'สนช.' รับหลักการ กม.เจ็ดชั่วโคตร

'สนช.' รับหลักการ กม.เจ็ดชั่วโคตร

"สนช." รับหลักการกฎหมายเจ็ดชั่วโคตร สมาชิกภาคธุรกิจกังวลคำนิยาม "เจ้าหน้าที่รัฐ" กว้าง หวั่นโครงการประชารัฐล้ม

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ โดยที่ประชุมได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... หรือ กฎหมาย 7 ชั่วโครต

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงหลักการเหตุผลของร่างกฎหมายว่า รัฐบาลคำนึงถึงสถานการณ์ที่เคยเป็นมา และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่การบริหารงานของรัฐ จะต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มีความสุจริต ทุกคน ทุกตำแหน่ง ทุกหน้าที่ ที่ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ แม้จะมีกฎหมายกำหนดไว้แล้วหลายฉบับว่าสิ่งใด ผิดหรือไม่ผิด แต่ก็ยังมีช่องว่างว่าสิ่งใดถือเป็นความผิด หรือไม่ถือเป็นความผิด และยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนรวมอยู่ จึงจำเป็นจะต้องสร้างความชัดเจนว่าสิ่งใดผิด หรือไม่ผิด

ทั้งนี้ การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะถือเป็นกฎหมายในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในกรณีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นปัญหามานาน แต่มีสนช.ภาคธุรกิจ อาทิ นายเจน นำชัยศิริ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ และนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นต้น ได้ลุกขึ้นอภิปราย โดยเสนอให้มีการปรับแก้คำจำกัดความของคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจนขึ้น เพราะร่างที่รัฐบาลเสนอกว้างขวางเกินไป และอาจจะมีปัญหาเรื่องการตีความ ที่ผ่านมารัฐบาลใช้โครงการประชารัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยให้ภาครัฐและเอกชนช่วยกันพัฒนาประเทศ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของคำจำกัดความ อาจทำภาคเอกชนไม่มั่นใจและลังเลที่จะร่วมมือในโครงการประชารัฐก็เป็นได้ และอาจติดขัดจากการฟ้องร้อง จนโครงการของรัฐต่างๆเกิดความล่าช้าและมีผลต่อการพัฒนาประเทศได้

นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามไม่ให้ข้าราชการที่เพิ่งเกษียณอายุไม่ถึง 2 ปีห้ามเป็นกรรมการ ที่ปรึกษาในภาคธุรกิจเอกชน ทั้งๆที่คณะทำงานประชารัฐ ด้านสังคมก็มีความเห็นว่า คนอายุ 60 ปี ยังมีความสามารถทำงานได้ และยังเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนอยู่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีสนช.บางส่วนติดใจในคำว่า คู่สมรส ว่ากินความไปถึงไหน เพราะในความเป็นจริงอาจจะมีความสัมพันธ์แบบนอกสมรส เป็นกิ๊กกัน หรือแบบชายรักชายด้วย ทำให้ นายวิษณุ ลุกขึ้นชี้แจงว่า เข้าข่ายด้วย เพราะร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอคลอบคลุมไว้ทั้งหมดแล้ว แม้แต่เพื่อนสนิทก็รวมอยู่ด้วย

จากนั้นประชุม ได้มีมติ 150 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 คะแนน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... หรือ กฎหมาย 7 ชั่วโครต โดยได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 29 คน โดยมีกำหนดแปรญัตติ 15 วัน และพิจารณาภายใน 60 วัน