‘ไอซีเว็กซ์’ชี้สินค้า‘อุปโภคบริโภค’ดาวรุ่งตลาดเมียนมา

‘ไอซีเว็กซ์’ชี้สินค้า‘อุปโภคบริโภค’ดาวรุ่งตลาดเมียนมา

“ไอซีเว็กซ์” เผยสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มเครื่องดื่มและอาหาร เติบโตต่อเนื่อง จนกลายเป็นดาวรุ่งมาแรงในเมียนมาประจำปีนี้

รายงานของไอซีเว็กซ์ ชี้ว่า กลุ่มสินค้าเอฟเอ็มซีจียังดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศแข่งขันเข้มข้น หนุนร้านค้าปลีกและร้านค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและมินิมาร์ทขยายตัวสูง ซึ่งตอบรับกระแสไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมายุคใหม่ที่มักเปิดกว้างรับแบรนด์ต่างประเทศ กล้าลอง และนิยมบริโภคในตราสินค้าไทย

นอกจากนั้น ปัจจัยบวกจากนโยบายรัฐยังส่งเสริมการเข้าลงทุนของชาวต่างชาติ อีกทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ สร้างโอกาส และส่วนแบ่งโอกาสทางการตลาดให้กับนักลงทุนไทยเพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถหาช่องทางการตลาดได้อย่างหลากหลาย เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านค้าปลีกสินค้า

การปรับนโยบายที่ส่งเสริมด้านการค้า และการลงทุนในแง่มุมต่าง ๆ ของเมียนมา ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างโอกาส และดึงดูดกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงถึง 7.5% และคาดการณ์ที่จะโตต่อเนื่องถึง 8% ในปี 2561 นับเป็นสัญญาณบวกที่บ่งบอกถึงสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากวิเคราะห์ลงลึกถึงโอกาสและแนวโน้มความต้องการของสินค้าที่เป็นดาวรุ่งของชาวเมียนมา จะเห็นได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุน และผู้ประกอบการไทยที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างมาก

หลายปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดที่ชาวเมียนมายังไม่สามารถผลิตปัจจัย 4 ได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ผนวกกับอิทธิพลการเปิดรับสิ่งใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมาอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่งมาแรงในปัจจุบัน คือ กลุ่มสินค้าเอฟเอ็มซีจีโดยเฉพาะกลุ่มตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารที่เติบโตต่อเนื่องอีกทั้งดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติแข่งขันเข้มข้น

นายอาจิณเวท วงศ์ทอง ผู้จัดการฝ่ายโครงการบริษัทไอซีเว็กซ์ กล่าวว่า หลังเข้ามาบุกตลาดเมียนมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี พบว่าประเทศนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาลงทุนในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และร้านค้าปลีก ซึ่งเป็น 2 กลุ่มที่มีการเติบโตสูงต่อเนื่อง

“สำหรับผู้นำเข้าสินค้า ตัวแทนจำหน่าย ร้านอาหาร คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ธุรกิจประเภทแคเทอริ่ง สอดคล้องกับสถานการณ์การนำเข้าอาหารสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงถึง 10,991 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตอยู่ที่ 15% ต่อปี” นายอาจิณเวทเสริม

ขณะที่นายผกายเนติ์ เล่งอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่นครย่างกุ้ง กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวเมียนมามีความต้องการสินค้า และบริการหลากหลายสูง เป็นผลจากกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น สรรหาสินค้าที่ตรงความต้องการมากขึ้น และเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประชากรวัยหนุ่มสาวที่เข้าสู่ช่วงวัยทำงาน มีการใช้จ่าย สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าไลฟ์สไตล์จำนวนมาก ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและของอุปโภค และบริโภคอื่น ๆ ทำให้ธุรกิจสาขาบริการประเภทอาหาร และเครื่องดื่มขยายตัวสูงถึง 15%

“รัฐบาลเมียนมาสนับสนุนการลงทุนภาคเอสเอ็มอีจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและถ่ายโอนความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมทางอาหารแก่เมียนมาด้วย นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามมอง และน่าลงทุนเป็นอย่างมาก” นายผกายเนติ์ ระบุ

นายผกายเนติ์ ยังเผยถึงข้อมูลภาพรวมตลาดสินค้าเครื่องดื่มพบว่ากว่า 80% ของเครื่องดื่มในเมียนมานำเข้าจากไทยเนื่องด้วยชาวเมียนมาชื่นชอบในรสชาติ และนิยมบริโภคแบรนด์สินค้า และบริการจากไทย เพราะคุณภาพมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมาที่ยาวที่สุด ทำให้ได้เปรียบทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ในด้านการขนส่ง และด้านโอกาสของนักลงทุน และนักธุรกิจไทยที่มีความสนใจเข้าไปนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ได้อย่างสะดวกขึ้น

ด้านนายเนย์ ริน นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารเมียนมา กล่าวว่า ด้วยพฤติกรรมและเทรนด์การใช้ชีวิตของชาวเมียนมาที่เปลี่ยนแปลงแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมด้านการชอปปิงที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแทนตลาดสดมากขึ้น และการนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมถึงค่านิยมไปร้านคาเฟ่และบาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ เพื่อไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง และเกิดเป็นชุมชนต่าง ๆ

“ด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต สร้างการเข้าถึงข้อมูลที่ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลถึงการตัดสินใจการเลือกเข้าร้านต่าง ๆ หรือเลือกจะบริโภคหรือไม่บริโภคอะไร ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการขยายตัวของแบรนด์กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ต่างต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด” นายเนย์เผย

ส่วนมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค นายตูเรน เนียง กรรมการผู้จัดการบริษัทนีลเสน เอ็มเอ็มอาร์ดี (ประเทศเมียนมา) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมร้านค้าปลีกเติบโตสูงต่อเนื่อง โดยมีจำนวนร้านค้ากว่า 300,000 ร้านทั่วเมียนมา และมากกว่า 80% เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่กระจายอยู่ตามหัวเมืองหลัก อย่างนครย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์

นอกจากนั้น ผลสำรวจกลุ่มผู้บริโภคและการบริโภคสื่อต่าง ๆ ของนีลเสน เอ็มเอ็มอาร์ดี พบว่า ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ยังคงจับจ่ายใช้สอยของกินของใช้ที่ตลาดและร้านขายของชำ และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ก็ดึงดูดลูกค้าได้มากเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนห้างสรรพสินค้าขึ้นในแต่ละปี ส่งผลให้ร้านค้าปลีกย่อยต่างต้องปรับตัวมีให้ความหลากหลายของสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าสู่ยุคร้านค้าปลีกสมัยใหม่