“ริเวอร์ ซิตี้”ชู'ศูนย์กลางศิลปะ'หนุนเส้นทางเจ้าพระยา

“ริเวอร์ ซิตี้”ชู'ศูนย์กลางศิลปะ'หนุนเส้นทางเจ้าพระยา

ในปีที่ผ่านมา อิตัลไทย ทุ่มงบกว่า 330 ล้านบาท พลิกฟื้นโฉม “ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก” ครั้งใหญ่

ส่งให้ต้นตำรับของการประมูลงานศิลปะและโบราณวัตถุในไทย ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 33 คืนสู่การเป็นหมุดหมายสำคัญของการส่งเสริมท่องเที่ยวริมเจ้าพระยา และเป็นส่วนหนึ่งใน “ครีเอทีฟ ดิสทริค” หรือย่านสร้างสรรค์เจริญกรุงด้วย

ลินดา เชง กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เปิดเผยว่า ในการตั้งเป้าหมายเป็น “ศูนย์กลางศิลปะและโบราณวัตถุหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย” หลังจากการปรับในเชิงโครงสร้างปีที่แล้ว ที่เหมือนเป็นการปรับฮาร์ตแวร์ใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ในปีนี้จะเริ่มเข้าสู่การปรับซอฟต์แวร์ หรือแผนกลยุทธ์ดำเนินกิจการให้เต็มศักยภาพมากขึ้น เริ่มเห็นผลชัดในช่วงไตรมาสแรกอัตราการเข้าเยี่ยมชมศูนย์เติบโตขึ้นกว่า 30% มาจากการเริ่มปรับแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด นำอีเวนต์เข้ามาจัดในพื้นที่กว่า 1.2 หมื่นตร.ม.

แม้ว่าชื่อเสียงของศูนย์ฯ จะเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักศิลปะมายาวนาน แต่เป้าหมายที่ริเวอร์ ซิตี้ ต้องการเพิ่มเติมหลังจากปรับโฉมครั้งนี้คือ การเป็นจุดหมายให้กับ “คนรุ่นใหม่” อาทิ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการชื่นชมสุนทรียทางศิลปะทั้งไทยและต่างประเทศ ในแบบที่ได้ทั้งความรู้ควบคู่กับความบันเทิง

ดังนั้น จึงวางพันธมิตรหลักไว้ 3 ส่วนในการส่งเสริมชื่อเสียงของริเวอร์ ซิตี้ ในวงขยายขึ้น ได้แก่ 1.ใช้ช่องทางสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ในการเผยแพร่และสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฟซบุ๊คมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 22% 2.ร่วมมือกับผู้จัดงานและสถานทูตต่างๆ ในการสร้างสรรค์จัดงานแสดงศิลปะและวัฒนธรรม และ 3.ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาด้านศิลปะ ในการส่งเสริมอีเวนท์ด้านศิลปะจากนักเรียนให้มีพื้นที่แสดงงาน รวมถึงพร้อมเปิดรับนักเรียนเข้ามาร่วมกิจกรรม เช่น เวิร์คช้อปให้ความรู้ การบรรยายพิเศษ ที่มักจัดควบคู่กับการแสดงงานแต่ละครั้ง

สิ่งที่ต้องมุ่งหลังจากนี้คือ ทำให้ลูกค้าเก่าแก่ที่ห่างหายไปนาน กลับมาเยือนซ้ำ แต่ก็ต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเยือนเพิ่มขึ้น”

ดังนั้นจึงวางแผนกระตุ้นด้วยอีเวนท์ด้านศิลปะ 2-3 งานต่อเดือน เริ่มจัดกิจกรรมที่ทันสมัย เช่น เปิดฟิล์มคลับ ฉายภาพยนตร์พร้อมวงสนทนากันทุกไตรมาส ขณะเดียวกัน งานประมูลศิลปะที่เคยรับรู้ว่ามีชื่อเสียงในหมวดหมู่ศิลปะเก่าแก่ ในเดือน ต.ค.นี้จะเป็นครั้งแรกที่ขยายแคตตาล็อก ร่วมมือกับอาร์ต แกลเลอรี ต่างๆ นำงานระดับ มาสเตอร์พีซ ของศิลปินเอกร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงมาประมูล”

ทั้งนี้ แม้ว่าชื่อเสียงของไทยในด้านการเป็นจุดหมายของคนรักศิลปะ ยังเป็นตลาดที่เล็กมากหากเทียบกับในเอเชียประเทศอื่นๆ ที่มีกิจกรรมการซื้อขายและประมูลงานกันอย่างคับคั่ง แต่ก็มีนักสะสมขาประจำที่รู้จักชื่อเสียงในการจัดงานประมูลของริเวอร์ ซิตี้ และเข้าร่วมต่อเนื่อง ซึ่งหากวิเคราะห์ต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าตลาดนี้ยังจะมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก และในปี 2561 หากมียอดผู้เข้าเยี่ยมชมเพิ่มขึ้น 30% ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว สำหรับการเป็นธุรกิจที่เจาะนิชมาร์เก็ตอย่างมาก

ลินดา กล่าวว่า การปรับพื้นที่ให้มีความคึกคักในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมฐานะให้ไทยเป็นจุดหมายของแหล่งศิลปะมากขึ้น เพราะภายในศูนย์ฯ มีบริการท่าเรือ 3 ท่าซึ่งมีเรือท่องเที่ยว, เรือรับประทานอาหารล่องเจ้าพระยา มาใช้บริการลงจอดเป็นประจำ และมีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 คน โดยแนวโน้มดังกล่าว ยังจะเติบโตต่อเนื่อง เมื่อกลุ่มผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยาผนึกรวมตัวกันกับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ ทำตลาดส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันในนาม “แบงค็อก ริเวอร์” พร้อมกับที่จะมีโครงการใหม่ “ไอคอน สยาม” เกิดขึ้นในอนาคต ที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวอีกมหาศาลเข้ามาในย่านนี้

ไม่ห่วงเรื่องการแข่งขัน เพราะการพัฒนาธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีแต่ช่วยกระตุ้นทราฟฟิคให้กับจุดหมายในกลุ่มนี้มากขึ้นในเชิงพึ่งพาอาศัยกัน”

ขณะที่ ริเวอร์ ซิตี้ มีตลาดที่คนละกลุ่มแยกชัดเจน คือ มุ่งเน้นการจับตลาดคนรักศิลปะ ที่มีกิจกรรมให้เลือกหลากหลายภายใต้หลังคาเดียว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายงานศิลปะจากร้านค้าที่อยู่ด้วยกันมาดั้งเดิมกว่า 200 ร้าน, การประมูลงานศิลปะและโบราณวัตถุซึ่งเป็นรายเดียวของไทยที่มีการจัดเป็นประจำถาวร รวมถึงอีเวนท์ใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเติมจากการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ดังที่ได้กล่าวมา และมีร้านอาหารสำหรับกินดื่มหลากหลายรูปแบบ

สำหรับโครงสร้างตลาดในปัจจุบัน พบว่าเทรนด์ของลูกค้ายุโรป อาทิ อังกฤษ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส ที่เคยมาเป็นอันดับต้น เริ่มลดลงเหลือราว 20% หลีกทางให้กับตลาดเอเชียนำโดย ไต้หวัน, ฮ่องกง, จีน, สิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนกว่า 50% ขณะที่ลูกค้าคนไทยมีอยู่ราว 30%

ทั้งนี้ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ต้องผนึกกำลังกับสถานทูต และหน่วยงานต่างๆ ในฐานะพันธมิตรหลัก เพราะจะช่วยทำให้เกิดการจัดงานในเชิงแลกเปลี่ยนด้านศิลปะที่ครบมิติมากขึ้น เช่น ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งเสริมศิลปวัฒธรรมอย่างเข้มแข็ง จนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว ก็จะมีความร่วมมือจัดงานแลกเปลี่ยนศิลปินขึ้น โดยผลต่อเนื่อง ก็จะกลับไปสนองเป้าหมายหลักของศูนย์ฯ คือจะได้เปิดองค์ความรู้จากภายนอกให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาด้วย

นอกจากนั้น ยังเตรียมเพิ่มมิติใหม่ ร่วมมือกับ สวิสแบงก์ ในการจัดสัมมนาเรื่อง Wealth Management หรือการสะสมของมีค่าเพื่อการออมและลงทุน และร่วมมือกสิกรไทย (เคแบงก์) และเมอร์เซเดส-เบนซ์ คลับ จัดแสดงรถคลาสสิค ในเดือนที่ผ่านมา เป็นต้น

ลินดา กล่าวว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาลงไป ทำให้คนที่มีฐานะหันมาสนใจทางเลือกในการลงทุนทางเลือกมากขึ้น โดยหมวดหมู่ “งานศิลปะ” เป็นหนึ่งในการสะสมเพื่อเพิ่มมูลค่าของเม็ดเงินที่ลงทุนไป ดังนั้น ริเวอร์ ซิตี้ จึงมีความสนใจต่อยอดเพื่อจับตลาดนี้โดยเฉพาะ และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการแตกไลน์จัดประมูลสินค้าประเภทนาฬิกาและจิวเวลรี เพื่อตอบสนองกับความต้องการบริหารจัดการสินทรัพย์ของคนที่มีฐานะมากขึ้น

สิ่งสำคัญคือ ริเวอร์ ซิตี้ จะไม่เป็นศูนย์ที่ตั้งโดดเดี่ยว แต่จะร่วมจัดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของย่านชุมชนที่มีมรดกวิถีวัฒนธรรมเก่าแก่แต่ยังมีชีวิตชีวา โดยร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) ซึ่งอยู่ละแวกใกล้เคียง ในการร่วมโปรโมตเป็นย่านสร้างสรรค์ด้วยศิลปะ พลิกฟื้นให้ความเก่าแก่กลับมาเป็นจุดหมายที่คนต้องมาเยือนอีกครั้ง