‘หมอบุญ’ชงรัฐหนุนรถร่วม จับมือลงทุน 2.3หมื่นล้าน

‘หมอบุญ’ชงรัฐหนุนรถร่วม จับมือลงทุน 2.3หมื่นล้าน

นโยบายและแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง(รถเมล์) พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยกรมการขนส่งทางบกเข้ามาดำเนินการแทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2559  ได้วางแผนปรับเพิ่มเส้นทางจำนวน 269 เส้นทาง จากเดิม 202 เส้นทาง

สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง(สมาคมรถร่วม) เตรียมแผนปฏิรูปรถโดยสารสาธารณะ ด้วยการลงขันจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกับ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินกิจการรถร่วมโฉมใหม่

นพ.บุญ กล่าวว่าปัจจุบันผู้ประกอบการรถร่วมมีหนี้สินกว่า 1 หมื่นล้าน ขณะที่ ขสมก. มีหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาท หากการปฏิรูปรถเมล์ยังวนเวียนกับการทำงานรูปแบบเดิม เชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งด้านบริการและหนี้สินได้

ดังนั้นแนวทางการร่วมมือกับผู้ประกอบการรถร่วม ต้องวางแผนธุรกิจและรูปแบบการลงทุนใหม่ ภายใต้บริษัทเดียว เพราะหากทุกคนยังแข่งขันกันต่อไป จะไม่เป็นผลดีและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวรู้จักผู้ประกอบการรถร่วมเป็นส่วนใหญ่กว่า 70%  แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่มี “ตัวกลาง”ที่จะรวมตัวกันเพื่อพัฒนากิจการ  

“การทำรถเมล์ไม่ใช่อาชีพของเรา แต่ที่ตัดสินใจร่วมมือกับผู้ประกอบการรถร่วมในครั้งนี้ ต้องการเข้ามาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ที่ผ่านมารถเมล์มีปัญหาเรื่องหนี้สินมาตลอด หากไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นปัญหาระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อการใช้บริการของประชาชนและภาพลักษณ์ระบบขนส่งของเมืองหลวง”

วางแผนลงทุน2.3หมื่นล้าน

นพ.บุญ กล่าวต่อว่าแผนการลงทุนรถร่วมรูปแบบใหม่ จะยกเลิกบริการรถร่วมประเภทรถเมล์ร้อนทั้งหมด เปลี่ยนเป็นบริการรถเมล์ไฟฟ้าปรับอากาศทั้งหมด จำนวน 2,000 คัน  ภายใต้เงินลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท 

โดยการลงทุนก้อนแรก 3,000 ล้านบาท ในการจัดตั้งบริษัทใหม่ วางระบบเทคโนโลยีการเดินรถ ระบบตั๋วโดยสารอีทิคเก็ต  

ทั้งนี้ กำหนดสัดส่วนลงทุนมาจากซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน 1,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้เปิดกว้างให้คนอื่นที่สนใจลงทุนราว 1,000 ล้านบาท เชื่อว่าตามแผนธุรกิจที่วางไว้ น่าจะมีผลตอบแทนราว 8% ถือเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่อัตรา 2% ในขณะนี้

ส่วนอีก 1,000 ล้านบาท มาจากการลงขันของผู้ประกอบการรถร่วม โดยส่วนที่เหลือจากผู้ประกอบการ ตนเองจะเป็นผู้ใส่เม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้  

หลังจากเงินลงทุนก้อนแรก ต้องเตรียมแผนลงทุนอีก 2 หมื่นล้านบาท สำหรับซื้อรถเมล์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 2,000 คัน เฉลี่ยคันละ 10 ล้านบาท  เพื่อมาใช้เดินรถในเส้นทางรถร่วมเดิม 121 เส้นทางและหากมีโอกาสจะประมูลเส้นทางใหม่เพิ่ม  

