บจ.แห่ ‘ลดเป้า’ รายได้ปี 60

บจ.แห่ ‘ลดเป้า’ รายได้ปี 60

บจ.แห่ "ลดเป้า" รายได้ปี 60 ผลกระทบเศรษฐกิจชะลอ

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีสัญญาณการขยายตัวที่ดีขึ้น ปัจจัยหนุนหลักมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ ขณะที่กำลังซื้อหลายกลุ่มโดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดยังชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดตกต่ำ ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบกลับมาที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน เห็นได้จากการประกาศงบการเงินงวดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ภาพรวมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จนทำให้หลายบริษัทต้องออกมาประกาศปรับลดเป้าหมายผลประกอบการในปีนี้ พร้อมกับทบทวนแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี

เริ่มมาตั้งแต่กลุ่มอินทัช (INTUCH) ที่ออกมายอมรับว่ารายได้รวมปีนี้น่าจะลดลง 10-12% จากปีก่อน ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะทรงตัวจากปี 2259 ที่มีรายได้ 28,607 ล้านบาท สาเหตุหลักเป็นเพราะมีการรับรู้รายได้จากบริษัทลูกอย่างไทยคม (THCOM) ลดลง โดยปัจจุบัน INTUCH ถือหุ้นอยู่ในTHCOM 41.14% ซึ่งหากไปดูในงบการเงินของไทยคมจะเห็นได้ว่าครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ 11,578 ล้านบาท ลดลง 20% เนื่องจากโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย หรือ เอ็นบีเอ็น ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ในออสเตรเลียได้มีการยกเลิกสัญญาการใช้บริการก่อนกำหนด ขณะเดียวกันสัญญากับทีโอทีก็เพิ่งจะหมดลงเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ดาวเทียมไทยคม 5-8 ก็มีอัตราการเช่าลดลง หลังจากถูกยกเลิกการใช้บริการจากกลุ่มลูกค้าบรอดแคสต์ในประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะพยายามหาลูกค้าใหม่เข้ามาทดแทน แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้ารายเล็กทำให้ไม่สามารถทดแทนลูกค้ากลุ่มเดิมได้

ส่วนในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์อย่างบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือและภาคอีสานส่งผลกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถของคูโบต้าซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากคูโบต้าอยู่ที่ประมาณ 17%ส่วนที่เหลือเป็นการขายชิ้นส่วนในกลุ่มรถยนต์

ทำให้ล่าสุดบริษัทได้ตัดสินใจปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของรายได้ในปีนี้เหลือเติบโตเพียงแค่ 1-3% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตประมาณ 2-4%ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังชะลอตัว โดยได้มีการปรับลดคาดการณ์ยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน จากเดิมคาดไว้ที่ 2 ล้านคัน หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกมียอดผลิตแล้ว 9.5 แสนคัน

ส่วนหมวดธุรกิจแฟชั่นกัน ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน โดยทางผู้บริหารของบริษัท แม็คกรุ๊ป (MC) ผู้ผลิตกางเกงยีนส์และเครื่องแต่งกายยี่ห้อ “แม็ค” ระบุว่า กำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบการกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัท โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมารายได้จากการขายของบริษัทลดลง 8.7%ทำให้ล่าสุดได้ปรับลดเป้าหมายยอดขายปีนี้ลดลงเหลือเพียงแค่ 3% จากเดิมตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโต 10%

ด้านบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ หั่นลดเป้ารายได้ปีนี้เหลือโต 8-9% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 12-14% จากปีก่อนที่ทำได้ 14,006 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการผลิตแผงวงจรแบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนแผงวงจรแบบเดิมที่ล้าสมัย ประกอบกับอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง ในขณะที่ต้นทุนทองแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท

หากมองดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 8 เดือนที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง จากการส่งออกและบริการที่ยังคงเติบโต ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศเริ่มกลับมาเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลง ส่วนการลงทุนภาครัฐกลับขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่ยังต้องติดตามในหลายเรื่อง ทั้งแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า, ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

โดยการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งล่าสุด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%ต่อปี เนื่องจากมองว่าสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่หลายหน่วยงานต่างคาดการณ์กันว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ไปตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางการลงทุนและภาวะเงินเฟ้อที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ

ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมก็คือเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินมูลค่าความเสียหายไว้ที่ประมาณ 7,500 ล้านบาท และทางแบงก์ชาติจะมีการประเมินตัวเลขจีดีพีปี 2560 และ 2561 และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอีกครั้งในการประชุมกนง.ครั้งต่อไป โดยจะมีการนำผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเข้ามาประเมินด้วย แต่เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีไม่มากนัก เนื่องจากมีสัดส่วนของภาคการเกษตรในการประเมินจีดีพีค่อนข้างน้อย

ขณะที่ในมุมของผู้ประกอบการเองก็ยังคงต้องติดตามทิศทางภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดพร้อมกับปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด