ศึกแย่งชิงสปอนเซอร์บนชุดแข่งพรีเมียร์ลีก

ศึกแย่งชิงสปอนเซอร์บนชุดแข่งพรีเมียร์ลีก

ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ สำหรับศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซีซั่นใหม่ ฤดูกาล 2017-18 ซึ่งในเรื่องของผลการแข่งขันเชื่อว่าคงจะทราบกันดีแล้ว ในฐานะลีกลูกหนังที่มีผู้ติดตามมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

 อย่างไรก็ตามนอกจากการแข่งขันในสนามที่เข้มข้นกว่าทุกๆปีแล้ว "นอกสนาม" ก็ยังถือว่ามีการขับเคี่ยวที่ดุเดือดไม่แพ้กัน เมื่อบรรดาสปอนเซอร์รายใหญ่ ต่างตบเท้าเข้าหนุนหลัง 20 สโมสรในลีกสูงสุด ด้วยการทุ่มงบก้อนโตเพื่อแลกกับการมีชื่อแบรนด์ของตัวเองติดอยู่บนชุดแข่งของทีมต่างๆ

20 สโมสร จาก 8 แบรนด์

 ในบรรดา 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลนี้ ใช้งานแบรนด์ชุดแข่งแตกต่างกัน 8 ราย ได้แก่ พูม่า, ไนกี้, อาดิดาส, โจมา, มาครอน, นิว บาลานซ์, อัมโบร และ อันเดอร์ อาร์เมอร์ โดยค่าย พูม่า จากเยอรมนี ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่ทีมจากพรีเมียร์ลีกเลือกใช้มากที่สุด 5 ทีม (อาร์เซนอล, เบิร์นลีย์, เลสเตอร์, ฮัดเดอร์สฟิลด์ และ นิวคาสเซิล) แทนที่ อาดิดาส เจ้าของตำแหน่งเดิม ที่ปีนี้เหลือทีมที่ยังใช้ชุดแข่งของพวกเขาเพียง 3 ทีม (แมนฯยูไนเต็ด, วัตฟอร์ด และ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน) เนื่องจาก มิดเดิลสโบรห์ และ ซันเดอร์แลนด์ ต้องร่วงตกชั้นไปอยู่ในลีกเดอะ แชมเปียนชิพ ส่วน เชลซี เปลี่ยนไปใช้แบรนด์คู่แข่งอย่าง ไนกี้ แทนในซีซั่นใหม่

 ปีนี้ ไนกี้ ขึ้นมาครองความนิยมเป็นอันดับ 2 เนื่องจากสามารถโน้มน้าวให้ทีมในลีกสูงสุดหันมาใช้บริการของพวกเขาเพิ่มเป็น 4 ทีม (เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี, ไบรท์ตัน และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์) หลังจากซีซั่นที่แล้วมีเพียง“เรือใบสีฟ้า”ทีมเดียวเท่านั้นที่ยึดมั่นในแบรนด์ชุดแข่งสัญชาติอเมริกัน

 ข้อตกลงของ ไนกี้ กับ เชลซี เป็นสัญญาระยะยาว 15 ปี มูลค่าประมาณ 60 ล้านปอนด์ต่อปี ขณะที่ สเปอร์ส มีมูลค่าราว 30 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งจากการที่ได้ 2 ยักษ์ใหญ่ เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขยายฐานการตลาด เมื่อทั้งคู่จะได้โชว์ผลงานในเวทียุโรปซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ

 ขณะที่แบรนด์คู่แข่งที่เหลือ อัมโบร 3 ทีม (บอร์นมัธ, เอฟเวอร์ตัน และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด), มาครอน (Macron) แบรนด์กีฬาสัญชาติอิตาเลียน 2 ทีม (คริสตัล พาเลซ และ สโต๊ค ซิตี ) ส่วน โจมา, นิว บาลานซ์ และ อันเดอร์ อาร์เมอร์ มีแบรนด์ละ 1 ทีม (สวอนซี ซิตี, ลิเวอร์พูล และ เซาธ์แฮมป์ตัน ตามลำดับ)

