‘แอร์บีแอนด์บี’ชูโมเดลญี่ปุ่นถกเคาะกฎหมายรองรับ

‘แอร์บีแอนด์บี’ชูโมเดลญี่ปุ่นถกเคาะกฎหมายรองรับ

แอร์บีแอนด์บี ขยับแผนเชิงรุกในการจับตลาดเอเชียและไทยมากขึ้น "เนท เบลชาร์ชซิค" ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์  ใช้โอกาสเดินทางมาไทยหารือ “ภาครัฐ” เพื่อหาแนวทางสนับสนุนธุรกิจให้ดำเนินการถูกกฎหมาย 

เนท กล่าวว่า ได้เข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และนำเสนอคู่มือในการออกนโยบายให้รัฐบาล (Policy Toolbox) โดยนำกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐจาก 200 เมืองทั่วโลกมานำเสนอ เนื่องจากเป็น “โมเดลธุรกิจใหม่” ที่มีผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งหากธุรกิจประเภทนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล เชื่อว่าจะมีผลประโยชน์สร้างความมั่นใจต่อผู้ให้บริการบ้านพักที่เข้าร่วมในระบบ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการมากขึ้น เพราะถูกต้องตามกฎหมาย

จากการเก็บข้อมูลของแอร์บีแอนด์บี พบว่า 74% ของที่พักอยู่ห่างจากพื้นที่หลักที่มีโรงแรม และ 86% ของนักเดินทางมีความต้องการพักอาศัยแบบคนท้องถิ่น ขณะที่อัตราการเข้าพักนานกว่านักเดินทางทั่วไป 2.1 เท่า และ 42% ของผู้เข้าพักใช้จ่ายในท้องถิ่นที่เข้าพักด้วย

จำนวนบ้านพักในไทยที่ขายในระบบแอร์บีแอนด์บี ปัจจุบันอยู่ที่ 5.5 หมื่นแห่ง แต่ละปีเจ้าของบ้านสร้างรายได้เฉลี่ย 7.5 หมื่นบาท จากการปล่อยเช่าเฉลี่ย 30 วันต่อปี

โมเดลธุรกิจแอร์บีแอนด์บีสอดคล้องการท่องเที่ยวในเชิงส่งเสริมการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่หลากหลาย ทำให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชนมากขึ้น เพราะที่พักในระบบไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวหลัก” 

ล่าสุด หลังความพยายามผลักดันความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จจากการที่รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแบ่งปันบ้านพัก (Home Sharing) วางเกณฑ์ เช่น กำหนดให้มีการจดทะเบียนทั้งประเภทที่เป็นเจ้าของบ้านปล่อยเช่า และที่พักเชิงพาณิชย์ ภายใต้เงื่อนไขเปิดรับนักท่องเที่ยวได้แห่งละไม่เกิน 180 วัน/ปี อานิสงส์ที่ญี่ปุ่นจะได้รับ คือ การมีที่พักพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ด้วย

ยอมรับว่าการผลักดันแต่ละแห่งต้องใช้เวลาหลายปี แต่จะพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล รวมถึงตอบแทนด้านการส่งเสริมท่องเที่ยวในมิติอื่นๆ เช่น แบ่งปันฐานข้อมูลพฤติกรรมด้านการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์ในการทำตลาด

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเลือกที่พักเอง อาจไม่ได้สนใจว่าถูกกฎหมายหรือไม่ แต่การเป็นธุรกิจที่ได้การรับรองจะเป็นผลดีด้านความเชื่อมั่น ส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยวในภาพรวมได้ดีกว่า”

จากปีที่ผ่านมาจนถึงเดือน ส.ค.นี้ มีชาวต่างชาติที่ใช้บริการจองที่พักในไทยผ่านระบบแอร์บีแอนด์บี 9.82 แสนคน เติบโต 150% “ไทย” ถือเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไปตามการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวที่รวดเร็ว ด้วยจุดแข็ง “อัธยาศัย” ในการต้อนรับทำให้นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมา สอดคล้องกับจุดแข็งของบริการแอร์บีแอนด์บี คือ การเข้าอยู่ในบ้านพักที่เข้าถึงชุมชนต่างๆ ให้ประสบการณ์ท้องถิ่นทั้งชีวิตและการกินอยู่

