถูกระทำความรุนแรง”

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ที่คาดหวัง เธอว่าแรกๆ ก็อยากให้ผู้กระทำผิดติดคุก แต่พอได้เข้ามาในกระบวนการจริงๆ แค่คดีไปถึงศาล ศาลได้รับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น และได้กระจายเสียงเงียบๆ ของตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้ ก็ถือว่าพอใจในระดับหนึ่งแล้ว

“คนที่ทำผิดควรได้รับโทษ ได้รู้สำนึกอะไรบ้างกับสิ่งที่เขากระทำลงไป เพราะมันไม่ใช่เราคนเดียว อยากให้เรื่องราวเหล่านี้มันยุติ ไม่อยากให้เกิดซ้ำกับผู้หญิงคนอื่นอีก”

แค่ไหนคือ ‘คุกคามทางเพศ

“ปากว่ามือถึง” “หมาหยอกไก่” “สมภารกินไก่วัด”...ฟังดูไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทย แต่ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไปเมื่อไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของอีกฝ่ายหนึ่ง และยิ่งต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดเมื่อการคุกคามทางเพศในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานหรือระหว่างการปฏิบัติงาน

ถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วอะไรที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศบ้าง คำตอบอยู่ในนิยามของกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดรูปแบบการกระทำที่จะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศไว้ในหลายรูปแบบ

ไม่ว่าเป็นการกระทำด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ เช่น การจูบ การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ฯลฯ

การกระทำด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย การพูดหยอกล้อ พูดหยาบคาย ฯลฯ การกระทำด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การใช้สายตาลวนลาม

การทำสัญญาณหรือสัญลักษณ์ใดๆ การแสดง หรือสื่อสารด้วยวิธีการใดๆ ที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การแสดงรูปลามกอนาจาร ส่งจดหมาย ข้อความ หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น ฯลฯ หรือการแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ

ขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO แบ่งการคุกคามทางเพศเป็นสองรูปแบบ คือ 1) การแลกประโยชน์กัน กล่าวคือมีการให้ผลประโยชน์เรื่องงาน เช่น การขึ้นค่าตอบแทน การเลื่อน ตําแหน่งขึ้น หรือแม้แต่การจ้างงานต่อไป ถ้าเหยื่อยอมมีพฤติกรรมทางเพศบางอย่างตามที่ต้องการ หรือ 2) การสร้างสภาพการทํางานที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งทําให้เกิดเหตุที่คุกคามเหยื่อหรือทําให้เหยื่ออับอาย

พฤติกรรมที่ถือเป็นการคุกคามทางเพศคือ ทางกาย ใช้ความรุนแรงทางกาย สัมผัส เข้าใกล้ชิดโดยไม่จําเป็น, ทางวาจา ออกความเห็นหรือถามคําถามเกี่ยวกับรูปโฉม วิถีชีวิต รสนิยมทางเพศ การละเมิดด้วยการติดต่อทางโทรศัพท์, การไม่ใช้วาจา ผิวปาก แสดงท่าทางที่สื่อความหมายทางเพศ แสดงวัตถุทางเพศ

“การลวนลามคุกคามทางเพศ ถ้าเป็นภาคเอกชนมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และคดีอาญาด้วย สามารถแจ้งความดำเนินคดีในสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ หรือไปที่ศาลแรงงานในเหตุที่จังหวัดนั้นเกิด ศาลแรงงานก็จะเป็นอำนาจพิจารณาคดีทางแพ่ง แต่ถ้าเป็นราชการ การกระทำดังกล่าวมีความผิดทางวินัย อายุความไม่มี สามารถดำเนินการได้ตลอด

แต่ในส่วนของมูลนิธิเราจะแนะนำว่า ถ้าผู้กระทำเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เป็นนักการเมืองระดับชาติ หรือเป็นข้าราชการระดับสูง ให้ไปร้องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะกรรมการสิทธิฯมีหน้าที่ในการไต่สวน สามารถเชิญผู้เกี่ยวข้องมาสอบถาม และมีอนุกรรมการที่จะให้ความช่วยเหลือได้” สุเพ็ญศรี ฝากถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ก่อนจะแสดงความเห็นว่า

การฟ้องร้องเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดความรุนแรงของปัญหานี้ คือการใช้มาตรการทางสังคมป้องปรามไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศขึ้นในทุกโอกาส

#NeverOK ไม่ก็คือไม่

แซว – จับ – อนาจาร... แม้สเต็ปของคุกคามทางเพศจะดำเนินไปในทำนองใกล้เคียงกัน โดยเริ่มต้นจากการใช้วาจา จากนั้นก็ถูกเนื้อต้องตัว และถ้าไม่สามารถยุติการกระทำดังกล่าวได้ ก็อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืนในที่สุด แต่การตัดไฟตั้งแต่ต้นลมกลับไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

‘ปฏิเสธ’ ก็กลายเป็นคนเรื่องมาก ถ้าไม่กล้าปฏิเสธ ก็ถูกตีความว่า ‘ยอมรับ’

