"ส่งออก-คนก่อหนี้" แรงส่งจีดีพีโต 3.7% สูงสุดรอบ 51 เดือน

"ส่งออก-คนก่อหนี้" แรงส่งจีดีพีโต 3.7% สูงสุดรอบ 51 เดือน

ถอดรหัสตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2560 โต 3.7% สูงสุดรอบ 51 เดือน จากแรงส่งการส่งออกโต คนก่อหนี้จับจ่ายใช้สอย กู้ซื้อรถพุ่ง

วันนี้ (21 ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2560 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.3% และถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5% ทำให้สศช.ต้องปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2560 จาก 3.3-3.8% เป็น 3.5-4%

ปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ให้ขยายตัวอย่างสดใส มาจากการส่งออกที่ขยายตัว 8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6.8% ส่วนภาคเกษตรกรรมขยายตัวที่ระดับ 15.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.7% โดยเฉพาะดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 14.6% แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวสูงถึง 17.2%

ในขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวที่ระดับ 3% ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.2% สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้น 13.9% และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น 8.2% เช่นเดียวกับสาขาค้าส่งและค้าปลีกที่ขยายตัว 6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.8%

สำหรับปัจจัยลบที่ฉุดภาพการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 2 มีปัจจัยหลักจากการลงทุนรวมที่ขยายตัวเพียง 0.4% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 1.7% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐพลิกกลับมาติดลบ 7% จากที่ขยายตัวสูงถึง 9.7% ในไตรมาสก่อน โดนเฉพาะการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง 12.8% ส่วนการลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส โดยขยายตัว 3.2% จากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 1.1%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนไตรมาส 2 ที่ขยายตัว จะพบว่ามีจุดที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายครัวเรือนมาจากการกู้เงินเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลไตรมาสที่ 2 ขยายตัวในระดับ 4.4% หรือมียอดหนี้สะสม 3.94 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ยอดหนี้ขยายตัว 4.5% หรือมียอดหนี้สะสม 3.88 ล้านบาท

เช่นเดียวกับหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวสูงถึง 4.5% หรือคิดเป็นยอดหนี้สะสม 9.04 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.4% หรือมียอดหนี้สินสะสม 8.9 แสนล้านบาท

เหล่านี้สะท้อนได้ว่าการขยายตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจาการที่ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยจากการกู้ยืมเพื่อการจับจ่ายใช้สอย และการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นในระดับ 4.4-4.5%

นอกจากนี้ หากในส่วนสาขาการก่อสร้าง แม้ว่าไตรมาสที่ 2 สาขาก่อสร้างเอกชนจะขยายตัว 3.1% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลง 4.5% แต่เมื่อพิจารณารูปแบบการก่อสร้าง พบว่าเป็นผลจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ขยายตัว 3.1% โดยเฉพาะการก่อสร้างคอนโดมีเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต- สะพานใหมํ-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ลดลง 9.1% โดยการก่อสร้างโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมลดลง 16.1%

ทั้งนี้ ในส่วนปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2560 ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก การเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้นอย่างช้า รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้ดี และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัญหาภัยธรรมชาติและอุทกภัย และความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจและการเงินสหรัฐ-ยุโรป