ความนัยบนเซรามิกประดับพระเมรุมาศ

ความนัยบนเซรามิกประดับพระเมรุมาศ

ก้อนดินมหึมากำลังถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งให้เป็นกระถางเซรามิกรูปทรงต่างๆ ฝีมือ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธรสาขาการออกแบบ ประจำปีพ.ศ.2553

ร่วมกับช่างปั้นในโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ จังหวัดราชบุรี ผู้รับผิดชอบงานประดับพระเมรุมาศและอาคารสำคัญ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9   

   "ในสมัยก่อนการทำเครื่องปั้นดินเผา คนทั่วไปคุ้นเคยรูปทรง 6 เหลี่ยมกับ 8 เหลี่ยม แต่ผมอยากทำอะไรแตกต่างออกไป เลยนึกถึงวัยเด็กมีเหรียญห้าบาท ในนั้นมีลาย 9 เหลี่ยม แล้วช่วงเวลาหนึ่งเหรียญแบบนั้นก็หายไปจากการใช้งาน ผมนำมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างเป็นรูปแบบกระถาง โดยร่างแบบสเก็ตให้กระถาง 9 เหลี่ยมมี 8 แบบ ทั้งส่วนที่เราสร้างขึ้นใหม่และกระถางที่เคยถูกสร้างตอนงานฉลอง 60 ปีครองราชย์ แต่ปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ให้ดูเหมาะสมกับโอกาสใช้งานและขยายขนาดกระถางเซรามิกให้เข้ากับภูมิสถาปัตย์ประดับพระเมรุมาศมากขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนความรู้สึกน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9  

2 พระปรมาภิไธยย่อ ภปร.

     ส่วนลวดลายบนกระถางเซรามิก ผมลองค้นหาข้อมูลดอกไม้ที่มีความหมายตามความเชื่อของคนเอเชียแต่โบราณ เช่น ดอกดาวเรือง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ล้วนมีความหมายถึงคำว่าชั่วนิรันดร์ มาถ่ายทอดความรักของในหลวงที่มีต่อประชาชน ในขณะเดียวกันประชาชนจะรักในหลวงตลอดชั่วกาลนาน" 

     นอกจากนี้ เรายังเห็นสิ่งคุ้นตาเช่น งานเครื่องแขวนดอกไม้สดที่มีทั้งความอ่อนช้อยของลายเส้นรูปมะลิเลื้อย สัญลักษณ์แห่งความรักอันบริสุทธิ์ ลายกราฟิกบนงานผ้าจกอันเป็นหัตถกรรมพื้นถิ่นของชาวจังหวัดราชบุรี อีกทั้งยังสอดแทรกคำสอนจากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ตกแต่งลงบนกี๋หรือฐานตั้งกระถางเซรามิกฉลุดินให้ดูโปร่งสบายตา 

พระปรมาภิไธยย่อ ภปร._1

6

ฐานกี๋ลายเครื่องแขวนดอกไม้สด

กระถางหูสิงห์

ดอกดาวเรืองสัญลักษณ์แทนความเป็นนิรันดร์

     "งานออกแบบทั้งหมด ผมสื่อถึงสิ่งที่เป็นในหลวงรัชกาลที่ 9 มองเผินๆ คุณเห็นแค่ลายเกี่ยวพันกันไปมา แต่ถ้าเพ่งมองลงไปทีละเส้น จะเห็นว่าดอกดาวเรืองแต่ละดอกมี 90 กลีบ หมายถึงความรักที่ส่งต่อจากรัชกาลที่ 9 ไปถึงรัชกาลที่ 10 ตรงกลางดอกดาวเรืองมี 9 กลีบหมายถึง รัชกาลที่ 9 ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพวกเรา 

      ดูนี่สิ...ตรงลายก้านดอกดาวเรืองมีเลข ๙ เป็นลายขดซ่อนอยู่ ตรงนี้ก็มีอีกนะ ตามมุมต่างๆ มีรูปกระต่าย 5 ตัว ซึ่งกระต่ายแทนปีพระราชสมภพและเลข 5 แทนวันพระราชสมภพวันที่ 5 ธันวาคม อยู่ในลายของกระถาง แล้วยังมีคำที่ในหลวงทรงสอนพวกเราผ่านพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก 

     โดยเฉพาะตอนที่พระมหาชนกว่ายน้ำฝ่าคลื่นทะเล ผมนำลายคลื่นมาอยู่บนกระถางเซรามิกด้วย เพื่อสื่อถึงความเพียร ไม่ว่าเราจะทำอะไร ทุกอย่างเริ่มต้นจากสิ่งนี้ เหมือนเป็นบททดสอบความเป็นคนที่สมบูรณ์ ต้องเจอปัญหา เจออุปสรรค เจอสิ่งที่เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เราต้องพยายามแก้ไขเหตุการณ์ มันไม่ง่าย แต่ถ้าเราผ่านทุกอย่างไปได้ สุดท้ายเราจะกลายเป็นคนที่สมบูรณ์” วศินบุรีชี้ไปยังลวดลายและอธิบายตามแบบที่ร่างไว้ 

รูปกระต่ายแทนปีพระราชสมภพ

     ในการทำงานเซรามิกครั้งนี้ จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก พร ช่างปั้นชาวพม่า เป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมงานนี้ 

     "ผมได้ยินเรื่องในหลวงตั้งแต่เด็กๆ แม่บอกท่านเป็นคนดี ท่านสร้างเขื่อน สร้างโรงเรียน ปลูกต้นไม้ ทำให้เราได้อยู่บนผืนแผ่นดินนี้ เราต้องเป็นคนดีนะ ผมรักท่านเหมือนพ่อของเรา จนวันที่ในหลวงสวรรคต ผมร้องไห้ทำอะไรไม่ได้เป็นอย่างนี้สองสามวันกว่าจะทำใจได้ หลังจากนั้นผมไปไหว้พ่อหลวงลงทุนซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ รองเท้าใหม่ แต่งตัวนั่งมองนาฬิกาในห้องนอนถึงรุ่งเช้า 

     ผมดีใจที่ได้มากราบท่าน แต่ก็เสียใจที่พ่อหลวงไม่อยู่แล้ว อธิษฐานว่า อยากทำดีเพื่อพ่ออีก ก็ได้ทำงานเซรามิกครั้งนี้ ผมบอกท่านในใจว่า มีโอกาสทำเพื่อพ่อแล้วนะครับ จะทำให้ดีที่สุด เสร็จงานนี้ผมอยากไปกราบในหลวงอีก อยากไปบอกท่านว่า ผมทำงานเสร็จแล้วนะ ได้ทำงานเพื่อพ่ออย่างที่ตั้งใจ แล้วสิ่งที่พ่อสอนว่าให้เรารักกัน ผมจำและจะทำอย่างที่ในหลวงสอน ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม" 

กระถางเก้าเหลี่ยม

2

3