 อย่างไรก็ตามแม้ อาดิดาส ดูจะถูกลดทอนความนิยมลงจากการตกมารั้งอันดับ 3 ซึ่งครองพื้นที่ชุดแข่ง 15% จาก 20 ทีม แต่พวกเขาคือแบรนด์ที่จ่ายเงินสนันสนุนมาเป็นอันดับ 1 จากการทุ่มให้ แมนฯยูไนเต็ด ปีละ 75 ล้านปอนด์ ตลอดระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2558-2568) ซึ่งการที่ค่ายกีฬาจากเยอรมนียอมจ่ายเงินในจำนวนที่สูง เพราะพวกเขามั่นใจว่าการเป็นพาร์ทเนอกับทีมเมืองแมนเชสเตอร์จะช่วยให้พวกเขาเติบโตได้ในระยะยาวจากฐานการตลาดที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมของทีมปีศาจแดงนั่นเอง

 นอกจากนี้ อาดิดาส ยังเตรียมแผนรองรับที่จะห่ำหั่นกับแบรนด์กีฬาคู่แข่ง ด้วยการมองความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มจำนวนทีมที่ติดตราสามแถบของพวกเขา โดย อาร์เซนอล คือเป้าหมายลำดับต้นๆ เนื่องจากเหลือสัญญาผูกมัดกับ พูม่า อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น และมีข่าวว่าพร้อมที่จะเลือกแบรนด์ชุดแข่งที่ให้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกว่าของเดิม ที่รับอยู่เพียง 30 ล้านปอนด์ต่อปี

 ภาพรวมเมื่อเทียบกับซีซั่นที่แล้ว นอกจากการขับเคี่ยวของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ ข้อแตกต่างอีกสิ่งที่ชัดเจน คือ การหายไปของแบรนด์ชุดแข่ง 2 เจ้า จากฤดูกาลก่อนที่มีถึง 10 ราย เมื่อ ดรายเวิลด์ (Dryworld) แบรนด์กีฬาสัญาชาติแคนาดา ล้มละลาย ทำให้ วัตฟอร์ด ต้องเปลี่ยนไปใช้ อาดิดาส และ บอร์นมัธ เลือกใช้บริการ อัมโบร แทนที่ เจดี สปอร์ต (JDSports)

สปอนเซอร์คาดอก

 จากผลสำรวจของ “สปอร์ต อินเทลิเจนซ์” สำนักข่าวกีฬาและข้อมูลด้านกีฬาของอังกฤษ ปรากฏว่า 20 ทีมของพรีเมียร์ลีก โกยรายได้จากสปอนเซอร์คาดอกในฤดูกาลนี้รวมกันถึง 282 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 55 ล้านปอนด์ และสูงที่สุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ สปอร์ต อินเทลิเจนซ์ เริ่มทำการเก็บข้อมูลครั้งแรก เมื่อฤดูกาล 2009-10 ที่ตอนนั้น 20 สโมสร ยังกวาดรายได้รวมกันไปเพียง 100.45 ล้านปอนด์

 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือ ทีมอันดับ 1 ที่รับทรัพย์เข้ากระเป๋ามากที่สุด 47 ล้านปอนด์ต่อปี จาก เชฟโรเลต แบรนด์รถยนต์สัญชาติอเมริกัน ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ เชลซี ที่รับจาก โยโกฮามา ผู้จัดจำหน่ายยางรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น ปีละ 40 ล้านปอนด์ ตามด้วย แมนฯ ซิตี กับ สเปอร์ส ที่รับปีละ 35 ล้านปอนด์ จาก เอติฮัด และ เอไอเอ ตามลำดับ

 ส่วน ฮัดเดอร์สฟิลด์ กับ ไบรท์ตัน คือ 2 ทีมที่รับทรัพย์ค่าสปอนเซอร์คาดอกน้อยที่สุด เพียงปีละ 1.5 ล้านปอนด์

 ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การที่สโมสรขนาดเล็กและขนาดกลางเลือกจะรับสปอนเซอร์จากบริษัทพนันฟุตบอลออนไลน์จากประเทศต่างๆ โดยมีถึง 9 จาก 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก ที่จะมีโลโก้ของบริษัทพนันคาดที่อกเสื้อ ได้แก่ เวสต์แฮม, คริสตัล พาเลซ, นิวคาสเซิล, สวอนซี, บอร์นมัธ, สโต๊ค, เบิร์นลีย์, ฮัดเดอร์สฟิลด์ และ เอฟเวอร์ตัน ที่ปีนี้แยกทางกับเครื่องดื่มช้าง พร้อมกับหันไปรับเงินสนับสนุนจาก สปอร์ตเปซา บริษัทรับพนันออนไลน์จากเคนยา และยังเป็นบริษัทสัญชาติแอฟริกันรายแรกที่ให้การสนับสนุนทีมในพรีเมียร์ลีก

 นอกจากนี้เมื่อนำรายได้รวมค่าสปอนเซอร์คาดอกในพรีเมียร์ลีกไปเปรียบเทียบกับ 5 ลีกใหญ่ยุโรป ปรากฏว่า พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ครองตำแหน่งทำเงินสูงสุดชนิดทิ้งห่างคูแข่งแบบเท่าตัวโดย 18 ทีมในบุนเดสลีกา เยอรมนี ซึ่งติดชาร์ต อันดับ 2 ทำรายได้รวมอยู่ที่ 101 ล้านปอนด์, ลา ลีกา สเปน 82 ล้านปอนด์, ลีก เอิง ฝรั่งเศส 70 ล้านปอนด์ และ กัลโช เซเรีย อา อิตาลี 61 ล้านปอนด์


สปอนเซอร์แขนเสื้อ

 ฤดูกาลนี้เป็นปีแรกที่ทางพรีเมียร์ลีกอนุมัติให้มีการเซ็นสัญญานำตราโลโก้ของสปอนเซอร์มาติดที่บริเวณแขนเสื้อด้านซ้ายโดยแมนเชสเตอร์ ซิตี คือทีมแรกที่ประกาศตัวเซ็นสัญญาสปอนเซอร์บนแขนเสื้อกับ เน็กเซน ไทร์ บริษัทยางของเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นทีมที่ฟันรายได้จากค่าสปอนเซอร์ตรงจุดนี้สูงสุด 10 ล้านปอนด์ต่อปี และเมื่อนับจนถึงเวลานี้มีถึง 11 ทีมด้วยกันที่เลือกปะโลโก้บนแขนเสื้อ

 ยกเว้นก็เพียง อาร์เซนอล ที่ะไม่มีแบรนด์สินค้าบนแขนเสื้อด้านซ้าย เนื่องจากติดสัญญากับ เอมิเรตส์ แอร์ไลน์ สปอนเซอร์คาดอกที่ไม่อนุญาติให้คาดโลโก้บนแขนเสื้อ จนกว่าจะหมดสัญญาผูกมัดกันในปี 2562

 สำหรับมูลค่าสปอนเซอร์บนแขนเสื้อ จะช่วยเพิ่มรายรับให้กับ 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก คิดเป็น 20 เปอร์เซนต์ จากรายได้ทั้งหมดของชุดแข่ง จึงไม่แปลกที่ล่าสุด แมนฯยูไนเต็ด กำลังจะกลายเป็นทีมที่ 12 หลังจาก“ทินเดอร์”แอพพลิเคชั่นหาคู่ชื่อดัง พร้อมจ่ายค่าสปอนเซอร์ให้ 12 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งถือเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ เชฟโรเลต จ่ายให้ในการเป็นสปอนเซอร์ติดหน้าอกให้กับทีม และที่สำคัญยังจะทำให้“ปีศาจแดง”โกยรายได้จากสปอนเซอร์ทั้งบนหน้าอกและบนแขนเสื้อสูงที่สุดอีกด้วย

 การขับเคี่ยวนอกสนามของบรรดาผู้สนับสนุนเจ้าต่างๆ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตัวพรีเมียร์ลีกเองแล้ว ยังส่งผลต่อทีมเล็กๆ ด้วยเช่นกัน ในการก้าวขึ้นมาต่อกรกับทีมยักษ์ใหญ่ที่ไม่ได้หวังผลลัพธ์แต่เพียงในสนามเท่านั้น