คุมทุจริต 4 ชั่วโคตร

คุมทุจริต 4 ชั่วโคตร

เดินหน้ากฎหมายคุมเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สกัดทุจริต 4 ชั่วโคตร บทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

          เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... มีมติเห็นชอบ รับหลักการ (วาระแรก)  150 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 เสียง  จากนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 29 คน จะทำหน้าที่แปรญัตติภายใน 15 วัน และพิจารณาภายใน 60 วัน

          กฎหมายฉบับนี้ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ เรียกกันว่าเป็นกฎหมาย 7 ชั่วโคตร เพราะมีแนวคิดครอบคลุมการพิจารณาการทำความผิด และการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ คู่สมรส ทั้งจดทะเบียน และไม่ได้จดทะเบียน กลุ่มญาติ คือผู้สืบสันดาน ตั้งแต่บุพการี ลูก พี่น้อง รวมไปถึง หลาน เหลน และปู่ย่า ตายาย ด้วย

          แต่กฎหมายที่ครม.ปรับใหม่ และผ่านวาระแรกในการพิจารณาของสนช.เหลือการลงโทษผู้ทำผิด 4 ชั่วโคตร นอกจากเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด คือ คู่สมรส พ่อแม่ ลูก บุตรบุญธรรม และลูกเขย สะใภ้  พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน หรือพี่น้องพ่อ หรือแม่เดียวกัน

          สำหรับการกระทำที่ทุจริต นอกจากตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะใช้อำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย หรือเอื้อประโยชน์โครงการรัฐ ยังรวมไปถึงการใช้หรือเบียดบังทรัพย์สินส่วนราชการ  เช่น การใช้สถานที่ รถยนต์ สาธารณูปโภคของส่วนราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว รวมไปถึงการรับของขวัญ และไม่รายงาน การห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับงาน ทำงานในบริษัทเอกชนที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐที่ตนเองเคยมีตำแหน่งบริหารอยู่ ภายใน 2 ปี  รวมไปถึงพฤติกรรมเกี่ยวกับการนำความลับทางราชการมาเปิดเผย

          ความผิดตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีบทลงโทษสูงสุด กรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐ คู่สมรส หรือญาติ ทำผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท   กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับโทษเพิ่ม 2 เท่า