ลือหนักเมืองไทยลิสซิ่ง ‘เบี้ยวหนี้’

ลือหนักเมืองไทยลิสซิ่ง ‘เบี้ยวหนี้’

ลือหนัก "เมืองไทยลิสซิ่ง" เบี้ยวหนี้ ผู้บริหารยัน "ฐานะการเงินแกร่ง"

ช่วงนี้มีบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ และถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) หรือ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่ตกเป็นข่าวดัง หลังจากเจ้าหนี้อย่าง ธนาคารกรุงไทย ต้องมีการตั้งสำรองหนี้ของบริษัทเต็มจำนวน 12,000 ล้านบาทไปแล้ว แต่ยังปรากฎหนี้ก้อนใหม่เพิ่มขึ้นอีก 26,000ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องรอดูว่าแต่ละบริษัทจะบริหารจัดการหนี้สินเหล่านี้อย่างไร

ขณะที่ล่าสุดก็มีกระแสข่าวลือออกมาว่า บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลมีความเสี่ยงและอาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินบี/อี มูลค่าเกือบ 6,000 ล้านบาท และอาจจะทำให้บริษัทต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินไปจ่ายคืนนี้ในส่วนนี้ ซึ่งหลังจากมีกระแสข่าวลือนี้ออกมา หุ้นMTLS ถูกเทขายอย่างหนักในช่วง 2 วันทำการ ราคาหุ้นปรับตัวลงไปกว่า 8% เนื่องจากความวิตกกังวลว่า ถ้าบริษัทขาดกระแสเงินสดและต้องผิดนัดชำระหนี้จริง ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

จากการกระแสข่าวลือที่เกิดขึ้น ประธานกรรมการบริหารของ MTLS ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับรายการ Stock Gossip By Money Wise ระบุ ข่าวที่เกิดขึ้นว่าบริษัทจะผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีนั้นไม่เป็นความจริงและส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าข่าวออกมาได้อย่างไร ยืนยันว่าฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง การดำเนินธุรกิจยังเป็นไปตามปกติ โดยปัจจุบันมีตั๋วเงินบี/อี ทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดที่จะต้องชำระในเดือนส.ค.นี้ มูลค่า 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะต้องชำระอีกเดือนละ 1,000 ล้านบาท ยืนยันว่าสามารถชำระได้ตามกำหนดแน่นอนเนื่องจากมีวงเงินรองรับไว้ทั้งหมดแล้ว

ปัจจุบันบริษัทได้รับวงเงินจากธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง รวมกันกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาว ประกอบกับเดือนนี้จะมีการออกหุ้นกู้อีก 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นตามกระแสข่าวว่าจะมีการออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ นอกจากนี้ ในแต่ละเดือนยังมีกระแสเงินสดเข้ามาอีกเดือนละกว่า 4,000ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทันที ส่วนประเด็นที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจำนวนมากนั้นซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 22,447 ล้านบาท ก็เป็นเพราะมีการกู้เงินเข้ามาเพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อ ในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อขยายตัวไปแล้ว 60-70% สอดคล้องกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

เรามีวงเงินจากแบงก์แล้ว 5,000 ล้าน และก็มีหุ้นกู้ที่จะออกเดือนนี้อีก 3,500ล้าน รวมกันเป็น 8,500 ล้าน ก็เพียงพอต่อการจ่ายหนี้ ยังไม่นับรวมกระแสเงินสดที่จะเข้ามาในแต่ละเดือนอีก 4,000ล้าน ซึ่งถ้าเราไม่ได้เอาไปใช้ก็สามารถเอาไปใช้หนี้ได้ แต่เราก็ต้องเอาไปปล่อยกู้ แต่ถ้ามีปัญหาจริงก็สามารถนำเงินก้อนนี้มาชำระหนี้ได้ ไม่มีปัญหา” ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) กล่าว

สำหรับภาพรวมการทำธุรกิจในปีนี้ ยังคงมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยคาดว่าสินเชื่อใหม่และลูกหนี้คงค้างจะเติบโต 50% ครึ่งปีแรกสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 25,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 37,000 ล้านบาท มั่นใจว่าทั้งปีจะปล่อยสินเชื่อได้ไม่ตำกว่า 50,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน และโดยธรรมชาติของธุรกิจผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากมีกิจกรรมพิเศษเยอะ ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลออกพรรษา, เข้าสู่ช่วงฤดูการผลิตใหม่ และยังเป็นช่วงของการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อีกด้วย

ในส่วนของหนี้เสีย (NPL) มั่นใจว่าจะควบคุมไว้ไม่เกิน 1.5% ปัจจุบันอยู่ที่ 1.1% ต่ำกว่าอุตสาหกรรม ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน มีสาขาของบริษัทได้รับผลกระทบทั้งหมด 3 สาขา ที่จังหวัดสกลนคร แต่ความเสียหายน้อยขณะที่ลูกค้าก็ได้รับผลกระทบไม่มากเช่นกัน โดยบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วยการขยายเวลาชำระหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าในช่วง 3 ปีข้างหน้า สินเชื่อและรายได้จะเติบโตปีละ 30-40% ตามการขยายสาขาใหม่ โดยบริษัทมีแผนเปิดสาขาปีละ 600 สาขา ใช้เงินลงทุนสาขาละประมาณ 500,000 บาท ส่งผลให้สิ้นปี 63 จะมีสาขาทั้งหมด 4,300สาขา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อใหม่ๆเพิ่มขึ้น

ขณะที่นักวิเคราะห์จากบล.เออีซี ระบุว่า ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทตั้งแต่ปี 2560 ขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.1% หลังครึ่งปีแรกที่ผ่านมาพอร์ตลูกหนี้ขยายตัวเกินคาด ประกอบกับสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี โดยคาดกำไรสุทธิปีนี้ที่ 2,316 ล้านบาท เติบโต 58.2% จากปีก่อน ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการเงินด่วนที่ยังมีอยู่มากในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัท ประกอบการแผนการขยายสาชาเชิงรุกตามเป้าหมาย 2,200 สาขา ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เอ็นพีแอล 1.2% ต่ำกว่าอุตสาหกรรม จากนโยบายปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมและความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกหนี้