สมาคมมีเดียฯ คาดโฆษณาปีนี้ติดลบ 11%

สมาคมมีเดียฯ คาดโฆษณาปีนี้ติดลบ 11%

สมาคมมีเดียฯ ปรับประมาณการงบโฆษณาปี 2560 ติดลบ 11% หลังครึ่งปีแรก ลดลง 5% พบกลุ่มหลัก รถยนต์-อุปโภคบริโภค-สื่อสารหั่นงบ

นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปลายปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แม้ว่าจีดีพีจะเติบโตถึง 3.3% แต่การใช้สื่อโดยรวมครึ่งปีแรก ติดลบ 5%

โดยเมื่อวิเคราะห์โฆษณาครึ่งปีแรก รายสื่อพบว่า สื่อโทรทัศน์ ที่ประกอบด้วย ฟรีทีวีรายเดิม ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ลดลง 10% วิทยุ ลดลง18% หนังสือพิมพ์ ลดลง19% นิตยสาร ลดลง37%

แต่สื่อที่สวนกระแสคือสื่อในร้านค้า (อินสโตร์) เติบโต 38% สื่อในการเดินทาง (Transit) เพิ่มขึ้น 27% สื่อโรงภาพยนตร์ เพิ่มขึ้น 25% สื่ออินเทอร์เน็ต 24% (ข้อมูลจาก DAAT) และสื่อนอกบ้าน 16%

จากข้อมูลการใช้สื่อจะเห็นว่านักการตลาดเลือกใช้สื่อที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อทันที ซึ่งรวมถึงสื่อ ณ จุดขาย และสื่อที่ผู้บริโภคต้องรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สื่อในการเดินทาง สื่อโรงภาพยนตร์ และสื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่องใช้ได้ทุกที่อย่างสื่ออินเทอร์เน็ตเติบโตเพิ่มขึ้น

นายรัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสำหรับกลุ่มสินค้าและบริการ(แคตากอรี่) ที่ใช้งบประมาณโฆษณาใน 6 เดือนแรกของ 2560 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาว่า กลุ่มที่มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นของปีนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 16.3% อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้น 11.2% ธุรกิจสื่อและการตลาด เพิ่มขึ้น 8.1% ธุรกิจเกี่ยวกับการพักผ่อน เพิ่มขึ้น 4.4% และอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน 3.6% ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มที่ใช้งบประมาณสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจหลัก แต่การใช้งบประมาณ “ลดลง” เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ธุรกิจรถยนต์ ใช้งบประมาณ 4,371 ล้านบาท ลดลง 3.8% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ใช้งบประมาณ 4,164 ล้านบาท ลดลง 2.8% ธุรกิจเกี่ยวกับการสื่อสาร ใช้งบประมาณ 3,023 ล้านบาท ลดลง 15.5% ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ใช้งบประมาณ 1,467 ล้านบาท ลดลง 20.9% การโฆษณาภาครัฐและชุมชน ใช้งบประมาณ 2,444 ล้านบาท ลดลง 19.4%

สมาคมมีเดียฯ คาดการณ์ว่าการใช้สื่อโฆษณาสิ้นปีนี้จะติดลบ 11% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 โดยสื่อหลักยังคงลดลง คือ สื่อโทรทัศน์ทั้งหมดรวมทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ลดลง 15% วิทยุ ลดลง 25% หนังสือพิมพ์ ลดลง 25% นิตยสาร ลดลง34%

ขณะที่สื่อที่มีแนวโน้มการใช้สื่อมากขึ้น คือ สื่อในโรงภาพยนตร์ 5% สื่อนอกบ้าน 9% สื่อในการเดินทาง 14% สื่ออินสโตร์ 29% และสื่ออินเทอร์เน็ต 24%

“ครึ่งปีหลังปีนี้ก็ยังไม่ใช่ปีที่สดใสของวงการเท่าที่ควร สื่อต่างๆ ก็ยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเพื่อดูสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์” นายไตรลุจน์ กล่าว