หลายครั้งสังคมมักโยนภาระทางความรู้สึกให้กับผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะด้วยการไม่เชื่อ ตั้งคำถาม หรือแม้แต่วิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้กรณีการคุกคามทางเพศไม่เคยลดลง แต่กลับยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็คือ ทัศนคติแบบผู้ชายเป็นใหญ่ที่ยังแฝงฝังอยู่ในสังคมไทย

“ตอนที่เกิดเหตุการณ์แรกๆ เลย คนก็จะบอกว่า เป็นพริตตี้ต้องขายตัว แต่งตัวโป๊ต้องโดนแบบนี้ “ก็แต่งตัวยั่วแต่งตัวโป๊เอง ช่วยไม่ได้ ก็ไปยั่วผู้ชายเขา” เราก็มองว่าทำไมถึงอคติกับผู้หญิงขนาดนี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันเป็นเพราะการทำงาน ไม่ใช่เพราะเราไปยั่วเขา มันไม่ใช่” เกวลิน ระบายความในใจ ขณะที่สุเพ็ญศรีมองว่า แม้กฎหมายที่มีอยู่ทุกวันนี้จะครอบคลุมเพียงพอ แต่สิ่งที่ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้ามาจากทัศนคติ

“คนเราพอมีอคติแล้วก็จะไม่เชื่อ พอไม่เชื่อปุ๊บก็บอกว่าให้ไปหาหลักฐานมา แล้วอีกอย่างก็คือ ค่านิยมในเรื่องเพศของผู้หญิง-ผู้ชายแตกต่างกัน เนื่องจากผู้ชาย เราไม่ได้ฝึกให้เขามีความระมัดระวังในการแสดงออกเรื่องพฤติกรรมทางเพศ แต่เราไปฝึกที่ผู้หญิง ทีนี้ผู้ชายเขาจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจ ยิ่งเป็นหัวหน้างานยิ่งทำให้เขาย่ามใจ แล้วเมื่อเหตุเกิดขึ้นปุ๊บก็จะมีคนช่วยเหลือ แม้แต่เหตุล่าสุด ก็แว่วๆ มาว่ามีคนมาช่วยไกล่เกลี่ย พยายามจะให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความ”

ในมุมนี้ หลายครั้งกฎหมายจึงไม่อาจเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เคท ครั้งพิบูลย์  อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนให้สังคมออกมาส่งเสียงดังๆ เพื่อปฏิเสธการคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบภายใต้แคมเปญ #NeverOK

“Sexual Harassment is never OK เรารู้สึกว่ามันเป็นคำที่ตรงใจ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่สากลเขารณรงค์กัน เราพบว่าในบ้านเรา งานเขียนหรือการศึกษาทางด้านการคุกคามทางเพศมีน้อย บางคนอาจคิดว่าเพราะสถานการณ์มันน้อย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ความจริงก็คือ มันไม่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราอยากทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของสังคม เมื่อมันไม่โอเค เราก็ไม่ควรเพิกเฉย”

การใช้กระแสสังคมกดดันให้เกิดการลงโทษผู้กระทำผิดคือสิ่งที่ผู้รณรงค์คาดหวัง เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคมโดยไม่ชี้นิ้วหรือตั้งคำถามกับผู้เสียหาย จะช่วยให้หลายคนที่เผชิญกับเรื่องแบบนี้กล้าที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองมากขึ้น

“คนส่วนใหญ่ต้องเลิกถาม ทำไมไม่ร้องโวยวาย แต่งตัวโป๊รึป่าว คำถามพวกนี้เป็นคำถามที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าดำเนินการ สังคมต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องตั้งคำถามผู้กระทำ เรียนมาตั้งสูง ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ใหญ่ คุณไม่มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปเลยเหรอ ทำอย่างนี้ลูกเมียคุณก็ลำบาก จะว่ายังไง จะแก้ปัญหายังไง” สุเพ็ญศรี ชี้จุดอ่อน ก่อนจะย้ำในประเด็นที่หลายคนอาจมองข้าม นั่นคือการปรับพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย

“การที่ผู้กระทำไม่ถูกปรับพฤติกรรมทางเพศเขาก็จะเป็นอย่างนี้ร่ำไป ต้องบอกว่าพวกที่ชอบความตื่นเต้นทางเพศ ชอบความท้าทายทางเพศ เราต้องส่งเข้าโปรแกรมบำบัดพฤติกรรมทางเพศ ก็คือให้จิตแพทย์ นักจิตวิทยาเขาดูแล แต่ในทางคดีต้องมีการดำเนินคดีนะ ไม่ใช่ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้าง ซึ่งผู้ชายแบบนี้ไม่ใช่เป็นผู้ชายส่วนมาก แต่ผู้ชายส่วนใหญ่ต้อง sanction แทนที่จะให้ผู้หญิง sanction อย่างเดียว”

และเพื่อป้องกันไม่ให้ใครต้องกลายเป็น‘เหยื่อ’รายต่อไป สังคมควรให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะคุ้มกันมากขึ้น

ทุกคนทุกเพศควรจะต้องเรียนรู้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเพศของตนเองและการป้องกันตัว เรียนรู้ทักษะชีวิตและการฝึกสติ ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ไม่เฉพาะเรื่องการคุกคามทางเพศเท่านั้น