ขณะที่เป้าหมายรายได้วางไว้ที่วันละ 1.2 หมื่นบาทต่อคันต่อวัน หรือมีผู้โดยสารเฉลี่ย 400 คนต่อวันต่อคัน เฉลี่ยค่าโดยสาร 30 บาท   ซึ่งจะมีทั้งตั๋วเที่ยวเดียว 20 บาท และตั๋ววัน 30 บาท 

“โมเดลการรวมตัวกันของผู้ประกอบการรถร่วมกว่า 70% มีโอกาสที่จะทำกำไรและพออยู่ได้ เพราะเอกชนทำงานควรต้องมีกำไร หากไม่มีก็ไม่สามารถประกอบกิจการอยู่ได้”

หวังรัฐหนุนซอฟต์โลน-ลดภาษี

นพ.บุญ กล่าวว่ารูปแบบการลงทุนดังกล่าว ต้องการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะใหม่และทำให้การประกอบกิจการอยู่รอด

โดยต้องใช้เงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท  ส่วนหนึ่งจะขอเครดิตจากซัพพลายเออร์ประเทศจีน ที่ผลิตชิ้นส่วนรถเมล์ไฟฟ้าราว 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน ซอฟต์โลน 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลาผ่อนชำระคืน 7 ปี

นอกจากนี้การนำเข้ารถเมล์ไฟฟ้าทั้งคันมีอัตราภาษี 200% แต่โมเดลที่จะดำเนินการ เป็นการนำเข้าชิ้นส่วน เช่น เครื่องยนต์ แชสซี แบตเตอรี่ ซึ่งปกติต้องจ่ายภาษีนำเข้า 30% ทั้งนี้ เสนอให้รัฐพิจารณาลดหย่อนภาษีให้เหลือ 5% เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องให้บริการสาธารณะ เพราะเงินส่วนใหญ่ในการประะกอบจะอยู่ในประเทศไทย ทั้งตัวถัง ล้อ ยางรถ

พร้อมทั้งนโยบายอุดหนุนค่าโดยสารให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นักเรียน ผู้สูงอายุ ที่ใช้บริการรถร่วม ซึ่งปกติมีกองทุนฯสนับสนุนงบประมาณอยู่แล้ว

รวมทั้งพิจารณาขยายเวลาใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางเดิมของผู้ประกอบการรถร่วม เนื่องจากเป็นการลงทุนใหม่รูปแบบรถเมล์ไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงกว่าเดิมเท่าตัว และเป็นบริการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สิ้นเปลืองน้ำมัน

“หากรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถพิจารณาแผนปฏิรูปรถร่วมได้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ไม่สามารถทำได้แน่นอน จึงต้องการให้รัฐบาลปัจจุบันแจ้งเกิดโครงการนี้ เพราะจะเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่และจับต้องได้ และที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลชุดไหนแก้ปัญหารถเมล์ได้"

รถร่วม70%ลงขัน“หมอบุญ”

ภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่ากลุ่มผู้ประกอบการรถร่วมได้เข้ามาเสนอแผนปฏิรูปรถร่วมและการลงทุนใหม่ โดยให้ นพ.บุญ เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนธุรกิจและหาแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการรถร่วม 70% กว่า 40 บริษัท ให้บริการ 121 เส้นทางเดินรถ จำนวน 2,000 คัน เข้าร่วมแผนการปฏิรูปรถร่วมในครั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากเริ่มดำเนินการผู้ประกอบการส่วนที่เหลือจะเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นทางรอดในการประกอบกิจการหลังจากนี้

“การแก้ปัญหาผ่านเอกชนภาครัฐไม่ต้องเสียเงิน แต่หากยกภาระการเดินรถโดยสารให้ ขสมก.ทั้งหมด จะทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ หากรัฐเห็นด้วยกับแผนปฏิรูปของเอกชนดังกล่าว ในวันที่ 1 ม.ค.2561 จะเริ่มโครงการนำร่องให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า 100 คันแรก เพื่อเป็นของขวัญประชาชน