ธุรกิจแอร์บีแอนด์บียังเติบโตสูงต่อเนื่องทั้งที่ไทยมีโรงแรมในระบบมาก เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมีความหลากหลาย มีทั้งกลุ่มที่ต้องการบริการแบบโรงแรม และเริ่มมีกลุ่มคนที่สนใจการท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น หรืออาจต้องการโปรดักท์ที่โรงแรมไม่มี เช่น บ้านพักที่มีห้องนอนและห้องครัวสำหรับครอบครัว"

แอร์บีแอนด์บี มีตำแหน่งทางการตลาดที่แตกต่างจากโรงแรม จึงไม่ใช่คู่แข่ง แต่ช่วยส่งเสริมให้ตลาดท่องเที่ยวของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากทางเลือกที่หลากหลาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โอกาสในการเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ของจีน เป้าหมายหลักที่มีการใช้บริการแอร์บีแอนด์บีสูง หากฐานตลาดแอร์บีแอนด์บีในไทยแข็งแกร่ง ย่อมดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาเพิ่มขึ้น

โมเดลการแสวงหารายได้ของแอร์บีแอนด์บี เก็บค่าคอมมิชชั่นจากเจ้าของบ้าน 3% จากราคาขาย  ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเก็บของออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ อื่นๆ ขณะที่อัตรารายได้ต่อห้องพักที่แอร์บีแอนด์บีได้รับต่อการจองแต่ละครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ 15% นอกจากคอมมิชชั่นที่หักจากเจ้าของบ้าน ส่วนที่เหลือเก็บจากการบวกในราคาห้องพักและค่าธรรมเนียมในฝั่งลูกค้า

แอร์บีแอนด์บี ก่อตั้งในปี 2551 โดย ไบรอัน เชสกี, โจ เกบเบีย และเนท เบลชาร์ชซิค ปัจจุบันมีรายชื่อที่พักกว่า 4 ล้านแห่ง ใน 191 ประเทศ มีผู้เข้าพักกว่า 200 ล้านคน ขณะที่บริการธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ Experienes ซึ่งนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชนกว่า 1,800 รายการใน 30 เมืองทั่วโลก เปิดตัวเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตรายเดือนกว่า 500% นับตั้งแต่เริ่มให้บริการถึงปัจจุบัน

หวังเกณฑ์ดูแลหนุนปลอดภัย

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า  จะต้องนำข้อมูลของแอร์บีแอนด์บีประสานกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลกฎหมายเกี่ยวกับโรงแรมที่พักในประเทศไทยโดยตรง เพื่อให้มีโอกาสทำความเข้าใจและอาจนำไปสู่การร่างกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจประเภทนี้ พร้อมศึกษาโมเดลจากญี่ปุ่นด้วยว่ามีรูปแบบอย่างไร

ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลได้รับฟังและอัพเดทข้อมูลเชิงธุรกิจและการตลาดท่องเที่ยวที่มีประโยชน์จากแอร์บีแอนด์บี ซึ่งทางธุรกิจก็มีความตั้งใจที่จะดำเนินการอย่างถูกต้อง"

วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจการแบ่งปันแบบนี้ จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพราะในเวทีระดับโลกอย่างองค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) เริ่มมีการพูดคุยในเชิงยอมรับในฐานะเทรนด์ใหญ่ที่กำลังเติบโต

ขณะที่ ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมไม่ได้มองว่าแอร์บีแอนด์บีเป็นคู่แข่ง แต่ต้องการให้รัฐกำหนดกฎหมายเพื่อกำกับดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งจะดีต่อการท่องเที่ยวในเชิงความมั่นคงและปลอดภัย เพราะมีการจดทะเบียนทราบแหล่งที่พักของนักท่องเที่ยว และสามารถจัดเก็บภาษีรายได้ที่เกิดขึ้น จากที่ปัจจุบันยังไม่มีในจุดนี้