คาดปี68ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์!!

คาดปี68ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์!!

"ปลัดคลัง" คาดปี 2568 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ระบุเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ชี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานมหกรรมลงทุน การออม เตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 สะท้อนจากสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นกว่า 10% ของประชากรทั้งหมเด และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีสูงมากกว่า 20% ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ และการที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คาดว่าจะส่งผลต่อ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการผลิตแรงงานของประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยผู้สูงอายุจะใช้จ่ายจากเงินออม ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคในภาพรวมชะลอตัวลงได้ ด้านการคลังของภาครัญ จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล การเพิ่มสวัสดิการ และเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังด้วย

นอกจากนี้ ด้านการออมและการลงทุนในประเทศในระยะยาว ประเทศที่มีภาวะสังคมชราภาพมีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวการณ์ออมที่ลดต่ำลง เนื่องจากกลุ่มประชากรที่เกษียณ หรือ เลิกทำงานแล้วจะใช้จ่ายจากการออมสะสม ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดทำนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุขในปัจจุบันมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งการเปิดศูนย์บริการคนชรา เพื่อให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์ การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด และนันทนาการ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกต้องด้วย

ขณะที่ด้านการจ้างงานมีการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบอาชีพ หรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การทำงานในร้านหนังสือ เป็นต้น พร้อมทั้งคุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยผู้จ้างงานสามารถนำรายจ่ายในการจ้างผู้สูงอายุมาหักลดหย่อยภาษีได้สูงสุด 2 เท่า ด้านการเงิน ส่งเสริมให้แนงงานทุกประเภทออมเงินไว้ใช้ยามชรา โดยข้าราชการมีระบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกองทุนสำหรับผู้สูงอายุและกองทุนประกันสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงนโยบายสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุยากจน โดยการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย และโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ซึ่งดำเนินการในที่ราชพัสดุ