‘เงินสำรองฯ’ สูงสุดประวัติการณ์

‘เงินสำรองฯ’ สูงสุดประวัติการณ์

"เงินสำรองฯ" สูงสุดประวัติการณ์ ยอดล่าสุดแตะ 1.92 แสนล้านดอลล์ นักวิเคราะห์ ชี้ผลจาก "แบงก์ชาติ" เข้าดูแลค่าเงินบาทต่อเนื่อง

เงินสำรองระหว่างประเทศของไทย พุ่งแตะ 1.92 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากปลายปีก่อน 12.2% นักวิเคราะห์ชี้ ผลจาก “แบงก์ชาติ” เข้าดูแลค่าเงินบาท มองแนวโน้มยังเพิ่มต่อเนื่องหากเงินดอลลาร์อ่อน ชี้ไม่ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่แท้จริง พร้อมเตือนระวังเงินร้อนไหลเก็งกำไรค่าเงินระยะสั้น

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ วันที่ 11 ส.ค.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.92 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.71 แสนล้านดอลลาร์ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 12.2% โดยเงินสำรองระหว่างประเทศที่ระดับ 1.92 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์

ส่วนฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (ฟอร์เวิร์ธ) ณ วันที่ 11 ส.ค. มีจำนวน 31.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 23.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 7.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 34.51%

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เพิ่มขึ้นมา ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากการที่ ธปท. ยังคงเข้ามาดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินไป เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่านั้นมาจากปัจจัยภายนอกที่ ธปท. ไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งยังมีเงินลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรระยะสั้น และการส่งออกไทยยังขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง และก่อนหน้านี้ ธปท. เข้าดูแลค่าเงินมาตลอด

สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป มองว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ภายนอกจะถึงจุดที่ไม่ทำให้เงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้

นายจิติพล กล่าวว่า เสถียรภาพการเงินของไทยในขณะนี้ถือว่าแข็งแกร่งเกินความจำเป็น หากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงมากเกินไป อาจต้องเปลี่ยนวิธีการดูแลค่าเงินด้วยเครื่องมืออื่นๆ นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การลดดอกเบี้ย เป็นต้น แต่เชื่อว่า ธปท. ไม่น่าจะปรับดอกเบี้ยลง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งมองไปข้างหน้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีก สาเหตุจากปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อบอนด์ระยะสั้นต่อเนื่อง เพื่อเก็งกำไรผลต่างค่าเงินบาทกับดอลลาร์ ยังพบว่าเป็น เงินร้อนที่เข้ามาลงทุนระยะสั้นต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ต้องจับตาและระวังเงินที่ไหลเข้ามาชั่วคราว มีโอกาสไหลกลับไป ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนได้

“เงินทุนต่างชาติยังไหลเข้ามา ด้วยความเสี่ยงการเมืองสหรัฐ ราคาทองก็ปรับเพิ่มขึ้น เม็ดเงินลงทุนต่างชาติหลังจากนี้ยังเข้ามาเงินสำรองมีโอกาสขยับขึ้นสูงกว่านี้”

ดังนั้น การที่เงินทุนสำรองสูงอาจไม่ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่แท้จริง แม้ขณะนี้ปัจจัยพื้นฐานยังดี จากการนำเข้าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ยังทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงก็ตาม แต่ยังต้องจับตา ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ ในสัปดาห์หน้า

ด้านนักบริหารเงิน ธนาคารทหารไทย มองว่า เงินทุนสำรองของธปท. ที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ เป็นไปตามทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ธปท. ต้องเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งระดับนี้ถือว่าเป็นปกติอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองฯ อีกส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวและส่งออกที่ดีขึ้นมาก แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าอันดับหนึ่งในภูมิภาคปัจจุบันที่ 7.9% ถือว่าไม่มีความน่ากังวลแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ผู้ส่งออกปรับตัวโดยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกันไปแล้ว

อย่างไรก็ตามการที่ทุนสำรองเพิ่มขึ้นสะท้อนอีกมุมมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และธปท. อาจใช้แค่เพียงการส่งสัญญาณกับตลาด ก็สามารถดูแลค่าเงินได้เช่นกัน

สำหรับช่วงที่ผ่านมานี้พบว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.25 บาทต่อดอลลาร์ ยังไม่น่าหลุดกรอบล่างแต่แนวโน้มระยะถัดไปยังมองว่าเงินทุนสำรองยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนกว่าดอลลาร์จะเปลี่ยนเทรนด์จากที่อ่อนค่าต่อเนื่องกลับมาแข็งค่า