‘เอสซีจี’ประเดิมสิทธิยกเว้นภาษี300%

‘เอสซีจี’ประเดิมสิทธิยกเว้นภาษี300%

“เอสซีจี” ประเดิมรายแรกขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิรับรองตนเองในการยื่นขอยกเว้นภาษี 300% สำหรับโครงการวิจัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท

“เอสซีจี” ประเดิมรายแรกขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิรับรองตนเองในการยื่นขอยกเว้นภาษี 300% สำหรับโครงการวิจัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เผยเป็นช่องทางใหม่ที่ สวทช.และ วว. ร่วมผลักดันเพื่อผู้ประกอบการเกิดความสะดวกและมั่นใจในการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษี พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนทำวิจัยมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 300% จึงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พัฒนา “ระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” (RDIMS) เพื่อใช้ในการตรวจรับรอง โดยมุ่งเน้นด้านการรักษาความลับข้อมูลวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เอกชนผู้ทำวิจัย


ระบบป้องกันข้อมูลวิจัยรั่ว


นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กว่า 80% ของโครงการวิจัยเอกชนที่ยื่นขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีฯ มีมูลค่าต่ำกว่า 3 ล้านบาท จึงได้ร่วมปรึกษากับกรมสรรพากรเพื่อหากระบวนการที่ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่เคยผ่านการพิจารณารับรองรายโครงการวิจัยแล้ว (Pre-approval) จึงนำเสนอว่า บริษัทควรจะสามารถรับรองตนเองได้ (Self-Declaration)
ขณะเดียวกันเนื่องจากการวิจัยพัฒนามีบางส่วนเป็นความลับของบริษัท สวทช.จึงเห็นควรให้เอกสารอยู่ที่บริษัทน่าจะดีกว่านำออกมา แล้วให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้าไปดูเอกสารเหล่านั้นตามความจำเป็น จึงมีความเห็นตรงกันในการพัฒนา RDIMS ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจ การจัดการจนถึงการกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติต่างๆ มุ่งเน้นการรักษาข้อมูลความลับเป็นหลัก


RDIMS เป็นระบบใหม่ที่พัฒนาใช้เป็นประเทศแรก โดยเชิญ วว. ซึ่งมีบทบาทด้านการรับรองไอเอสโอภาคอุตสาหกรรมมากว่า 15 ปี ร่วมออกแบบระบบ ซึ่งศึกษาประยุกต์จากไอเอสโอ 9001 พร้อมทั้งเชิญ 5 บริษัทมาร่วมในโครงการนำร่อง ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยได้รับการรับรองรายโครงการอยู่แล้ว ได้แก่ ปูนซิเมนต์ไทย, แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์, ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร, รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม (กลุ่มมิตรผล), และ เอสซีจี เคมิคอลส์
“เอสซีจี ยื่นเสนอขอการรับรองเป็นรายแรก และขณะนี้มีผู้ประสงค์ยื่นขอรับรองอีก 5 บริษัท อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสาร คาดว่าภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้าจะมีอีก 5-6 บริษัทเข้าสู่ระบบ RDIMS” นายณรงค์ กล่าว


ทั้งนี้ สวทช.ตรวจรับรองโครงการวิจัยมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาทในรูปแบบ Pre-Approval เริ่มตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นขอรับรองโครงการวิจัย 352 ราย และมีแนวโน้มว่าผู้ที่เคยยื่นขอรับรองในปีแรกจะกลับมายื่นขอรับรองในปีต่อๆ ไปเพิ่มขึ้น ซึ่งมีโครงการวิจัยที่เสนอเข้ามา 3,940 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 15,500 ล้านบาท และโครงการที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 3,633 โครงการ รวมมูลค่าการรับรองกว่า 12,500 ล้านบาท ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ เฉพาะในปี 2558 และ 2559 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
“คนไทยเก่งและให้ความสนใจการวิจัยและพัฒนามากขึ้น จึงเตรียมจะปรึกษากรมสรรพากรเพิ่มเติมเพื่อหากลไกสนับสนุนให้กับโครงการวิจัยที่มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านบาทในอนาคต อาจจะเป็นกลไกใหม่ หรืออาจจะขยายเพิ่มเติมจากรูปแบบ Self-Declaration ก็ได้” นายณรงค์ กล่าว


ชี้เหมาะบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่


นางวิไลพร เจตนจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมีโครงการวิจัยหลากหลายตั้งแต่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาทถึง 100 ล้านบาท ซึ่งใช้ระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี ขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาทำวิจัยต้องไม่เกิน 3 ปี จึงแก้ปัญหาด้วยการแยกย่อยโปรเจควิจัยเพื่อให้ตรงกับกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนด

ส่วนแนวทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำโครงการวิจัยมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาทยื่นขอยกเว้นภาษี 300% ด้วยตัวเองนั้น เป็นระบบที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับบริษัทที่มีความพร้อมในการทำงานวิจัยตลอดทั้งซัพพลายเชน เริ่มตั้งไอเดีย งบประมาณ ผลตอบแทน บุคลากร ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งด้านการตลาด การผลิต การเงิน เพราะถ้าไม่มีการศึกษาวางแผนจะมีโอกาสล้มเหลว 99.99% ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีและความต้องการตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว